เอธิโอเปียแห้งแล้งถึงขนาดเคยเกิดวิกฤตการณ์ภัยอดอยากที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก แม้ว่าทุกวันนี้แผ่นดินของเอธิโอเปียจะเริ่มเป็นสีเขียวขึ้นมาอีกครั้ง แต่สิ่งที่ อาร์ตูโร วิตตอรี สถาปนิกและนักออกแบบอุตสาหกรรมชาวอิตาลีได้พบกับตาตัวองที่นั่นอาจทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิด
เขาบอกว่า “การไปเยี่ยมชุมชนเล็ก ๆ ที่ห่างไกลจากที่ราบสูงในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเอธิโอเปียในปี 2556 ผมได้เห็นความจริงอันน่าทึ่งนี้ นั่นคือ การขาดแคลนน้ำดื่ม ชาวบ้านอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สวยงามแต่มักไม่มีน้ำประปา ไฟฟ้า และห้องสุขา”
เขาจึงเกิดความคิดที่จะช่วยคนท้องถิ่นขึ้นมา ในฐานะสถาปนิกและนักออกแบบเขาจึงเริ่มคิดหาวิธีที่จะสร้างแหล่งน้ำเพื่อช่วยคนเหล่านี้ หลังจากการออกแบบและทดลองนานหลายปีและหลายต่อหลายครั้ง เขาก็ได้ดีไซน์สุดท้ายที่เขาตั้งชื่อว่า Warka Tower ในปี 2558 หลังแรกได้ถูกสร้างขึ้นในดอร์เซซึ่งเป็นชุมชนชนบททางตอนใต้ของเอธิโอเปีย
Warka Tower คือะไร? ออกแบบมาเพื่อดักน้ำจากบรรยากาศ (ฝน หมอก น้ำค้าง) โดยเป็นแหล่งน้ำทางเลือกสำหรับประชากรในชนบทที่ยากจะเข้าถึงน้ำดื่มจากแหล่งอื่น ๆ แต่เพราะในอากาศมีไอน้ำอยู่จำนวนหนึ่งเสมอ โดยไม่คำนึงถึงอุณหภูมิแวดล้อมในท้องถิ่นและความชื้น ทำให้สามารถผลิตน้ำจากอากาศได้เกือบทุกที่ในโลกถ้ามีเครื่องมือ
แต่ถ้าเป็นสถานที่ที่มีหมอกหรือความชื้นสูงคือสถานที่ที่ดีที่สุดในการติดตั้ง Warka Tower ความสามารถในการเก็บน้ำขึ้นอยู่กับสภาพอากาศอย่างมาก โชคดีที่เอธิโอเปียป็นที่ราบสูงที่แม้จะแห้งแล้ง แต่มีหมอกและน้ำค้างมากมาย เพียงแค่ติดตั้ง Warka Tower ก็สามารถตั้งเป้าผลิตน้ำดื่มจำนวน 40 ถึง 80 ลิตรทุกวันเพื่อใช้ในชุมชนได้
Warka Tower ใช้วัสดุท้องถิ่นที่มีน้ำหนักเบา และเป็นวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ รวมถึงวัสดุรีไซเคิลได้ 100% (ไม่มีคอนกรีต พลาสติก หรือเหล็ก) ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า เช่น ไม้ไผ่ ใบปาล์มต้นปาล์มชนิดหนึ่ง เถาวัลย์ ฟางแห้ง กกแห้ง นำมาสานขึ้นเป็นรูปเหมือนปล่องโดยมีข่ายที่คลุมไว้ทำหน้าเป็นตัวดักน้ำในอากาศ
เหมือนน้ำค้างที่เกาะตามพื่นผิวต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างที่ราบสูงเอธิโอเปียมีอากาศที่เย็นพอสมควร เมื่อน้ำในอากาศเกิดการควบแน่นแล้วเกาะตามตาข่ายของตัวโครงสร้างมันจะค่อย ๆ หยดลงมาแล้วไหลมารวมกันที่จุดรองรับ รวมแล้วจะมีการส่งท่อต่อไปยังจุดพักน้ำและกรองน้ำเพื่อให้บริการน้ำดื่มกับคนในชุมชนต่อไป
แม้จะมีต้นแบบที่ทำงานได้จริงแล้ว แต่พวกเขายังไม่หยุดยั้งการพัฒนาปรับปรุงให้มันดีขึ้น โดยสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ Warka Tower เวอร์ชัน 1 – 3 แม้จะมีขนาดต่างกัน แต่สามารถสร้างได้ในหนึ่งวันโดยทีมงาน 6 คน หลังการติดตั้ง ในการยกหอขึ้นลงเพื่อการบำรุงรักษา ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมงโดยทีมงานเดียวกัน
และหลังจากการก่อสร้างโครงการนำร่อง Warka Tower แห่งแรกในเอธิโอเปีย ในปี 2558 พวกเขาตระหนักได้อย่างรวดเร็วว่าปัญหาที่คล้ายคลึงกันมีอยู่ในชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ขณะนี้ ทีมงานกำลังดำเนินการอยู่ในแคเมอรูน และกำลังหาทางช่วยเหลือชุมชนห่างไกลในชนบทในเฮติ และประเทศโตโก
มันไม่ใช่แค่น้ำเท่านั้น แต่โครงการ Warka Water ยังมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มากมาย มันช่วยลดการตายของทารก ส่งเสริมสภาพสุขภาพ ปรับปรุงความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ให้เวลาผู้หญิงดูแลลูกมากขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลาหาแหล่งน้ำ
มันยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นรักษาวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น อนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศธรรมชาติในท้องถิ่น ช่วยสอนเด็กสุขศึกษาขั้นพื้นฐาน และฝึกผู้คนให้รู้จักวิธีการก่อสร้างที่ยั่งยืน
พวกเขาจึงไม่ใช่แค่สร้าง Warka Tower เท่านั้น แต่กำลังสร้างชุมชนคุณภาพจากชุมชนที่ด้อยโอกาสสุด ๆ ในประเทศที่เคยยากจนสุด ๆ เมื่อมีน้ำจาก Warka Tower แล้ว สิ่งที่จะตามมาคือหมู่บ้าน Warka Village
ชุมชนโฉมใหม่จะช่วยให้ผู้คนไม่ต้องถูกกดดันด้านปัญหาสิทธิมนุษยชนพื้นฐานจากการถูกบีบให้ออกจากชุมชน และสามารถอยู่ในแผ่นดินบรรพชนต่อไปด้วยการพัฒนาชุมชนด้วยแนวทางที่ยั่งยืน
ข้อมูลและภาพจาก https://www.warkawater.org/