การทำลายล้างโลก ไม่ได้หมายถึงแค่การทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ยังหมายถึงการขูดรีดมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย
เวลาเราพูดถึงการทำลายสิ่งแวดล้อม เรามักนึกถึงการตัดไม้ทำลายป่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ มลภาวะทางน้ำ หรือแม้แต่การประมงล้างผลาญ แต่เราละเลยที่จะมองความเสียหายที่มนุษย์ทำกับมนุษย์ด้วยกัน ทั้งๆ ที่มันคือ Environmental Exploitation (การขูดรีดด้านสิ่งแวดล้อม) รูปแบบหนึ่ง
แรงบีบคั้นที่เกิดจากสังคมทุนนิยมทำให้คนทำงานทุกระดับ ถูกบังคับให้ออกแรงกายและแรงสมองอย่างบ้าคลั่ง แม้จะสร้างผลิตผลให้กับองค์กรอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่คุณค่าความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนลงไป ในระยะยาวองค์กรจะสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า เพราะพวกเขาถูกจูงให้ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพัฒนาทักษะ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับตัวเองและองค์กร
องค์กรสามารถแก้ปัญหาด้วยการจ้างพนักงานที่ใหม่กว่า อายุน้อยกว่า สดกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านี้้จะมีประสบการณ์รับมือกับปัญหาที่ซับซ้อนได้ดีเท่ากับบุคลากรรุ่นเก่าที่เหี่ยวเฉาไป เพราะการทำงานเกินขีดจำกัด ในที่สุดองค์กรและประเทศก็จะก้าวไปอย่างขาดความสุขุมลุ่มลึก เมื่อประสบกับวิกฤตรุนแรงจะขาดผู้มีประสบการณ์มากที่จะพาองค์กรหรือประเทศชาติให้รอดพ้นไปได้
ดังนั้น การทำงานในอัตราที่พอเหมาะจึงมีความสำคัญอย่างมาก เป็นการเพิ่มศักยภาพให้บุคคลากร และวางรากฐานการเติบโตอย่างยั่งยืนให้องค์กร/ประเทศชาติ และเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ
สังคมมนุษย์เหมือนระบบนิเวศน์หากไร้สมดุล โครงสร้างทั้งหมดจะพังทลายลง เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันและกัน เช่นเดียวกับคำว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”
ในประเทศพัฒนาแล้ว การกำหนดชั่วโมงการทำงานที่พอเหมาะกับแรงงานและนายจ้างจึงเป็นเรื่องปกติ เช่น ฝรั่งเศส มีการลดชั่วโมงการทำงานอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และก่อนหน้านี้ลดลงมาจาก 35 และก่อนหน้านั้นอีกคือ 39 ชั่วโมง
ข้อเสนอให้ทำงานเพียง 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มาร์ทีน โอบรี (Martine Aubry) ในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรี ลิออเนล ชอสแปง (Lionel Jospin) จากเดิมที่ชาวฝรั่งเศสต้องทำงานกันวันละ 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงทศวรรษที่ 80 – 90
เหตุผลของการลดชั่วโมง ก็เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการผลิตผ่านการมอบเวลาให้แรงงานได้พักผ่อนเพิ่มเติม การพักผ่อนเพิ่มเติมเท่ากับการเติมพลังชีวิตและยังใช้เวลานั้นศึกษาเล่าเรียน ต่อยอดทักษะ ทำให้แรงงานมีความรอบจัด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อองค์กรและบ้านเมือง
อีกเหตุผลก็คือ การจ้างงานบุคคากรให้ทำงานข้ามวัน ทำให้ความต้องการจ้างงานลดลง และส่งผลต่อภาวะการว่างงาน กล่าวคือ บริษัทหนึ่งๆ มักจ้างงานพนักงานทำงานเต็มเวลา ทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ คนที่มีงานก็ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ส่วนคนว่างงานก็ไม่มีโอกาสถูกจ้างเพราะตำแหน่งเต็ม การลดชั่วโมงลงทำให้คนทำงานเดิมมีเวลาได้หายใจหายคอ ส่วนคนที่ต้องการตำแหน่งงานก็มีโอกาสได้เข้ามาทดแทน
แต่ที่น้อยกว่าฝรั่งเศสอีกก็คือ เยอรมนี มีชั่วโมงทำงานเพียง 25.6 และเนเธอร์แลนด์เพียง 27 ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีสภาพเศรษฐกิจที่มั่นคง สวัสดิการที่ยอดเยี่ยม เรียกได้ว่ามีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างคน เมื่อคนมีความพร้อมสรรพ องค์การ/ประเทศชาติก็ขับเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น
ผลกระทบต่อการลดจำนวนเวลาทำงานต่อเศรษฐกิจยังมีผลการวิจัยที่ขัดแย้งกันอยู่ บ้างก็ว่าช่วยเพิ่มระดับการบริโภค และกระตุ้นเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าทำให้การบริโภคลดลง อีกปัจจัยหนึ่งคือ เมื่อเวลาทำงานลดลง สุขภาพของพนักงานจะดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของบริษัทและของรัฐ นับว่าเป็น win-win situation
เมื่อเทียบกับประเทศไทยแล้ว ชั่วโมงการทำงานยังถือว่าสูงพอสมควร เพราะต้องทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง (อัตราอย่างมากตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด) ที่น่าตกใจก็คือ แนวโน้มชั่วโมงการทำงานไม่ได้ลดลงแบบประเทศอื่น แต่กลับเพิ่มขึ้น แม้จะไม่ต่อเนื่อง แต่ก็เพิ่มขึ้นแบบเงียบเชียบแทบไม่มีใครสังเกต
เมื่อพิจารณาจากกราฟสถิติ จะพบว่าชั่วโมงการทำงานในไทยเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได และมีลดลงเล็กน้อยในช่วงหลัง คือ ระหว่างปี 1970 – 1992 ไทยมีชั่วโมงทำงานต่อปี 2,197.47 ในปี 1993 ขึ้นมาเป็น 2,238.73 ปี 1994 ขึ้นมา 2,280 ในปี 2002 ขึ้นมา 2313.58 ในปี 2005 ลงมาเล็กน้อยที่ 2,287.05 และในปี 2014 อยู่ที่ 2,284.38
เทียบกับปี 1970 (2,197.47 ชั่วโมง) กับ 2014 (2,284.38 ชั่วโมง) พบว่าเวลาทำงานของคนไทยต่อปีหนักขึ้น สวนทางกับแนวโน้มของประเทศพัฒนาแล้ว (ดูกราฟที่ 2 ประกอบ)
เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน แม้แนวโน้มการลดลงของชั่วโมงการทำงานจะคล้ายๆ กันคือไม่มากนัก แต่จะเห็นว่าแรงงาน/พนักงานไทยยังทำมากกว่าเพื่อนบ้านในบางกรณี โดยเฉพาะยังมากกว่าในหมู่ประเทศ “ชั้นนำ” ของกลุ่มอาเซียน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก (ดูกราฟที่ 2 ประกอบ)
ถามว่าชั่วโมงทำงานบ้านเราจะลดลงอีกได้หรือไม่? ตอบว่า “ได้” โดยพิจารณาจากแนวโน้มเหล่านี้
1. เทคโนโลยีมีความล้ำหน้ามากขึ้น มีการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาช่วยผ่อนแรงมนุษย์
2. สิทธิสตรีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้หญิงมาแบ่งเบาแรงงานชาย และช่วยหารายได้ให้กับครอบครัว
3. อัตราการเกิดลดลง ทำให้ครอบครัวไม่ต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาเลี้ยงลูก
ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เกิดขึ้นได้ในไทย โดยเฉพาะข้อหลัง
ตามมาตรฐานโลกแล้ว ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยอยู่ที่ 40 – 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ แรงงาน/พนักงานทั่วโลกต้องต่อสู้กันมาเป็นร้อยปี เช่นที่สหรัฐอเมริกา ช่วงศตวรรษที่ 19 ชั่วโมงทำงานสูงถึง 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 ลดลงมาเหลือ 33 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยคนละ 8.4 ชั่วโมงต่อวันในส่วนของผู้ชาย และ 7.9 ในส่วนของผู้หญิง
ใช่…กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องใช้เวลานานถึง 100 กว่าปี ประเทศไทยเองก็เช่นกัน แต่น่าเศร้าที่แนวโน้มของเรากลับขยับเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่มีเหตุปัจจัยให้ชั่วโมงทำงานลดลง ทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านประชากรศาสตร์
เมื่อแรงงานทำงานหามรุ่งหามค่ำ พวกเขาจะไม่มีเวลาพักผ่อน บ่อนทำงายสุขภาพอย่างร้ายแรง ส่งผลต่องบประมาณสาธารณสุขของชาติ
เมื่อแรงงานทำงานหามรุ่งหามค่ำ พวกเขาจะไม่มีโอกาสศึกษาต่อ เมื่อพวกเขาขาดการศึกษา จึงไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ประเทศชาติจึงขาดประชากรที่มีความลุ่มลึกทางความคิด
ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อ “สิ่งแวดล้อม” ทั้งในด้านการลงทุน ด้านการเมือง และสะเทือนไปถึงระบบนิเวศของสังคมมนุษย์ที่ศิวิไลซ์
เมื่อประชาชนถูกบีบโดยระบบทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง เขาจะมีเวลาที่ไหนมาใส่ใจกับองค์ประกอบรอบๆ ตัว เพราะตัวเขาคงคิดว่าคงจะตายก่อนสิ่งแวดล้อมเป็นแน่?