OPINION: ควรทำงานที่บ้านต่อเพื่อให้โลกได้หายใจต่อไป

เซอร์เดวิด แอทเทนโบโร (Sir David Attenborough) คือเจ้าของเสียงบรรยายอันโด่งดังในสารคดีชีวิตสัตว์โลกของ BBC เขายังเป็นมากกว่านักพากย์ เพราะยังเป็นนักสารคดี นักประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เขาเป็นที่รักของชาวอังกฤษ (และชาวโลก) ถึงกับยกย่องให้ท่านเซอร์เป็นสมบัติของชาติ ดังนั้นเซอร์เดวิดพูดอะไรออกมาแต่ละครั้งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคนจะต้องตั้งใจฟัง

และครั้งนี้ เนื่องในวันคุ้มครองโลก (22 เม.ย.ที่ผ่านมา) ในช่วงแห่งการปิดเมืองและประเทศจากจากโควิด-19 จนต้องทำงานกันอยู่ที่บ้าน แต่เขาบอกกับซีเอ็นเอ็นว่า เราควรจะทำงานจากที่บ้านกันต่อไปอีกเพื่อช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“คุณสามารถทำงานได้ดีมากๆ จากที่บ้านและไม่จำเป็นต้องทนกับการเดินทางที่แสนแย่ [ไปทำงาน] ต้องอัดแน่นเหมือนปลาซาร์ดีนในกระป๋องขณะเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมือง มันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงานของเรา และหากสิ่งนั้นเกิดขึ้นก็เป็นเพราะคนก็ชอบแบบนั้น” ท่านเซอร์บอก

เซอร์เดวิดพูดถูกในเรื่องวิถีชีวิตที่แสนแย่ของพวกเราที่ต้องเบียดเสียดในรถประจำทางส่วนคนมีรถก็ต้องติดแหง็กบนท้องถนนเพราะการจราจรที่ติดขัด ที่จริงแล้วการเดินทางไปทำงานวันๆ หนึ่งทำให้เกิดมลภาวะมหาศาลต่อโลก โดยการคมนาคมขนส่งถือเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับที่ 3 ของทั้งหมด

ดังนั้น เซอร์เดวิดจึงบอกว่าเราจึงควรลด “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยออกมาอย่างเสียเวลาไปกับการขนส่งที่เราไม่ต้องการ”

ในความคิดของเซอร์เดวิด การเดินทางไปทำงานของพวกเราทุกวันนี้มันเป็นเรื่องไม่จำเป็น เราสามารถทำงานที่บ้านได้ ช่วยลดทั้งเวลาที่เสียไปของชีวิต ลดความเครียดจากการเดินทาง และช่วยต่อชีวิตให้โลกของเรา

แต่คำถามก็คือ (ซึ่งเซอร์เดวิดก็สงสัยเหมือนกัน) เราจะทำมันได้จริงหรือ ผู้คนจะยอมทำอย่างนั้นหรือไม่ หรือหากยอมแล้วล่ะมันจะคุ้มหรือเปล่า?

Work From Home อาจจะดูสะดวกก็จริงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็จริง แต่มันอาจมีผลเสียในระยะยาวตามมาหากไม่มีการเตรียมพร้อมรับการทำงานที่บ้านแบบตลอดไปหลังจากนี้

คำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้คือ เราลดการผลาญทรัพยากรพลังงานจากการเดินทางก็จริง แต่การผลาญไฟฟ้าและอื่นๆ ที่บ้านของคนอีกหลายพันล้านคนพร้อมๆ กัน แทนที่จะมาทำงานรวมหมู่ในที่เดียวมันจะช่วยลดการผลาญพลังงานได้จริงหรือ?

การทำงานรวมหมู่อาจช่วยประหยัดไฟได้มากกว่ายังไม่นับต้นทุนของธุรกิจที่ลดลง แต่ต้นทุนของคนทำงานที่บ้านอาจจะมากขึ้น แล้วบริษัทกล้าที่จะชดเชยส่วนนี้หรือเปล่า?

เราจะต้องประเมินให้เห็นกันชัดๆ ไปเลยว่า Work From Home ดีต่อโลกมากกว่าการเดินทางไปทำงานร่วมกันในที่เดียวกันจริงหรือไม่

คำตอบนี้ต้องรอการวิจัยที่จริงจังอาจจะต้องใช้เวลา แต่ผลที่ได้มาจะคุ้มค่ามากเพราะมันจะช่วยบอกแนวทางการดำเนินชีวิตของเราที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน