ท่าทีผู้นำโลกกับการแก้ปัญหาโลกร้อน‘จีน-อินเดีย’ มุ่งมั่น ‘สหรัฐ’ ถอนตัว

นับตั้งแต่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จนถึงการประชุม UN Climate Action Summit เมื่อเดือนกันยายน 2562 มีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นมากมายกับความพยายามแก้ปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก

โดยเฉพาะบรรดาผู้นำประเทศมหาอำนาจหลายประเทศมีการเปลี่ยนท่าทีแบบสุดโต่ง เช่น สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนท่าทีจากผู้นำเรื่องความตกลงปารีส กลายมาเป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมลงนาม และประธานาธิบดีคนล่าสุดยังพยายามบั่นทอนความพยายามของผู้นำประเทศคนก่อนที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

ขณะที่ผู้นำจีนยังคงยืนยันที่จะผลักดันความตกลงปารีสอย่างแข็งขันต่อไป ด้านสหภาพยุโรปเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มพัฒนาน้อยกว่าในแถบยุโรปตะวันตก ที่ไม่ต้องการให้เร่งรัดการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เร็วจนเกินไป

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ตอกย้ำว่าความพยายามที่จะแก้ปัญหายังมีอุปสรรคอยู่มาก และจำเป็นจะต้องจับตาท่าทีของผู้นำโลกไว้ให้ดี เพราะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่คาดไม่ถึงอยู่สูงมาก และต่อไปนี้เป็นท่าทีของผู้นำประเทศต่าง ๆ เรียงลำดับโดยอิงกับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก

จีน

แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และยังมีปัญหามลภาวะที่รุนแรง แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ผู้นำของรัฐบาลจีนพยายามประกาศท่าทีต่อประชาคมโลกอย่างชัดเจนว่า จีนจะร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก และยึดมั่นกับความตกลงปารีส

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน

สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แสดงจุดยืนนี้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2560โดยกล่าวที่กรุงเจนีวาว่า “ความตกลงของปารีสเป็นหมายหลักสำคัญในประวัติศาสตร์การดูแลสภาพอากาศ เราต้องมั่นใจว่าความพยายามนี้ไม่ได้ถูกทำลาย” พร้อมกับย้ำว่า ประเทศจีนจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างเต็มที่ (1)

ในส่วนของความตกลงปารีสนั้น ประธานาธิบดี สีจิ้นผิงและประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐอเมริกา (ในเวลานั้น) ได้บรรลุข้อตกลงในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2558 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกลายเป็นรากฐานสำคัญของความตกลงปารีสในอีกหนึ่งปีต่อมา แต่หลังจากความพยายามที่จะผลักดันความตกลงปารีสได้ถูกทำลายโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนปัจจุบันที่ประกาศถอนตัวออกไปกลางคัน เมื่อปี 2560

แต่จีนก็ยังยืนยันที่จะผลักดันความตกลงปารีต่อไป โดยประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจากทั้งประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ซึ่งท่านหลังได้กล่าวว่า จีนมีความรับผิดชอบในความพยายามร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศเพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และดำเนินการตามความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2)

แม้ว่าหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาและจีนจะพัวพันในสงครามการค้า จนทำให้ความพยายามดำเนินการแก้ปัญหายิ่งล่าช้าออกไป แต่ในเดือนกันยายน 2562 รัฐบาลจีนก็ได้แสดงท่าทีที่จริงจังอีกครั้ง โดยหวางอี้ โฆษกรัฐบาลจีน และผู้แทนของสีจิ้นผิงเข้าร่วมประชุม UN Climate Action Summit ได้แถลงว่า ประเทศจีนจะผลักดันความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้นกว่านี้อีกหลังจากปี 2563 (ค.ศ.2020) และใช้แผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) อันเป็นความริเริ่มทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจของจีนกับนานาประเทศ เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน (3)

สหรัฐอเมริกา

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจถอนตัวออกจากความตกลงปารีส ทำให้สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลง ไม่เพียงแค่นั้นทรัมป์และรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาอีกจำนวนไม่น้อย ไม่เชื่อว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการหลักต่อภาวะโลกร้อน (4)

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ในข้อเสนองบประมาณปี 2561 ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังเสนอให้ตัดงบประมาณของสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อม (EPA) ลง 31% (จาก 8,200 ล้านดอลลาร์เหลือ 5,700 ล้านดอลลาร์) หากข้อเสนอนี้ผ่านการพิจารณา จะเป็นงบประมาณ EPA ที่ต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี (5) สวนทางกับความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพึ่งพาหน่วยงานนี้ในการรับมือปัญหาโลกร้อน แต่สภาคองเกรสไม่ยอมอนุมัติตามข้อเสนอของทรัมป์

แม้จะถูกปฏิเสธแต่ทรัมป์ก็ยังพยายามอีกครั้ง ด้วยการผลักดันในข้อเสนองบประมาณประจำปี 2562 โดยต้องการลดงบประมาณของ EPA ลง 26% แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน (6)

นโยบายพลังงานของทรัมป์ที่เรียกว่า America First Energy Plan (นโยบายพลังงานอเมริกาต้องมาก่อน) ซึ่งสะท้อนแนวทางหาเสียงของเขาที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรม ยังต้องการเน้นการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่รัฐบาลของทรัมป์อ้างว่าอเมริกาถูกควบคุมโดยกฎข้อบังคับที่บั่นทอนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศ

และทำเนียบขาวประมาณการว่า เมื่อยกเลิกกฎระเบียบควบคุมพลังงานฟอสซิล จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านในปี 2567 (7) ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ รัฐบาลทรัมป์จะต้องยกเลิกนโยบายเพื่อแก้ไขสภาพภูมิอากาศโลกในรัฐบาลยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา และหลังจากนั้นรัฐบาลทรัมป์ก็ได้ระงับมาตรการหลายอย่างที่รัฐบาลโอบามาได้ริเริ่มไว้  เช่น แผนการที่จะส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานประหยัดขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากค่ายรถยนต์ชั้นนำเกือบทั้งหมดในสหรัฐแล้ว แต่รัฐบาลทรัมป์ก็ยกเลิกไป

สหภาพยุโรป

สหภาพยุโรปประกอบไปด้วยประเทศต่าง ๆ 28 ประเทศ และยังเป็นแกนนำสำคัญในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก เช่น ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสในฐานะประเทศเจ้าบ้านการประชุมความตกลงปารีส พยายามที่จะประสานงานประเทศต่าง ๆ ให้ลงนามหรือให้สัตยาบันความตกลงนี้

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

ด้านนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล แห่งเยอรมนีก็ประสบความสำเร็จในการเจรจากับฝ่ายต่าง ๆ ในประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยผ่านมาตรการสำคัญคือ บริษัทที่้ให้บริการพลังงานฟอสซิลจะต้องซื้อใบรับรองเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากผลิตภัณฑ์ของตน

พร้อมกันนี้ยังผ่านงบประมาณ 54,000 ล้านยูโรเพื่อสนับสนุนบริษัท และครัวเรือนในการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อที่เยอรมนีจะเป็นประเทศที่ปลอดจากคาร์บอนในปี 2593 (ค.ศ. 2050) (8)

มองในระดับกลุ่ม ประเทศในสหภาพยุโรปยังพยายามมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น จะเพิ่มอัตรากำหนดสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (NDC) ในอัตรา 40%  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหภาพยุโรปประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย สมาชิกบางส่วนจึงไม่ต้องการเร่งให้ยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะอาจกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2562 รัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เห็นพ้องให้ตัดร่างมติส่วนที่ว่าด้วยการเพิ่ม NDC ในอัตรา 40%  ออกไป แล้วใส่ข้อความเพียงว่า “ในปี 2563 สหภาพยุโรปจะอัพเดต NDC ดังที่ตกลงกันไว้ที่ปารีส” ที่มีการปรับท่าทีลง เพราะมีสมาชิก 10 ประเทศทักท้วง และขัดขวางไม่ให้ผ่านเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซลงภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยทั้ง 10 ประเทศที่ขัดขวางมาจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก (9)

อินเดีย

อินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก แม้ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะยังอยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนาหรือตลาดใหม่ที่จำเป็นต้องอาศัยอุตสาหกรรมที่อิงกับพลังงานฟอสซิล แต่ผู้นำประเทศคือ นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย เป็นกำลังสำคัญของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก

นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีอินเดีย

และโมทีเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกที่กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับปัญหานี้บ่อยครั้งที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะสุนทรพจน์ของเขาต่อที่ประชุม Climate Action Summit ซึ่งโมที ระบุว่า เวลาที่จะเอาแต่พูดกันนั้นได้จบลงแล้ว และการลงมือปฏิบัติที่มีน้ำหนักเพียงหนึ่งออนซ์ มีค่ามากกว่าคำพูดสอนสั่งน้ำหนักหนึ่งตัน (10)

โมที กล่าวว่า “หลักการที่ชี้นำของเรา คือความจำเป็น (Need) ไม่ใช่ความโลภ (greed) ดังนั้นในวันนี้ อินเดียจึงมาอยู่ที่นี่ เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิบัติและแผนงาน ในอินเดียเราจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของเราในปี 2565 เป็น 175 กิกะวัตต์และเรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มเป็น 450 กิกะวัตต์ต่อไปอีก”

นอกจากนี้ โมทียังประกาศแผนงานลงมือทำอีกหลายมาตรการ เช่น การสนับสนุนก๊าซหุงต้มที่สะอาดให้ 150 ครัวเรือน การห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว และผลักดันโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ในโครงการ International Solar Alliance (10)

รัสเซีย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย มีท่าทีไม่เป็นมิตรต่อความพยายามแก้ปัญหาโลกร้อนมาโดยตลอด ไม่ต่างกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เช่นในปี 2560 ปูติน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกไม่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ แต่เกิดจากวัฏจักรของธรรมชาติ โดยคำพูดของเขาต่อที่ประชุมว่าด้วยอาร์กติกที่เมืองอาร์คันเกลสก์ (Arkhangelsk) มีใจความว่า “ความร้อนมันเริ่มมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 แล้ว” และ “ตอนนั้นไม่มีปัจจัยทางมานุษยวิทยา เช่น การปล่อยมลพิษ และภาวะโลกร้อนก็เริ่มขึ้น (ตั้งแต่ตอนนั้น) แล้ว” เขายังบอกว่า “ปัญหาไม่หยุดลง … เพราะมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันอาจเชื่อมโยงกับวัฏจักรของโลก หรือเกี่ยวกับภาวะของดาวเคราะห์ ประเด็นก็คือการปรับตัวให้รับกับสถานการณ์” (11)

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

นอกจากนี้  ในเดือนตุลาคม 2562 วลาดิมีร์ ปูติน ยังตอกย้ำท่าทีของเขาต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเขาเรียกเกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสภาพภูมิอากาศโลกว่าเป็น “เด็กผู้หญิงที่ใจดีและจริงใจมาก” แต่ขณะเดียวกัน ปูตินตั้งข้อสังเกตว่า เกรต้าอาจถูกบงการเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น และบอกว่า “ไม่มีใครอธิบายให้เกรต้าเข้าใจว่าโลกสมัยใหม่มีความซับซ้อนและแตกต่าง และผู้คนในแอฟริกาหรือในหลายประเทศของเอเชียต่างก็ต้องการที่จะอยู่ในระดับความมั่งคั่งเช่นเดียวกับคนในสวีเดน” (12)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปูตินแตกต่างจากทรัมป์ก็คือ เขานำพารัสเซียเข้าร่วมในความตกลงปารีส เมื่อเดือนกันยายน 2562 โดยที่ปรึกษาด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศของปูติน กล่าวว่า “รัสเซียมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐาน 2533 และการปล่อยมลพิษโดยรวมของเราในช่วงนี้ลดลงเกือบครึ่ง คิดเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 41,000 ล้านตัน”

ที่ปรึกษาของปูตินยังกล่าวด้วยว่า รัสเซียมีส่วนร่วมอย่างมากในการสกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการครอบครองผืนป่าในภาคเหนือของรัสเซียซึ่งมีความกว้างใหญ่ไพศาลและถือเป็นปอดของโลก (13)

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของท่าทีผู้นำประเทศต่าง ๆ เท่านั้น แต่เป็นประเทศที่รับผิดชอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุด โดยเฉพาะจีนนั้นมีอัตราสูงถึง 30%  ของทั้งโลก การลงมือ “แอคชั่น” ของจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย และรัสเซีย จึงมีความสำคัญยิ่งยวด เพราะคิดเป็นสัดส่วนการสร้างมลภาวะส่วนใหญ่ของทั้งโลก แต่ในเวลานี้เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากความตกลงปารีสไปแล้ว และยังมีนโยบายตรงกับข้ามกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก

ดังนั้น ความหวังในการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เป็นไปตามกรอบข้อตกลงปารีส จึงยังเป็นความหวังที่ไม่อาจคาดหวังได้มากนัก

 อ้างอิง

  1. The Partnership for Action on Green Economy. (18 January 2017). “China tackles climate change and honors the Paris Agreement”. The Partnership for Action on Green Economy. Retrieved 2019-10-25.

https://www.un-page.org/china-tackles-climate-change-and-honors-paris-agreement

  1. PRC Ministry of Foreign Affairs. (16 May 2017). “Li Keqiang Meets with Prime Minister Josaia Voreqe Bainimarama of Fiji,”. Retrieved 2019-10-25.

http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1463479.shtml

  1. Reuters. (24 September 2019). “China pledges new impetus in climate efforts after 2020”. Retrieved 2019-10-25.

https://www.reuters.com/article/us-climate-change-china/china-pledges-new-impetus-in-climate-efforts-after-2020-idUSKBN1W906Y

  1. Fox News. (28 March 2017). “Trump to sign new order rolling back Obama energy regs”. Retrieved 2019-10-25.

http://www.foxnews.com/politics/2017/03/28/trump-set-to-undo-obamas-action-against-global-warming.html

  1. Thrush, Glenn; Davenport, Coral (15 March 2017). “Donald Trump Budget Slashes Funds for E.P.A. and State Department”. The New York Times. ISSN 0362-4331. Retrieved 2017-04-06.
  1. King, Ledyard (13 February 2018). “EPA budget would be slashed by a fourth in President Trump’s budget and Democrats are upset”. USA TODAY. Retrieved 2019-09-23.

https://www.usatoday.com/story/news/politics/2018/02/13/epa-budget-would-epa-would-slashedsuffers-big-hit-president-trumps-budget-and-democrats-predictably/333523002/

  1. White House (19 January 2017). “An America First Energy Plan”. Retrieved March 17, 2017.

https://www.whitehouse.gov/issues/energy-environment/

  1. Buck, Tobias (20 September 2019). “Germany unveils sweeping measures to fight climate change”. Retrieved 2019-10-25.

https://www.ft.com/content/26e8d1e0-dbb3-11e9-8f9b-77216ebe1f17

  1. Climate Home News (7 October 2019). “EU agrees to ‘update’ Paris climate pledge”. Retrieved 2019-10-25.

EU agrees to ‘update’ Paris climate pledge

  1. Moneycontrol. (23 September 2019). “PM Modi climate change speech highlights: Time to talk is over, world needs to act now”. Retrieved 2019-10-25.

https://www.moneycontrol.com/news/world/pm-narendra-modi-speech-live-updates-74th-un-climate-action-summit-2019-new-york-pm-modi-speech-live-today-unga-climate-change-4466401.html

  1. Agence France-Presse. (31 March 2017). “Putin says climate change is not man-made and we should adapt to it, not try to stop it”. Retrieved 2019-10-25.

https://www.scmp.com/news/world/russia-central-asia/article/2083650/trump-vladimir-putin-says-climate-change-not-man-made

  1. Soldatkin, Vladimir; Zhdannikov, Dmitry (2 October 2019). “Putin: I don’t share excitement about Greta Thunberg’s U.N. speech”. Reuters. Retrieved 2019-10-20.

https://www.reuters.com/article/us-russia-putin-thunberg/putin-i-dont-share-excitement-about-greta-thunbergs-un-speech-idUSKBN1WH1FM

  1. Climate Home News. (23 September 2019). “Russia formally joins Paris climate agreement”. Retrieved 2019-10-25.

Russia formally joins Paris climate agreement

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน