เสียงเพลงคือสวรรค์นำทาง ช่วยวาฬติดน้ำแข็งขั้วโลก 2,000 ตัว

ปลายเดือนธันวาคม 1984 นักล่าชนเผ่าชุคชีในไซบีเรีย สหภาพโซเวียต พบฝูงวาฬเบลูก้ามากถึง 3,000 ตัวดิ้นรนหาช่องหายใจในแอ่งน้ำเปิดขนาดเล็กในน่านน้ำที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งนอกคาบสมุทรชุคชี เพราะลมตะวันออกพัดน้ำแข็งลอยหนาถึง 4 เมตร มาอัดแน่นทำให้เกิดก้อนน้ำแข็งขนาดกว้างจนวาฬโผล่ขึ้นมาหายใจได้ลำบาก 

ขณะที่ชาวบ้านพยายามรักษาชีวิตสัตว์โดยให้อาหารพวกมันด้วยปลาแช่แข็งและเปิดช่องหายใจ ในไม่ช้าก็ปรากฏชัดว่าเบลูก้าฝูงนี้จะพินาศในที่สุดเว้นแต่จะปล่อยพวกมันออกมาได้จากการถูกขังในแผ่นน้ำแข็ง แต่ลำพังชนเผ่าในที่กันดารอย่างพวกเขาจะทำได้อย่างไร?

แต่ในที่สุด หลังจากผ่านไป 3 เดือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 1985 เรือมอสควา (Moskva) ก็ถูกเรียกจากปฏิบัติการแถบทะเลแบริ่งให้ช่วยเจาะช่องผ่านก้อนน้ำแข็งและปลดปล่อยฝูงวาฬเบลูก้าที่ติดอยู่ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เรือตัดน้ำแข็งไปถึงฝูงวาฬเบลูก้าได้สำเร็จ แต่ในตอนแรก พวกมันไม่ยอมที่จะว่ายตามเรือที่ช่วยเปิดช่องให้ออกมา

ลูกเรือเกิดไอเดียขึ้นมา พวกเขาลองเริ่มเล่นดนตรีคลาสสิกผ่านลำโพงของเรือเพื่อล่อวาฬด้วยเสียงเพลง ปรากฏว่ามันได้ผล! ในที่สุดวาฬก็เดินตามเสียงเพลงของเรือ Moskva ไปที่ทะเลที่ยังไม่ได้เป็นน้ำแข็ง ในท้ายที่สุดคาดว่ามีวาฬประมาณ 2,000 ตัวว่ายหนีออกมาได้ แต่ก็มีนักล่าในท้องถิ่นจับพวกมันไป 500 ตัว

การช่วยเหลือวาฬหลายพันตัวของเรือ Moskva คือปฏิบัติการกู้ภัยที่เรียกว่า “Operation Beluga” มันมีต้นทุนที่สูงมาก ทำให้รัฐบาลโซเวียตเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็คุ้มมากในการช่วยรักษาชีวิตของสัตว์โลกไปได้นับพันตัว

ยังมีปฏิบัติการคล้าย ๆ กันที่ช่วยชีวิตวาฬน้อยกว่านี้ แต่มันเป็นความร่วมแรงร่วมใจที่ยิ่งใหญ่มาก ระหว่างเจ้าของร้านอุปกรณ์ช่างธรรมดา ๆ นักวิทยาศาสตร์จากสองมหาอำนาจของโลก พวกเขามารวมใจกันเพื่อช่วยวาฬไม่กี่ตัวที่กำลังลำบากจากน้ำแข็ง

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1988 รอย อาห์มาโอกัก นักล่าของชนเผ่าอินูปิอัต ชนเผ่าที่ดำรงชีวิตใกล้ขั้วโลก ได้ค้นพบวาฬสีเทาสามตัวที่ติดอยู่ในก้อนน้ำแข็งในทะเลโบฟอร์ตใกล้พอยต์ แบร์โรว์ ในรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นชุมชนที่ใกล้ขั้วโลกที่สุดที่มนุษย์อาศัยอยู่ และเป็นจุดเหนือสุดของดินแดนอเมริกา

แม้ว่ารอยจะเป็นนักล่าและกินเนื้อวาฬเป็นอาหารยังชีพ แต่ชนเผ่าขั้วโลกจะไม่ล่าเกินความจำเป็น และเมื่อพบสัตว์ที่กำลังลำบาก นายพรานคนนี้จึงพยายามใช้เลื่อยไฟฟ้าช่วยตัดเส้นทางในน้ำแข็งเพื่อหาทางออกให้วาฬ และยังชาวบ้านมาช่วยพรานรอยโดยใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำแข็งกลับมาแข็งอีกในชั่วข้ามคืน

ข่าวเรื่องวาฬติดน้ำแข็งแพร่กระจายไปทั่วชุมชนเป่าอินูปิอัต และนักชีววิทยาศาสตร์จากเมืองนอร์ท โบโร จึงเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุและตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับวาฬ จึงติดต่อขอเฮลิคอปเตอร์บรรทุกของหนัก Sikorsky S-64 Skycrane เพื่อนำมาช่วยเจาะรูในน้ำแข็งโดยใช้ค้อนขนาด 5 ตัน

แต่มันยังไม่ได้ผล ข่าวเกี่ยวกับวาฬที่ถูกขังอยู่ในน้ำแข็งเดินทางมาถึงเมืองแองเคอเรจ เมืองหลวของรัฐในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา หน่วยกู้ภัยพยายามยืมเรือมาจากอ่าวพรูโดเพื่อทำลายน้ำแข็งและเคลียร์เส้นทาง แต่เรือติดอยู่ในน้ำแข็งเสียเอง เรื่องราวนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นจากสื่อ และบินไปรายยงานข่าวถึงสถานที่ 

จนกระทั่ง สำนักงานการบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA ) ของสหรัฐอเมริกาได้ส่งทีมนักชีววิทยาวาฬไป แต่ความคืบหน้าที่น่าสนใจมาจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐที่ตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากเรือตัดน้ำแข็งสองลำจากสหภาพโซเวียต ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองประเทศเป็นคู่กรณีกันในช่วงสงครามเย็นในขณะนั้น

แม้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งสองประเทศ เพราะเป็นจุดที่รัสเซียใกล้กับสหรัฐมากที่สุด แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสงครามเย็น มันเป็นการช่วยเหลือชีวิตของสัตว์ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่กำลังลำบาก ฝ่ายโซเวียตจึงตอบรับคำขอของสหรัฐในทันทีเพื่อช่วยกู้ภัยโดยเรือวลาดิมีร์ อาร์เซเนียฟและเรือแอดไมรัล มาคารอฟ

แต่ถึงจะมีความช่วยเหลือจากสองประเทศ คนที่สร้างปัญหากลับเป็นคนนอกเสียเอง เพราะเมื่อวาฬพยายามหาทางออกจากช่องน้ำแข็ง นักข่าวกลุ่มหนึ่งกรูกันเข้าไปทำข่าวทำให้พวกมันตื่นจนว่ายกลับเข้าไปอีก นอกจากนี้น้ำแข็งที่แหลมคมที่เกิดจากการตัดของหน่วยกู้ภัยก็แทงเข้ากับวาฬด้วย ทำให้ทะเลนองไปด้วยเลือดของพวกมัน

ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์ก็พบว่า มีวิธีที่จะล่อพวกมันออกมา พวกเขาตั้งใจที่จะใช้เสียงบันทึกของวาฬขณะกำลังผสมพันธุ์เพื่อล่อพวกมัน แต่เผอิญพวกเขาพบว่าเสียงปั๊มน้ำที่คอยกันไม่ให้น้ำแข็งที่เจาะไว้แข็งอีกครั้ง มันช่วยดึงความสนใจของวาฬได้ 

เครื่องปั๊มน้ำนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมแรงร่วมใจของผู้คนจากหลากหลายพื้นที่และอาชีพ มันมาจากเจ้าของร้านอุปกรณ์ช่างในรัฐมินีโซตาที่ห่างไกลจากอะแลสก้าแบบครึ่งทวีป เมื่อพวกเขาทราบเรื่องปฏิบัติการ ก็ช่วยส่งอุปกรณ์ปั๊มน้ำมาให้ ปรากฏว่ามันเป็นมากกว่าเครื่องปั๊มน้ำ มันคือเสียงเพลงที่นำทางวาฬออกมา

และเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม (วันที่ 21 ของปฏิบัติการ) เรือแอดไมรัล มาคารอฟแห่งสหภาพโซเวียตได้ทำลายสันเขาน้ำแข็งอาร์กติกที่มีความกว้าง 400 หลาและสูง 30 ฟุต ส่วนเรือวลาดิมีร์ อาร์เซเนียฟ เคลียร์เศษซากน้ำแข็งเพื่อสร้างเส้นทางที่ใหญ่เพียงพอสำหรับวาฬที่ยังติดอยู่ เป็นความยาวถึง 1 ไมล์ 

ความพยายามในการช่วยเหลือมีค่าใช้จ่าย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิทยาศาสตร์ว่า “ฝืนธรรมชาติ” เพราะควรจะปล่อยให้มันดิ้นรนตามธรรมชาติ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวาฬบางคนว่าความพยายามช่วยเหลือดังกล่าวไม่สูญเปล่าเลยในแง่ชีววิทยา

เขาบอกว่ามันเป็นตัวเร่งให้สาธารณะเกิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับวาฬ โดยกล่าวว่า “แม้ว่าการช่วยเหลือวาฬสีเทาที่ติดอยู่ในน้ำแข็งอะแลสกาจะมีค่าใช้จ่ายมหาศาล สวนทางกับเหตุการณ์ปกติและความเป็นธรรมชาติ แต่ก็ตอกย้ำถึงทัศนคติที่เปลี่ยนไปของมนุษย์ต่อวาฬ”

ข้อมูลจาก

  • Russians tell saga of whales rescued by an icebreaker. New York Times, 12 March 1985.
  • Soviet Ship Cracks Wall of Ice to Free Trapped Whales. Los Angeles Times, 22 February 1985.
  • Sullivan, Robert (2002). A Whale Hunt: How a Native-American Village Did What No One Thought It Could
  • “NOAA’s Big Miracle Worker”, NOAA (2012)  

ภาพ

http://www.photolib.noaa.gov/htmls/theb3672.htm

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน