ประเทศไทย..พร้อมรับมือ วิกฤตน้ำและภัยแล้งซ้ำซาก (หรือยัง?)

หลายทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ส่งผลให้ภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้น ขยายขอบเขตความเสียหายกว้างมากขึ้น และยิ่งสภาพอากาศมีความแปรปรวนสูง ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญยิ่งทำให้บางภูมิภาคของโลกเกิดความแห้งแล้ง โดยเฉพาะประเทศไทยที่อยู่ในเสี่ยงเผชิญอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าระดับปกติ และอาจเกิดสภาพอากาศแปรปรวนในบางพื้นที่ เช่น บริเวณที่เคยมีฝนตกชุกอาจต้องเผชิญกับความแห้งแล้งฉับพลัน หรือในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำฝนอาจเผชิญกับพายุฝนรุนแรง เป็นต้น (1)

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2) อธิบายว่า ผลพวงจากปรากฎการณ์เอลนีโญในอนาคตจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยสู่บรรยากาศอย่างเนื่อง ทำให้อุณหภูมิโลกจะร้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะสร้างผลกระทบและความเสียหายในวงกว้าง ดังนั้นในแง่การเตรียมการรับจำเป็นต้องคำนึงถึงความเปราะบางของแต่ละพื้นที่ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และขีดความสามารถในการปรับตัว

โดยเฉพาะการวางแผนบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมกับสภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน เนื่องจากภาคเกษตรของไทยอยู่ในเขตชลประทานเพียงประมาณ 30 ล้านไร่ จากพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ 150 ล้านไร่ นั่นเท่ากับพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานมีเพียง 1 ใน 5 และที่เหลืออีก 4 ใน 5 จะกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงทันที

ปัจจุบันครัวเรือนภาคเกษตรสามารถเข้าถึงเขตชลประทานได้แค่ 26% และอีก 74% เข้าไม่ถึง แต่หากนับรวมทุกแหล่งน้ำทั้งบ่อน้ำส่วนตัว และสระต่าง ๆ จะพบว่า เกษตรกรไทยเข้าถึงแหล่งน้ำทุกชนิดได้แค่ 42% อีก 58% จะเป็นครัวเรือนเกษตรที่เปราะบางจากปรากฎการณ์เอลนีโญ หรือภัยแล้ง

“ภาครัฐจึงจำเป็นจะต้องปรับแผนเพื่อรองรับปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยการปรับวิธีการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะลดการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากใช้ปริมาณน้ำในการเพาะปลูกมาก ซึ่งปัจจุบันปลูกอยู่ประมาณ 9 ล้านไร่  แต่ข้าวเป็นพืชที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ รัฐจึงต้องคำนึงถึงการปลูกพืชทดแทนที่มีมูลค่าสูง และต้องส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปลูกพืชที่หลากหลายเหมาะกับสภาพพื้นที่ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดินมี AgriMap ที่สามารถทราบได้ว่า พื้นที่ไหนเหมาะที่จะปลูกอะไร พื้นที่ตรงไหนที่เคยปลูกนาปรัง หากจะลดพื้นที่ลงควรปลูกพืชอะไร”

รศ.ดร.วิษณุ ระบุเพิ่มว่า ระบบข้อมูลที่เรามีในปัจจุบันสามารถบอกได้เลยว่า พื้นที่ไหนไม่ควรปลูกพืชเกษตรชนิดใดให้เกินปริมาณเท่าไหร่โดยไม่กระทบความต้องการของตลาด นอกจากนี้ระบบการเกษตรสมัยใหม่ยังมีเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการทำเกษตร สามารถบอกได้ด้วยซ้ำว่า พืชแต่ละชนิดไม่ควรใส่ปุ๋ยเกินเท่าไหร่ ซึ่งหากมีการนำมาตรการนี้มาใช้ก็จะช่วยเหลือเกษตรกรและสร้างแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของภาคเกษตรล่วงหน้าได้

นักเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังบอกว่า ในสถานการณ์ที่โลกร้อนกำลังกลายเป็นวิกฤตทั่วโลก การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับการวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะต้องมีการประเมินความเสี่ยง กำหนดแนวทางการบริหารภาวะความแห้งแล้งตามความเสี่ยงเชิงพื้นที่ การจัดการน้ำเชิงอุปสงค์ การเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำในระดับพื้นที่ การปรับปรุงกฎระเบียบให้เกิดการใช้ประโยชน์จากน้ำในพื้นที่ หรือสามารถสร้างความมั่นคงจากการจัดการน้ำในระดับชุมชนได้ก็จะมีทางออกในการรับมือปัญหาภัยแล้งในระยะยาว

สำหรับการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวัน 27 มีนาคม 2567 ได้เห็นชอบแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งรวม 9 มาตรการ เพื่อรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 พร้อมทั้งได้มีการกำชับและเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์การจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกข้าวนาปรังอย่างใกล้ชิด และงดส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในช่วงฤดูฝนนี้ต่อเนื่องช่วงฤดูแล้งหน้า

ขณะเดียวกัน กรมชลประทานได้เสนอปรับแผนการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง จากแผนเดิม 5,600 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ปรับแผนเป็น 7,700 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง) มากกว่าแผนที่กำหนด

ที่ประชุม กนช. ในครั้งนี้ยังได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง 12 ลุ่มน้ำ (ร่าง) แผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม 22 ลุ่มน้ำ และ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ โดยหลังจาก กนช.เห็นชอบแล้ว คณะกรรมการลุ่มน้ำจะนำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้งไปดำเนินการร่วมกับมาตรการรองรับฤดูแล้งตามที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเกษตรกรได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กนช.ได้ประเมินว่า ในขณะนี้ปรากฎการณ์เอลนีโญในประเทศไทยได้อ่อนกำลังลง และมีโอกาสจะเปลี่ยนไปสู่ลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้นที่ประชุม กนช. จึงได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 จำนวน 10 มาตรการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ พร้อมทั้งได้เห็นชอบโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ให้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไปด้วย (3)

จากแผนและมาตรการที่ภาครัฐกำหนดไว้แม้จะมีความคืบหน้าในการดำเนินนโยบาย แต่การปฏิบัติจะต้องมีรูปธรรมในการรับมือกับวิกฤตการจัดการน้ำ และภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยเฉพาะจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนและมาตรการที่กำหนดไว้ เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมากกว่าระดับปกติและร้อนต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกษตรกรโดยรวมที่เข้าถึงแหล่งน้ำได้เพียง 42% และเป็นกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งแน่นอนว่าความเสียหายจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปยังระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม

อ้างอิง:

(1) TPBS (2023). ไขคำตอบ เอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว. Retrieved Mar 10, 2024, from https://www.thaipbs.or.th/news/content/328430

(2) รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช, อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สัมภาษณ์ 16 มีนาคม 2567

(3) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (2567). “รองนายกฯ สมศักดิ์” เคาะ 10 มาตรการรับมือฝนปี 67 ก่อนเสนอ ครม.สั่งหน่วยงานเร่งทำแผนปฏิบัติการ เตรียมพร้อมรับลานีญาแทนสภาวะเอลนีโญที่อ่อนกำลังลง. Retrieved Apr 7, 2024, from http://www.onwr.go.th/?p=14521

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่