‘สนธิสัญญาทะเลหลวง’ ครั้งแรกของโลกที่สหประชาชาติรับรองมติเพื่อปกป้องทะเลหลวงและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในน่านน้ำสากล นับเป็นก้าวสำคัญหลังจากความพยายามเกือบ 20 ปี
‘สนธิสัญญาทะเลหลวง’ หรือที่เรียกว่าสนธิสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพนอกเหนือเขตอำนาจแห่งชาติ ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ (UN) เป็นที่เรียบร้อยตามข้อตกลงของประเทศสมาชิกกว่า 100 ประเทศ ที่ประชุมหารือกันในเดือนมีนาคมที่ผ่าน หลังจากที่พยายายามสร้างข้อตกลงนี้มานานกว่า 20 ปี
สนธิสัญญาทะเลหลวงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้โลกเราบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์หรือปกป้องอย่างน้อย 30% ของมหาสมุทรทั่วโลกภายในปี 2573
ประเด็นสำคัญ 4 ประการประกอบด้วย 1) ควบคุมการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้รับจากทรัพยากรพันธุกรรมทางทะเลนอกเหนือเขตอำนาจศาลของแต่ประเทศอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมเพื่อให้มั่นใจว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
2) จัดตั้งเครื่องมือการจัดการตามพื้นที่ รวมถึงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เพื่ออนุรักษ์และจัดการแหล่งที่อยู่อาศัยและสายพันธุ์ที่สำคัญอย่างยั่งยืนในทะเลหลวงและพื้นที่ก้นทะเลสากล โดยมาตรการดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมาย ‘30 คูณ 30’ เพื่ออนุรักษ์และจัดการพื้นที่อย่างน้อย 30% ของพื้นที่บนบกและในน้ำของโลก
3) กำหนดกรอบกฎหมายระหว่างประเทศสำหรับการประเมินผลกระทบสะสมของกิจกรรมและผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเป็นกรดของมหาสมุทรและผลกระทบที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นอกเขตอำนาจศาลของประเทศ
4) เสริมสร้างขีดความสามารถและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเลเพื่อช่วยเหลือประเทศภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่กำลังพัฒนา ในการบรรลุวัตถุประสงค์ของข้อตกลง เพื่อยกระดับสนามแข่งขันสำหรับทุกรัฐในการใช้ประโยชน์และรับประโยชน์จากทะเลอย่างมีความรับผิดชอบ
สนธิสัญญาทะเลหลวงจะเปิดให้ลงนามที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์กเป็นเวลาสองปีนับจากวันที่ 20 กันยายนนี้ หนึ่งวันหลังจากการประชุมสุดยอด SDG ประจำปี 2566 โดยจะมีผลใช้บังคับหลังจาก 60 ประเทศให้สัตยาบันในสนธิสัญญานี้ และต้องจัดการประชุมครั้งแรกของสมัชชาภาคีข้อตกลงไม่น้อยกว่าหนึ่งปีหลังจากมีผลใช้บังคับ
ที่มา June19,2023. Press Release : Historic agreement adopted at the UN for conservation and sustainable use of biodiversity in over two-thirds of the ocean. UN