แจ้งเตือนฝนตกหนัก 21 จังหวัด เตรียมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือนให้เตรียมรับมือน้ำท่วม-น้ำป่าไหลหลากทั่วประเทศในพื้นที่ 21 จังหวัด ช่วงวันที่ 20-25 ส.ค. 2566

พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ตามประกาศของ กอนช. ฉบับที่ 15 ระบุว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำ จากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 20 – 25 ส.ค. 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้

1. ภาคเหนือ จ.เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย ขุนตาล และแม่สรวย) เชียงใหม่ (อำเภอฝาง และแม่อาย) น่าน (อำเภอนาหมื่น และเวียงสา) เพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ)

2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี) บึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า) นครพนม (อำเภอ ท่าอุเทน และศรีสงคราม) สกลนคร (อำเภอพรรณานิคม สว่างแดนดิน และอากาศอำนวย) อุดรธานี (อำเภอบ้านดุง) อำนาจเจริญ (อำเภอเมืองอำนาจเจริญ และหัวตะพาน) สุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์) ศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ) อุบลราชธานี (อำเภอเขื่องใน)

3. ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แก่งหางแมว และขลุง) ตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่ คลองใหญ่ และเกาะช้าง)

4. ภาคใต้ จ.ระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) พังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ทับปุด และท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) สตูล (อำเภอเมืองสตูล และละงู) ตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน และวังวิเศษ) สุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม และบ้านตาขุน)

ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศประจำวันที่ 18 ส.ค. 2566 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองด้วย

ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากในช่วงระหว่างบ่ายถึงค่ำ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด