ค้นพบราชาแห่งผึ้งที่สาบสูญบน 6 เกาะในอินโดนีเซียหนึ่งในสายพันธุ์ที่ใหญ่สุดของโลก

Megachile pluto หรือที่รู้จักในชื่อผึ้งยักษ์ของวอลลเซ (Wallace Wallace’s giant bee) หรือในภาษาอินโดนีเซียเรียกว่า raja ofu (แปลว่า ราชาแห่งผึ้ง) เป็นผึ้งเรซินขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย มีปีกกว้าง 63.5 มม. เป็นผึ้งสายพันธุ์ที่ยังมีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดที่รู้จักกันดี

เชื่อกันว่า “รายา โอฟู” (raja ofu) เป็นผึ้งสายพันธุ์ที่มีชีวิตที่ใหญ่ที่สุด และยังคงเป็นผึ้งสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ The New York Times ระบุว่า มันมีขนาด “เท่านิ้วหัวแม่มือของผู้ใหญ่” และลักษณะของผึ้งยักษ์ของวอลเลซยังแตกต่างจากผึ้งตัวอื่น ๆ ชัดเจน เนื่องจากมีขนาดและขากรรไกรที่ใหญ่ มีแถบสีขาวเด่นอยู่ที่หน้าท้องด้วย

รายงานการดำรงอยู่ของผึ้งยักษ์ของวอลลเซ มีอยู่เฉพาะเกาะสามเกาะของหมู่เกาะโมลุกกะเหนือ (North Moluccas) ในอินโดนีเซีย คือเกาะบากัน (Bacan) เกาะฮัลมาเฮรา (Halmahera) และเกาะติดอเร (Tidore) ดินแดนนี้มีความเฉพาะตัวมาก เพราะอยู่คาบเกี่ยวระหว่างสปีชีส์แบบเอเชียและออสเตรเลีย หรือที่เรียกว่าพื้นที่วอลเลเซีย (Wallacea) ตามชื่อของนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ (Alfred Russel Wallace)

อัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ เป็นนักสำรวจแถบโมลุกกะ ได้สร้างความก้าวหน้าในพื้นฐานของวิชา “สัตวภูมิศาสตร์” (Zoogeography) เป็นอย่างมาก โดยข้อเสนอเกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการที่แตกต่างระหว่างสัตว์ในภูมิภาคออสเตรเลียและเอเชีย บางครั้งก็มีผู้เรียกวอลเลซว่าเป็น “บิดาแห่งวิชาชีวภูมิศาสตร์” (Father of Biogeography)

แต่เดิมการพบและรวบรวมโดยอัลเฟรด รัสเซล วอลเลซ ในปี 1858 และได้รับชื่อสามัญว่า “ผึ้งยักษ์ของวอลเลซ ” มันยังเป็นที่รู้จักกันในนาม “ผึ้งเมสันยักษ์” (giant mason bee) วอลเลซอธิบายว่า ผึ้งนี้มีขนาดประมาณสี่เท่าของผึ้งธรรมดา และว่าเป็น “แมลงที่มีลักษณะคล้ายตัวต่อสีดำขนาดใหญ่ มีขากรรไกรมหึมาเหมือนด้วงคีม”

ต่อมาเชื่อกันว่าผึ้งชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว กระทั่งถูกค้นพบอีกครั้งในปี 1981 โดย อดัม ซี. เมสเซอร์ (Adam C. Messer) นักกีฏวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งพบรังของผึ้งยักษ์บนเกาะบากันและเกาะใกล้เคียงอื่น ๆ ถึง 6 รัง เป็นการค้นพบที่แม้แต่ชาวบ้านท้องถิ่นยังบอกว่าไม่เคยเห็นรังมาก่อน แต่ก็พบเห็นเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็ไม่มีคนพบเห็นอีกหลายทศวรรษ

หลังปี 1981 ผึ้งยักษ์ไม่ได้ถูกพบในป่าอีก 37 ปี และมันยังเป็นหนึ่งใน 25 สายพันธุ์ที่สาบสูญ “ที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุด” ตามที่ระบุในโครงการ “Search for Lost Species” (การค้นหาสายพันธุ์ที่สาบสูญ) ของ Global Wildlife Conservation

กระทั่งในปี 2018 มีการเก็บตัวอย่างสองชิ้นในอินโดนีเซีย หนึ่งตัวอย่างในบากันในเดือน ก.พ. และอีกชิ้นที่ฮัลมาเฮราในเดือน ก.ย. ต่อมาขายบน eBay ด้วยซ้ำ แสดงถึงการขาดการป้องกันการซื้อขายสัตว์หายาก

และอีกครั้ง ในปี 2019 เคลย์ บอลต์ (Clay Bolt) ช่างภาพธรรมชาติพบผึ้งตัวเมียตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในรังปลวกในอินโดนีเซีย ตัวอย่างนี้ถูกถ่ายทำและถ่ายภาพก่อนที่จะได้รับการปล่อยไป เขาบอกกับ BBC ว่า “มันน่าทึ่งมากที่ได้เห็นแมลง ‘บูลด็อกบินได้’ ที่เราไม่แน่ใจว่ามีอยู่อีกแล้ว”

อย่างไรก็ดี เป็นการค้นพบใหม่ที่อาจเป็นอันตรายโดย โรบิน มัวร์ (Robin Moore) นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์จาก Global Wildlife Conservation กล่าวว่า “เรารู้ว่าการเปิดเผยข่าวเกี่ยวกับการค้นพบครั้งนี้อาจดูเหมือนมีความเสี่ยงสูง แต่ความจริงก็คือนักสะสมที่ไร้ยางอายรู้อยู่แล้วว่าผึ้งอยู่ที่นั่น” The Guardian

เขาเชื่อว่าการทำให้พวกมันเป็นข่าวดังไปทั่วโลกก็ยังดีกว่า “ด้วยการทำให้ผึ้งเป็นเรือธงที่มีชื่อเสียงระดับโลกในด้านการอนุรักษ์ เรามั่นใจว่าสายพันธุ์นี้มีอนาคตที่สดใสกว่าที่เราเพียงแค่ปล่อยให้มันถูกรวบรวมไปอยู่นคอลเลกชั่นที่ไม่มีใครรู้เห็น”

ข้อมูลจาก
• Barkham, Patrick. (2019-02-21) “World’s largest bee, missing for 38 years, found alive in Indonesia”. The Guardian.
• Vereecken, Nicolas (2018). “Wallace’s Giant Bee for sale: implications for trade regulation and conservation” (PDF). Journal of Insect Conservation. 22 (5–6): 807–811. doi:10.1007/s10841-018-0108-2. S2CID 53836547
• Briggs, Helen (2019-02-22). “World’s biggest bee found alive”. bbc.co.uk. BBC News. Retrieved 2021-03-27.
ภาพ: Naturalis Biodiversity Center

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด