นับตั้งแต่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จนถึงการประชุม UN Climate Action Summit เมื่อเดือนกันยายน 2562 มีเรื่องเหนือความคาดหมายเกิดขึ้นมากมายกับความพยายามแก้ปัญหาความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก
โดยเฉพาะบรรดาผู้นำประเทศมหาอำนาจหลายประเทศมีการเปลี่ยนท่าทีแบบสุดโต่ง เช่น สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนท่าทีจากผู้นำเรื่องความตกลงปารีส กลายมาเป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมลงนาม และประธานาธิบดีคนล่าสุดยังพยายามบั่นทอนความพยายามของผู้นำประเทศคนก่อนที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง
ขณะที่ผู้นำจีนยังคงยืนยันที่จะผลักดันความตกลงปารีสอย่างแข็งขันต่อไป ด้านสหภาพยุโรปเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มพัฒนาน้อยกว่าในแถบยุโรปตะวันตก ที่ไม่ต้องการให้เร่งรัดการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เร็วจนเกินไป
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ตอกย้ำว่าความพยายามที่จะแก้ปัญหายังมีอุปสรรคอยู่มาก และจำเป็นจะต้องจับตาท่าทีของผู้นำโลกไว้ให้ดี เพราะมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่คาดไม่ถึงอยู่สูงมาก และต่อไปนี้เป็นท่าทีของผู้นำประเทศต่าง ๆ เรียงลำดับโดยอิงกับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก
จีน
แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก และยังมีปัญหามลภาวะที่รุนแรง แต่รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ผู้นำของรัฐบาลจีนพยายามประกาศท่าทีต่อประชาคมโลกอย่างชัดเจนว่า จีนจะร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก และยึดมั่นกับความตกลงปารีส
สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน แสดงจุดยืนนี้อย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2560โดยกล่าวที่กรุงเจนีวาว่า “ความตกลงของปารีสเป็นหมายหลักสำคัญในประวัติศาสตร์การดูแลสภาพอากาศ เราต้องมั่นใจว่าความพยายามนี้ไม่ได้ถูกทำลาย” พร้อมกับย้ำว่า ประเทศจีนจะดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปฏิบัติตามพันธกรณีของตนอย่างเต็มที่ (1)
ในส่วนของความตกลงปารีสนั้น ประธานาธิบดี สีจิ้นผิงและประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐอเมริกา (ในเวลานั้น) ได้บรรลุข้อตกลงในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2558 ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกลายเป็นรากฐานสำคัญของความตกลงปารีสในอีกหนึ่งปีต่อมา แต่หลังจากความพยายามที่จะผลักดันความตกลงปารีสได้ถูกทำลายโดย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนปัจจุบันที่ประกาศถอนตัวออกไปกลางคัน เมื่อปี 2560
แต่จีนก็ยังยืนยันที่จะผลักดันความตกลงปารีต่อไป โดยประเด็นนี้ได้รับการยืนยันจากทั้งประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ซึ่งท่านหลังได้กล่าวว่า จีนมีความรับผิดชอบในความพยายามร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศเพื่อจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และดำเนินการตามความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2)
แม้ว่าหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกาและจีนจะพัวพันในสงครามการค้า จนทำให้ความพยายามดำเนินการแก้ปัญหายิ่งล่าช้าออกไป แต่ในเดือนกันยายน 2562 รัฐบาลจีนก็ได้แสดงท่าทีที่จริงจังอีกครั้ง โดยหวางอี้ โฆษกรัฐบาลจีน และผู้แทนของสีจิ้นผิงเข้าร่วมประชุม UN Climate Action Summit ได้แถลงว่า ประเทศจีนจะผลักดันความพยายามแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้นกว่านี้อีกหลังจากปี 2563 (ค.ศ.2020) และใช้แผนการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road) อันเป็นความริเริ่มทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจของจีนกับนานาประเทศ เพื่อเพิ่มความร่วมมือในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน (3)
สหรัฐอเมริกา
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจถอนตัวออกจากความตกลงปารีส ทำให้สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลง ไม่เพียงแค่นั้นทรัมป์และรัฐมนตรีในรัฐบาลของเขาอีกจำนวนไม่น้อย ไม่เชื่อว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการหลักต่อภาวะโลกร้อน (4)
นอกจากนี้ ในข้อเสนองบประมาณปี 2561 ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังเสนอให้ตัดงบประมาณของสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อม (EPA) ลง 31% (จาก 8,200 ล้านดอลลาร์เหลือ 5,700 ล้านดอลลาร์) หากข้อเสนอนี้ผ่านการพิจารณา จะเป็นงบประมาณ EPA ที่ต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี (5) สวนทางกับความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพึ่งพาหน่วยงานนี้ในการรับมือปัญหาโลกร้อน แต่สภาคองเกรสไม่ยอมอนุมัติตามข้อเสนอของทรัมป์
แม้จะถูกปฏิเสธแต่ทรัมป์ก็ยังพยายามอีกครั้ง ด้วยการผลักดันในข้อเสนองบประมาณประจำปี 2562 โดยต้องการลดงบประมาณของ EPA ลง 26% แต่ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน (6)
นโยบายพลังงานของทรัมป์ที่เรียกว่า America First Energy Plan (นโยบายพลังงานอเมริกาต้องมาก่อน) ซึ่งสะท้อนแนวทางหาเสียงของเขาที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคอุตสาหกรรม ยังต้องการเน้นการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน แต่รัฐบาลของทรัมป์อ้างว่าอเมริกาถูกควบคุมโดยกฎข้อบังคับที่บั่นทอนความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศ
และทำเนียบขาวประมาณการว่า เมื่อยกเลิกกฎระเบียบควบคุมพลังงานฟอสซิล จะช่วยเพิ่มการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจกว่า 30,000 ล้านในปี 2567 (7) ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ รัฐบาลทรัมป์จะต้องยกเลิกนโยบายเพื่อแก้ไขสภาพภูมิอากาศโลกในรัฐบาลยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา และหลังจากนั้นรัฐบาลทรัมป์ก็ได้ระงับมาตรการหลายอย่างที่รัฐบาลโอบามาได้ริเริ่มไว้ เช่น แผนการที่จะส่งเสริมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้พลังงานประหยัดขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากค่ายรถยนต์ชั้นนำเกือบทั้งหมดในสหรัฐแล้ว แต่รัฐบาลทรัมป์ก็ยกเลิกไป
สหภาพยุโรป
สหภาพยุโรปประกอบไปด้วยประเทศต่าง ๆ 28 ประเทศ และยังเป็นแกนนำสำคัญในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก เช่น ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสในฐานะประเทศเจ้าบ้านการประชุมความตกลงปารีส พยายามที่จะประสานงานประเทศต่าง ๆ ให้ลงนามหรือให้สัตยาบันความตกลงนี้
ด้านนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิล แห่งเยอรมนีก็ประสบความสำเร็จในการเจรจากับฝ่ายต่าง ๆ ในประเทศเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยผ่านมาตรการสำคัญคือ บริษัทที่้ให้บริการพลังงานฟอสซิลจะต้องซื้อใบรับรองเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากผลิตภัณฑ์ของตน
พร้อมกันนี้ยังผ่านงบประมาณ 54,000 ล้านยูโรเพื่อสนับสนุนบริษัท และครัวเรือนในการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อที่เยอรมนีจะเป็นประเทศที่ปลอดจากคาร์บอนในปี 2593 (ค.ศ. 2050) (8)
มองในระดับกลุ่ม ประเทศในสหภาพยุโรปยังพยายามมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น จะเพิ่มอัตรากำหนดสำหรับประเทศต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (NDC) ในอัตรา 40% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสหภาพยุโรปประกอบไปด้วยประเทศสมาชิกที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย สมาชิกบางส่วนจึงไม่ต้องการเร่งให้ยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะอาจกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อเดือนตุลาคม 2562 รัฐมนตรีจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เห็นพ้องให้ตัดร่างมติส่วนที่ว่าด้วยการเพิ่ม NDC ในอัตรา 40% ออกไป แล้วใส่ข้อความเพียงว่า “ในปี 2563 สหภาพยุโรปจะอัพเดต NDC ดังที่ตกลงกันไว้ที่ปารีส” ที่มีการปรับท่าทีลง เพราะมีสมาชิก 10 ประเทศทักท้วง และขัดขวางไม่ให้ผ่านเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซลงภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) โดยทั้ง 10 ประเทศที่ขัดขวางมาจากกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก (9)
อินเดีย
อินเดียเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก แม้ว่าเศรษฐกิจของอินเดียจะยังอยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนาหรือตลาดใหม่ที่จำเป็นต้องอาศัยอุตสาหกรรมที่อิงกับพลังงานฟอสซิล แต่ผู้นำประเทศคือ นเรนทระ โมที นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย เป็นกำลังสำคัญของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก
และโมทีเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกที่กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับปัญหานี้บ่อยครั้งที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะสุนทรพจน์ของเขาต่อที่ประชุม Climate Action Summit ซึ่งโมที ระบุว่า เวลาที่จะเอาแต่พูดกันนั้นได้จบลงแล้ว และการลงมือปฏิบัติที่มีน้ำหนักเพียงหนึ่งออนซ์ มีค่ามากกว่าคำพูดสอนสั่งน้ำหนักหนึ่งตัน (10)
โมที กล่าวว่า “หลักการที่ชี้นำของเรา คือความจำเป็น (Need) ไม่ใช่ความโลภ (greed) ดังนั้นในวันนี้ อินเดียจึงมาอยู่ที่นี่ เพื่อนำเสนอแนวทางการปฏิบัติและแผนงาน ในอินเดียเราจะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของเราในปี 2565 เป็น 175 กิกะวัตต์และเรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มเป็น 450 กิกะวัตต์ต่อไปอีก”
นอกจากนี้ โมทียังประกาศแผนงานลงมือทำอีกหลายมาตรการ เช่น การสนับสนุนก๊าซหุงต้มที่สะอาดให้ 150 ครัวเรือน การห้ามใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว และผลักดันโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ในโครงการ International Solar Alliance (10)
รัสเซีย
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย มีท่าทีไม่เป็นมิตรต่อความพยายามแก้ปัญหาโลกร้อนมาโดยตลอด ไม่ต่างกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เช่นในปี 2560 ปูติน กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกไม่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ แต่เกิดจากวัฏจักรของธรรมชาติ โดยคำพูดของเขาต่อที่ประชุมว่าด้วยอาร์กติกที่เมืองอาร์คันเกลสก์ (Arkhangelsk) มีใจความว่า “ความร้อนมันเริ่มมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 แล้ว” และ “ตอนนั้นไม่มีปัจจัยทางมานุษยวิทยา เช่น การปล่อยมลพิษ และภาวะโลกร้อนก็เริ่มขึ้น (ตั้งแต่ตอนนั้น) แล้ว” เขายังบอกว่า “ปัญหาไม่หยุดลง … เพราะมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันอาจเชื่อมโยงกับวัฏจักรของโลก หรือเกี่ยวกับภาวะของดาวเคราะห์ ประเด็นก็คือการปรับตัวให้รับกับสถานการณ์” (11)
นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม 2562 วลาดิมีร์ ปูติน ยังตอกย้ำท่าทีของเขาต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเขาเรียกเกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสภาพภูมิอากาศโลกว่าเป็น “เด็กผู้หญิงที่ใจดีและจริงใจมาก” แต่ขณะเดียวกัน ปูตินตั้งข้อสังเกตว่า เกรต้าอาจถูกบงการเพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่น และบอกว่า “ไม่มีใครอธิบายให้เกรต้าเข้าใจว่าโลกสมัยใหม่มีความซับซ้อนและแตกต่าง และผู้คนในแอฟริกาหรือในหลายประเทศของเอเชียต่างก็ต้องการที่จะอยู่ในระดับความมั่งคั่งเช่นเดียวกับคนในสวีเดน” (12)
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ปูตินแตกต่างจากทรัมป์ก็คือ เขานำพารัสเซียเข้าร่วมในความตกลงปารีส เมื่อเดือนกันยายน 2562 โดยที่ปรึกษาด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศของปูติน กล่าวว่า “รัสเซียมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเทียบกับปีฐาน 2533 และการปล่อยมลพิษโดยรวมของเราในช่วงนี้ลดลงเกือบครึ่ง คิดเป็นปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 41,000 ล้านตัน”
ที่ปรึกษาของปูตินยังกล่าวด้วยว่า รัสเซียมีส่วนร่วมอย่างมากในการสกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการครอบครองผืนป่าในภาคเหนือของรัสเซียซึ่งมีความกว้างใหญ่ไพศาลและถือเป็นปอดของโลก (13)
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของท่าทีผู้นำประเทศต่าง ๆ เท่านั้น แต่เป็นประเทศที่รับผิดชอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุด โดยเฉพาะจีนนั้นมีอัตราสูงถึง 30% ของทั้งโลก การลงมือ “แอคชั่น” ของจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย และรัสเซีย จึงมีความสำคัญยิ่งยวด เพราะคิดเป็นสัดส่วนการสร้างมลภาวะส่วนใหญ่ของทั้งโลก แต่ในเวลานี้เมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากความตกลงปารีสไปแล้ว และยังมีนโยบายตรงกับข้ามกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก
ดังนั้น ความหวังในการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เป็นไปตามกรอบข้อตกลงปารีส จึงยังเป็นความหวังที่ไม่อาจคาดหวังได้มากนัก
อ้างอิง
- The Partnership for Action on Green Economy. (18 January 2017). “China tackles climate change and honors the Paris Agreement”. The Partnership for Action on Green Economy. Retrieved 2019-10-25.
https://www.un-page.org/china-tackles-climate-change-and-honors-paris-agreement
- PRC Ministry of Foreign Affairs. (16 May 2017). “Li Keqiang Meets with Prime Minister Josaia Voreqe Bainimarama of Fiji,”. Retrieved 2019-10-25.
http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1463479.shtml
- Reuters. (24 September 2019). “China pledges new impetus in climate efforts after 2020”. Retrieved 2019-10-25.
https://www.reuters.com/article/us-climate-change-china/china-pledges-new-impetus-in-climate-efforts-after-2020-idUSKBN1W906Y
- Fox News. (28 March 2017). “Trump to sign new order rolling back Obama energy regs”. Retrieved 2019-10-25.
http://www.foxnews.com/politics/2017/03/28/trump-set-to-undo-obamas-action-against-global-warming.html
- Thrush, Glenn; Davenport, Coral (15 March 2017). “Donald Trump Budget Slashes Funds for E.P.A. and State Department”. The New York Times. ISSN 0362-4331. Retrieved 2017-04-06.
- King, Ledyard (13 February 2018). “EPA budget would be slashed by a fourth in President Trump’s budget and Democrats are upset”. USA TODAY. Retrieved 2019-09-23.
https://www.usatoday.com/story/news/politics/2018/02/13/epa-budget-would-epa-would-slashedsuffers-big-hit-president-trumps-budget-and-democrats-predictably/333523002/
- White House (19 January 2017). “An America First Energy Plan”. Retrieved March 17, 2017.
https://www.whitehouse.gov/issues/energy-environment/
- Buck, Tobias (20 September 2019). “Germany unveils sweeping measures to fight climate change”. Retrieved 2019-10-25.
https://www.ft.com/content/26e8d1e0-dbb3-11e9-8f9b-77216ebe1f17
- Climate Home News (7 October 2019). “EU agrees to ‘update’ Paris climate pledge”. Retrieved 2019-10-25.
- Moneycontrol. (23 September 2019). “PM Modi climate change speech highlights: Time to talk is over, world needs to act now”. Retrieved 2019-10-25.
https://www.moneycontrol.com/news/world/pm-narendra-modi-speech-live-updates-74th-un-climate-action-summit-2019-new-york-pm-modi-speech-live-today-unga-climate-change-4466401.html
- Agence France-Presse. (31 March 2017). “Putin says climate change is not man-made and we should adapt to it, not try to stop it”. Retrieved 2019-10-25.
https://www.scmp.com/news/world/russia-central-asia/article/2083650/trump-vladimir-putin-says-climate-change-not-man-made
- Soldatkin, Vladimir; Zhdannikov, Dmitry (2 October 2019). “Putin: I don’t share excitement about Greta Thunberg’s U.N. speech”. Reuters. Retrieved 2019-10-20.
https://www.reuters.com/article/us-russia-putin-thunberg/putin-i-dont-share-excitement-about-greta-thunbergs-un-speech-idUSKBN1WH1FM
- Climate Home News. (23 September 2019). “Russia formally joins Paris climate agreement”. Retrieved 2019-10-25.