“เศรษฐา” สั่ง สทนช. เร่งเสนอแผนบริหารจัดการน้ำ ระยะ 3 ปี วงเงิน 548,485 ล้าน ให้ ครม. พิจารณาภายใน ส.ค.นี้ มั่นใจปีนี้ไม่ท่วมใหญ่ซ้ำปี 2554
เหตุการณ์น้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซากเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่แนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ละปีรัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการเยียวยาและแก้ปัญหาผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2567 ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน นายกฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งจัดทำแผนงานและโครงการการบริหารจัดการน้ำระยะ 3 ปี เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ส.ค. 2567
นอกจากนี้ ให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ร่วมกับกรมชลประทาน ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกันติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับน้อยที่สุด
“ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำบริโภค ผมได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำอย่างยั่งยืน” นายเศรษฐา กล่าว
นายกฯ ได้ย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด รวมทั้งก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ ภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติด้านน้ำอื่นๆ ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่
ประกอบด้วยแผนงาน 5 ด้าน คือ 1.เพิ่มน้ำอุปโภคบริโภค 2.ปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำเดิม และพัฒนาระบบกระจายน้ำ 3.พัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝน 4.พัฒนาพื้นที่น้ำท่วมและป้องกันพื้นที่ชุมชนเมือง และ 5.พัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ
เมื่อถูกถามว่า รัฐบาลมั่นใจหรือไม่ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 นายกฯ ตอบสั้น ๆ ว่า “ครับ”
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายเพิ่มเติมว่า สนทช.ได้สรุปสถานการณ์น้ำโดยปริมาณน้ำฝนสะสมช่วงฤดูฝนปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. – 1 ส.ค. 2567 มีปริมาณฝน 563.2 มม. สูงกว่าค่าปกติ +74.8 มม. เพิ่มขึ้น 15% ส่วนปริมาณฝนคาดการณ์และปริมาณน้ำ ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2567 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง มีความจุรวม 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
ปัจจุบันมีน้ำ 40,163 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 รับน้ำได้อีก 30,763 ลบ.ม. คิดเป็น 43% สำหรับการคาดการณ์น้ำ ในวันที่ 1 พ.ย. 2567 คาดว่าจะมีน้ำกักเก็บ จำนวน 54,930 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 77% ทั้งนี้ เมื่อเทียบปี 2566 มีน้ำกักเก็บอยู่ที่จำนวน 56,386 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 79% โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำปี 2567 จะน้อยกว่าปี 2566 จำนวน 1,456 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ ประกอบด้วย ดังนี้
1.ให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อ ครม.ภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยให้ สทนช. รับผิดชอบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน และรายงานให้ ครม.ทราบเป็นระยะ
2.ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้
3.ให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
นายกฯ ยังให้กรมชลประทานติดตามรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมให้เฝ้าดูพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเร่งดำเนินการการขุดลอกแม่น้ำสุไหงโก-ลก ไม่ให้ตื้นเขิน ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาดำเนินการ โดยมีคณะกรรมการร่วมไทย-มาเลเซียร่วมด้วย เนื่องจากประเทศมาเลเซียและฝั่งไทยได้รับความเดือดร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่โดยเฉพาะใน จ.นราธิวาส
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แผนการบริหารจัดการน้ำระยะ 3 ปี ที่ สทนช. จะนำเสนอ ครม. มีวงเงิน 548,485 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ ปี 68 วงเงิน 155,986 ล้านบาท, ปี 69 วงเงิน 208,815 ล้านบาท และปี 70 วงเงิน 183,684 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง ในระดับประเทศลงลึกถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน
ในปีสุดท้ายคือ ปี 2570 น้ำท่วมและแล้งซ้ำซากจะต้องลดลง โดยวงเงินดังกล่าวยังไม่รวมโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยโครงการต่างๆ บรรจุในแผน 20 ปีของรัฐบาล นายกฯสั่งให้เร่งดำเนินการในโครงการที่มีความเป็นไปได้ก่อน
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เป้าหมายแผน 3 ปี เพื่อให้ครัวเรือนเข้าถึงระบบประปา และน้ำสะอาด เพิ่มขึ้น 4.5 ล้านครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรนอกเขตชลประทานที่มีโอกาสเกิดภัยแล้ง 22.36 ล้านไร่ ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีแหล่งน้ำและระบบชลประทาน ระบบกระจายน้ำ 12.34 ล้านไร่ คิดเป็น 54% ของพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี 1.6 ล้านไร่ ได้รับการแก้ไขและบรรเทาน้ำท่วม 0.68 ล้านไร่ คิดเป็น 42% และจากเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 2562 จำนวน 27.27 ล้านไร่ จะได้รับการฟื้นฟู 3.32 ล้านไร่ หรือ 12.17% ของเป้าหมาย
สำหรับสถานการณ์น้ำเช้าวันที่ 6 ส.ค. 2567 เขื่อนเจ้าพระยา มีการระบายน้ำไหลผ่านเขื่อน 800 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้น เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำป่าสัก 80 ลบ.ม./วินาที ไหลผ่านเขื่อนกระรามหก 78 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลมาบรรจบที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยาเฉลี่ย 904 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้เตือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนแม่น้ำน้อย (ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่) จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด