พื้นที่ป่าลดไฟป่าพุ่ง ข่าวดีประชากรเสือโคร่งเพิ่ม 40% ทั่วโลกเหลือเกือบ 6,000 ตัว

ในขณะที่เกิดไฟป่ามากขึ้นในหลายพื้นที่เสี่ยงทั่วโลก และขณะเดียวกันในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่าไม้ทั่วโลกได้ลดลง 81.7 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเป็นความสูญเสียที่มีส่วนทำให้พื้นที่ป่าทั่วโลกต่อหัวลดลงมากกว่า 60% การสูญเสียนี้คุกคามอนาคตของความหลากหลายทางชีวภาพและส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คน 1,600 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

พื้นที่ป่าที่ลดลงดังกล่าวศึกษาจากปี 1960 ถึง 2019 ซึ่งเทียบเท่ากับพื้นที่มากกว่า 10% ของเกาะบอร์เนียวทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำในเขตร้อนและป่าไม้ในประเทศที่มีรายได้สูงในเขตนอกเขตร้อน

อย่างไรก็ตาม อีกด้านกลับมีข่าวดีมากๆ เมื่อสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้มีการอัปเดตสถานะบัญชีรายชื่อแดง (Red List) ของเสือโคร่ง (Panthera tigris ) ที่แม้จะยังคงถูกจัดอยู่ในประเภทสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่การประเมินประชากรครั้งล่าสุดพบว่าเพิ่มขึ้นถึง 40% จากปี 2015

“ทุกวันนี้เสือโคร่งยังมีชีวิตอยู่มากกว่าในปี 2010 เป็นผลมาจากรัฐบาลและพันธมิตรที่มุ่งมั่นในการปกป้องสายพันธุ์และถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่ง ภัยคุกคามไม่ได้หายไป” นักวิจัยจากโครงการเสือโคร่งของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าระบุ

การประเมินใหม่ของ IUCN ระบุว่าขณะนี้มีเสือโคร่งระหว่าง 3,726 ถึง 5,578 ตัว (ไม่รวมลูก) ซึ่งพบในเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งเป็นผลมาจากการติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปกป้องเสือโคร่งและเหยื่อจากการรุกล้ำ เพื่อปกป้องแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือ และการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่รอบๆ แหล่งอาศัยของเสือโคร่ง

ทั้งนี้ ตัวเลขเริ่มดีขึ้นหลังจากลดลงมาราว 100 ปี อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะการรุกล้ำและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยเพื่อการเกษตร

อ้างอิง
Aug 2, 2022 “Global forest area per capita has decreased by over 60 percent, study finds” . Sciencedaily
Olivia Rosane (Jul 25, 2022) “Wild Tiger Numbers Up 40 Percent Since 2015 Assessment” . Ecowatch
(Jul 22, 2022) “Wild tiger numbers 40% higher than thought, says conservation group” . The Guardian

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย