‘วราวุธ’ ชูไทยผู้นำแก้โลกร้อนหนุนเอกชนปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐขายคาร์บอนเครดิตลดก๊าซเรือนกระจก

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงได้ออกระเบียบการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ของรัฐ โดยผ่านกลไกของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: หรือโครงการ T-VER

โครงการนี้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศโดยความสมัครใจ และสามารถนำปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น หรือ “คาร์บอนเครดิต” ภายใต้โครงการ T-VER ไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้

อบก. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยจะต้องเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการลด/ ดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ภาคป่าไม้มีบทบาทสำคัญต่อการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนขนาดใหญ่ของโลก การอนุรักษ์และปลูกป่าจึงเป็นกลไกสำคัญช่วยกักเก็บคาร์บอน บรรเทาความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนได้ในทุกปีจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% พร้อมทั้งผลักดันการค้าคาร์บอนเครดิต เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่นควบคู่กับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนสามารถร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกในชุมชนได้

ทั้งนี้ กรมป่าไม้ได้ดำเนินมาตรการที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ, พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำ 1,2) ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ และป่าชายเลน เป็นต้น 2. การส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ ได้แก่ พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ป่าไม้ถาวร พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เอกชนที่ดินกรรมสิทธิ์

และ 3. การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ถึง 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

“เชื่อมั่นว่า ด้วยศักยภาพของคนไทยจะทำให้ประเทศสามารถเป็นผู้นำในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อความเขียวขจีและความอุดมสมบูรณ์ของประเทศไทยให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป”รมว.ทส. กล่าว

อนึ่ง นายวราวุธกล่าวได้ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ความสำคัญของทรัพยากรป่าไม้ต่อยุทธศาสตร์ชาติด้านการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสืบสานพระราชดำริพระพันปี” และร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ระหว่าง กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2565

สำหรับโครงการ T-VER อธิบดีกรมป่าไม้มีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการขอเข้าร่วมโครงการ T-VER กับกรมป่าไม้ และลงนามในหนังสือ โดยมีคณะกรรมการมีหน้าที่กลั่นกรองและสรุปความเห็นต่อข้อเสนอโครงการ T-VER และสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า มีการตั้งเป้าหมายจะปลูกป่าเพื่อนำไปขึ้นทะเบียนโครงการและการรับรองคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานT-VER ให้ได้ 1 ล้านไร่ภายในปี 2567 จากปัจจุบันที่ดำเนินการได้แล้วประมาณ 5 แสนไร่ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ป่าในโครงการพัฒนาดอยตุงด้วย

ก่อนหน้านี้ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวในงานสัมมนาเครือข่ายประชาชนเพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านป่าไม้และที่ดิน วันที่ 22 ส.ค. 2565 ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนหนึ่งว่า รัฐและเอกชนต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกวิธีการที่ง่ายที่สุด ไวที่สุด และต้นทุนต่ำ คือการปลูกพื้นที่ป่าชดเชยปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ทำให้มีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่ป่าจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 55 และจะปลูกป่าเพิ่มจำนวน 11 ล้านไร่ ในปี 2580

ซึ่งจะต้องเป็นการปลูกป่าในพื้นที่ใหม่และผ่านการรับรองจาก อบก. และมีการเปิดให้เอกชนเข้ามาจองพื้นที่ป่าเพื่อปลูกป่าคาร์บอนเครดิต มีบทเรียนจากต่างประเทศทั่วโลกเกี่ยวกับโครงการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอน เช่น หลายโครงการที่เกิดขึ้นในแถบแอฟริกา ชาวบ้านเผชิญกับภาระในการดูแลป่าที่มากเกินกว่าที่ตกลงกันไว้กับทางรัฐบาล นำไปสู่การที่ชุมชนสูญเสียความสามารถในการจัดการและดูแลตนเอง และกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน

ดังนั้น ต้องคำนึงถึงประชาชนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและจะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ จากทางภาครัฐและเอกชน เกณฑ์พื้นฐานของการจัดการป่าที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ควรเปลี่ยนนิยามและการจัดการบูรณาการให้เฉพาะเจาะจงเชิงนิเวศวัฒนธรรม เปลี่ยนระบบผูกขาดอำนาจ มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ข้างล่าง และแนวระนาบ และคืนสิทธิชุมชนที่มีวิถีการดำรงชีพและวัฒนธรรมจากป่า คืนสิทธิผู้มีบทบาทดูแลป่าเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง…

ขณะที่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามเครือข่ายเกษตรกรและกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายด้านที่ดิน-ป่าไม้ของรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ถึงผู้นำในการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ในระยะเวลาเพียง 8 ปี (รัฐบาลประยุทธ์) มีประชาชนต้องถูกดำเนินคดีมากกว่า 34,692 คดี ต้องเสียที่ดิน ต้องตายทั้งเป็น ถูกกดขี่จากนโยบายทวงคืนผืนป่า ถูกรัฐไทยประกาศเขตป่าทับซ้อนที่ดินที่อยู่มาก่อนตั้งแต่บรรพบุรุษ

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย