คลื่นความร้อนโจมตีโลกอย่างรุนแรง ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นักวิทย์คาดการณ์ว่าเป็นไปได้ที่อุณหภูมิจะสูงเกิน 1.5 องศา
หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป (Copernicus Climate Change Service: C3S) รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นวันที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลในปี 1940 โดยอุณหภูมิอากาศพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มสูงถึง 17.09 องศาเซลเซียส (°C) ซึ่งสูงกว่าสถิติก่อนหน้านี้คือ 17.08°C ที่บันทึกไว้เมื่อเดือน ก.ค.ปี 2023
ปัจจัยที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เนื่องจากคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นและปกคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ยุโรป และรัสเซีย รวมถึงอุณหภูมิในแทบทุกภูมิภาคของโลกก็อุ่นขึ้นไม่เว้นแม้ขั้วโลก
คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการโคเปอร์นิคัส กล่าวว่า ทุกเดือนนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2023 ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดบนโลกนับตั้งแต่มีการบันทึกไว้ เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยนักวิทยาศาสตร์บางคนคาดการณ์ว่าปี 2024 อาจจะร้อนแซงหน้าปี 2023 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้อุณหภูมิในปีนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ
“อันเป็นผลจากก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศ เราน่าจะได้เห็นการทำลายสถิติใหม่ๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าหรืออีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้” บูออนเทมโปกล่าว
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ถูกโจมตีจากคลื่นความร้อนบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์บางคนได้กล่าวติดตลอย่างมีนัยว่า ในอนาคตโลกเราอาจจะร้อนระอุจนสิ่งมีชีวิตไม่อาจอาศัยอยู่ได้เหมือนดาวศุกร์ก็เป็นได้ ซึ่งนั่นคือจะมีอุณหภูมิพื้นผิวที่ประมาณ 482.22°C (คงอีกหลายพันล้านปี) แต่ในในขณะนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าขีดจำกัดความอดทนต่อความร้อนของมนุษย์กำลังลดลงเรื่อยๆ
งานวิจัยล่าสุดของ ไมเคิล เวห์เนอร์ นักวิจัยสภาพอากาศสุดขั้วจากห้องปฏิบัติการณ์แห่งชาติ ลอว์เรนซ์เบิร์กเลย์ และเพื่อนร่วมงานระบุว่า หากเรายังไม่ลดการปล่อยคาร์บอนภายในสิ้นศตวรรษนี้ คลื่นความร้อนอาจเพิ่มขึ้นเกือบ 1°C จากอุณหภูมิในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2566 โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงเกิน 2°C สูงกว่าค่าเฉลี่ยยุคก่อนอุตสาหกรรม (ช่วงปี 1850-1900) โดยข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะปานกลางแห่งยุโรป (ECMWF) พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นชั่วคราว แต่มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้ดูเหมือนว่าโลกกำลังเดินทางไปสู่ภาวะที่โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5°C อย่างถาวร
ทั้งนี้ ตามข้อตกลงปารีสได้มีการตั้งเป้าหมายจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2°C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และจะพยายามจำกัดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นให้อยู่ที่ 1.5°C เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม แต่เวลานี้กำลังใกล้ขีดจำกัดที่ตกลงกันไว้แล้ว โดยนักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลต่อ “ภาวะโลกร้อน” ที่เป็นอยู่อย่างมาก เนื่องจากหากโลกร้อนขึ้นเกิน 2°C อย่างถาวร นั่นหลายความว่ามีความเสี่ยงสูงที่สิ่งมีชีวิตจะสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น
อ้างอิง:
Jul 24, 2024 . World recorded hottest day on July 21, monitor says . By Gloria Dickie, Reuter
Jul 23, 2024 . World recorded hottest day on July 21, monitor says . VOA
Jul 26, 2024 เตรียมสิ้นยุคน้ำแข็ง พบอุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงทะลุสถิติ อาจเปลี่ยนโลกคล้ายดาวศุกร์ในอนาคต . NG Thai