‘พัชรวาท’ ปลุกคนไทยร่วม ‘พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง’

‘พัชรวาท’ ปลุกคนไทย “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ให้ร่วมกันแสดงพลัง “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง” เพื่อส่งต่อความอุดมสมบูรณ์ให้ลูกหลานในอนาคต

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวตอนหนึ่งว่า ทุกคนคงจะได้รับทราบถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา รวมถึงสภาพอากาศมีความแห้งแล้ง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า ที่ทำลายพื้นที่ป่าและแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า

อีกทั้ง ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตรลดลงและมีคุณภาพต่ำ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในลำดับต้น และจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้ ทุกประเทศได้พยายามผลักดันให้ทุกคนร่วมมือกันปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อตั้งรับปรับตัวให้เท่าทันกับปัญหา

ในทุกปีโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้มีการกำหนดแนวคิดหลักในการดำเนินกิจกรรมในเนื่องวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก ซึ่งในปีนี้ มีแนวคิดหลักในการรณรงค์ คือ LAND RESTORATION, DESERTIFICATION & DROUGHT RESILIENCE โดยมุ่งเน้นในเรื่องการฟื้นฟูดิน การแปรสภาพของทะเลทรายให้กลับมาสมบูรณ์ และการฟื้นตัวจากภัยแล้ง ภายใต้คำขวัญ “Our land. Our future. We are #GenerationRestoration.” “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง”

ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้แสดงพลังและใช้ศักยภาพที่มี ร่วมมือกันฟื้นฟูและปกป้องผืนดินของเรา เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ ที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้ง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มุ่งมั่นในการรักษา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการฟื้นฟูผืนดิน ฟื้นฟูป่า และการป้องกันภัยแล้ง

สุดท้าย เนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยทุกคน ร่วมมือกันแสดงพลัง “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง” ดูแล รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกใบนี้ให้มีความยั่งยืน เพื่อส่งต่อผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ให้แก่ลูกหลานในอนาคตต่อไป

​สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Ms. Marlene Nilsson รองผู้อำนวยการและรักษาการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิด อีกทั้งมีการบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง” ประกอบด้วย ประเด็น “เตือนภัยล่วงหน้า: ช่วยวิกฤตภัยแล้ง-น้ำท่วม “การบริหารจัดการน้ำด้วยความร่วมมือ: เส้นทางสู่ความยั่งยืน” “ภาวะวิกฤตภัยแล้ง: ภัยเงียบกระทบต่อ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” “ภูมิสถาปัตย์กับการออกแบบพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงสู่ความยั่งยืน”

และยังมีเวทีเสวนา พื้นที่ต้นแบบ Success Model ของประเทศไทย โดยคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาต่างๆ ที่มาร่วมถ่ายทอดแนวคิดไปสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้เป็นการจัดงานแบบคาร์บอนนิวทรัลอีเว้นท์ โดยได้ประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดงาน (เบื้องต้น) พบว่า มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวม 4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และได้มีการชดเชยคาร์บอนเครดิตจากโครงการ: BSE-BPI Grid Connected Solar PV Project จาก บริษัท บีซีพีจี จำกัด เพื่อให้การจัดงานครั้งนี้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

 

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด