ทศวรรษที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์คนรุ่นต่อไปจะเผชิญภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น

โลกของเรายังร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี พ.ศ. 2562 มีการทำลายสถิติที่เกี่ยวกับอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นอย่างผิดปกติครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของปีได้ไม่กี่วันก็มีข่าวร้ายจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ทศวรรษนี้ (พ.ศ. 2553 – 2562) จะเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาลและกำลังจะทำให้สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงจนใกล้จะถึงจุดที่แก้ไขไม่ได้

จากการรายงานของ WMO อุณหภูมิโลกในทศวรรษนี้ร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2553 – 2562 จะร้อนที่สุดแล้ว ในระยะแค่ 5 ปี (พ.ศ. 2558 – 2562) ก็ถือเป็นช่วง 5 ปีที่ร้อนที่สุดเช่นกัน แค่เฉพาะปี พ.ศ. 2562 อุณหภูมิโลกก็สูงกว่าช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว (1)

และเมื่อหดช่วงระยะเวลาให้แคบลงเหลือแค่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ก็จะพบว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์จากการรายงานของ Copernicus Climate Change Service โดยพบว่า ร้อนกว่าอัตราเฉลี่ยระหว่างปี พ.ศ. 2524-2553 ถึง 0.64 องศาเซลเซียส (2)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจในทำนองนี้ และปี พ.ศ. 2562 คือปีที่เกือบทุกฤดูกาลทำลายสถิติร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีมา

นับตั้งแต่เดือนแรกของฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ คือเดือนมิถุนายน มีรายงานจากสำนักงานบริหารสมุทรศาสตร์และภูมิอากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐว่า เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 เป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดในรอบ 140 ปี เป็นอย่างน้อย และอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในเดือนดังกล่าวสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของศตวรรษที่ 21 ถึง 0.95 องศาเซลเซียส (3)

ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นเดือนที่สองของฤดูใบไม้ร่วงของประเทศซีกโลกเหนือ และตามปกติอุณหภูมิจะเริ่มเย็นลง แต่ในปี พ.ศ. 2562 โลกของเราต้องพบกับเดือนตุลาคมที่ร้อนที่สุด โดยทั่วโลกร้อนกว่าอัตราเฉลี่ยถึง 0.69 องศาเซลเซียส เฉพาะในยุโรปร้อนกว่าปกติถึง  1.1 องศาเซลเซียส (4)

ในระหว่างที่เขียนบทความนี้ เรายังรอตัวเลขของฤดูหนาวปี พ.ศ. 2562 ที่เริ่มต้นในเดือนธันวาคมว่าจะร้อนที่สุดเหมือนฤดูที่ผ่านมาอีกหรือไม่

นักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นตรงกันว่าการที่โลกร้อนขึ้นราวกับไม่มีวันสิ้นสุดเกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะจากการใช้พลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมัน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562  ทาง WMO ยังเปิดเผยข้อมูลว่าระดับของก๊าซเรือนกระจกที่ดักจับความร้อนในบรรยากาศนั้นสูงถึงระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลจากจดหมายข่าวก๊าซเรือนกระจก (WMO Greenhouse Gas Bulletin) แสดงให้เห็นว่าระดับความเข้มข้นเฉลี่ยของคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกอยู่ที่ 407.8 ส่วนต่อล้านในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจาก 405.5 ส่วนต่อล้าน (ppm) ในปี พ.ศ. 2560 (1)

นี่คือสัญญาณอันตรายที่ถูกเปิดเผยพร้อมกับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 หรือ COP25 แต่ เพตเตรี ทาอาลาส (Petteri Taalas) เลขาธิการของ WMO กล่าวว่า ไม่มีสัญญาณว่าการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกจะชะลอตัวแต่อย่างใด ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยว่ามันจะลดลง แม้ประชาคมโลกจะมีพันธะที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกตามความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ตาม (1)

ทาอาลาส เตือนว่าครั้งสุดท้ายที่โลกของเรามีระดับความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับทุกวันนี้ คือเมื่อประมาณ 3-5 ล้านปีก่อน ในตอนนั้นอุณหภูมิร้อนขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงกว่าตอนนี้ถึง 10-20 เมตร (1)

จากแนวโน้มนี้ที่ไร้ความหวังนี้ หมายความว่าคนรุ่นต่อไปจะต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น, สภาพอากาศที่รุนแรง, การขาดแคลนน้ำ, การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และความพินาศของระบบนิเวศทางบกและทางน้ำ (1)

แต่ภัยคุกคามเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนรุ่นต่อไปเท่านั้น เพราะ WMO ยังปล่อยรายงานอีกชิ้นระหว่างการประชุม COP25 ที่กรุงมาดริด ชื่อรายงานว่า “สถานะของการบริการด้านสภาพภูมิอากาศ” (State of Climate Services) ที่เผยว่าระหว่างปี พ.ศ. 2558-2561 จำนวนประชากรโลกที่ได้รับผลกระทบจากภัยความอดอยากเพิ่มขึ้นจาก 785 ล้านคนมาอยู่ที่ 820 ล้านคนในเวลาเพียงไม่กี่ปี เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้เกิดภัยแล้งในแอฟริกา เอเชีย และอเมริกาเหนือ (5)

WMO เตือนว่า หากอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียสจะทำให้ประชากรโลกอีก 189 ล้านคนตกอยู่ในสภาพเดียวกัน หรือเพิ่มขึ้นจากตัวเลขในขณะนี้ถึง 20% พร้อมกับย้ำว่าตอนนี้โลกของเราได้ร้อนขึ้นถึง 1.1 องศาเซลเซียสจากระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว และเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในทศวรรษที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ (5)

แกรนท์ แอลเลน (Grant Allen) ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian ของอังกฤษว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนี้ไม่ได้หมายความว่าฤดูร้อนจะร้อนขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้น แต่หมายถึงความถี่ที่สภาพอากาศทั่วโลกจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยแล้ง คลื่นความร้อน น้ำท่วม และความถี่ของพายุไต้ฝุ่นในเขตร้อน (6)

ดังนั้น สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นภัยคุกคามอยู่นี้ นอกจากมนุษย์โลกจำต้องแบกรับชะตากรรมร่วมกันแล้ว มันยังเป็นสัญญาณเตือนด้วยว่าทศวรรษที่ร้อนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นี้ยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะมีจุดจบลงอย่างไร และเมื่อใด

อ้างอิง

  1. World Meteorological Organization. (November 25, 2019). “Greenhouse gas concentrations in atmosphere reach yet another high”.

https://public.wmo.int/en/media/press-release/greenhouse-gas-concentrations-atmosphere-reach-yet-another-high

  1. Agence France-Presse. (December 4, 2019). “November 2019 was hottest on record: data”. The Jakarta Post.

https://www.thejakartapost.com/news/2019/12/04/november-2019-was-hottest-on-record-data.html

  1. Livni, Ephrat. (July 21, 2019). “Earth just experienced the hottest June in at least 140 years”. Quartz.

https://qz.com/1671243/2019-had-the-hottest-june-on-earth-in-at-least-140-years/

  1. Baynes, Chris. (November 6, 2019). “October was hottest in Earth’s recorded history, say scientists”. The Independent.

https://www.independent.co.uk/news/science/october-hottest-temperature-record-earth-eu-climate-change-a9188121.html

  1. Global Environment Facility. (December 05, 2019). “Climate extremes driving global hunger, says WMO”. Climate Change News.

Climate extremes driving global hunger, says WMO

  1. Harvey, Fiona. (December 03, 2019). “Decade of ‘exceptional’ heat likely to be hottest on record, experts say”. The Guardian

https://www.theguardian.com/environment/2019/dec/03/decade-of-exceptional-heat-likely-to-be-hottest-on-record-experts-say

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน