หลายประเทศทั่วโลกนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ปกป้องสายพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น วาฬหลังค่อม โคอาล่า และเสือดาวหิมะ เครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยสนับสนุนงานของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ตั้งแต่การลาดตระเวนป้องกันการรุกล้ำไปจนถึงการเฝ้าติดตามสัตว์ป่าด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้อัลกอริธึมและแบบจำลองในการแก้ปัญหาซึ่งได้ผลที่รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
รายงานล่าสุดของ Wildlabs.net พบว่า AI เป็นหนึ่งในสามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่สำหรับการอนุรักษ์ ตั้งแต่กล้องดักจับและภาพถ่ายดาวเทียมไปจนถึงการบันทึกเสียง มีตัวอย่าง 5 โครงการ AI ที่น่าสนใจ เช่น
- หยุดการลักลอบล่าสัตว์
โครงการ Connected Conservation Initiative จาก Game Rangers International (GRI) กรมอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่าของแซมเบีย และพันธมิตรใช้ AI เพื่อป้องกันการบุกรุกอุทยานแห่งชาติ Kafue โดยการสร้างรั้วเสมือนความยาว 19 กม. ข้ามทะเลสาบ Itezhi-Tezhi ด้วยการติดกล้องอินฟราเรด (FLIR) บันทึกการเข้าออกของเรือในเขตอุทยานทุกลำทั้งกลางวันและกลางคืน
อุทยานแห่งชาติ Kafue ของแซมเบียเป็นที่อยู่ของช้างสะวันนาในแอฟริกามากกว่า 6,600 ตัว ครอบคลุมพื้นที่ 22,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีการลักลอบล่าสัตว์อย่างต่อเนื่อง เช่น การทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบ Itezhi-Tezhi ที่บริเวณรอบ ๆ อุทยานซึ่งมีการปลอมตัวเป็นชาวประมงเพื่อเข้าและออกอุทยานโดยไม่ที่ไม่สามารถตรวจพบ
การติดตั้งกล้องดักจับในปี 2019 ช่วยให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานสามารถเฝ้าระวังทางเข้าออกขนาดใหญ่จากการลักลอบที่ผิดกฎหมายทั่วทะเลสาบในอุทยานได้สามารถลดความจำเป็นในการเฝ้าระวังด้วยตนเองได้ตลอด 24 ชั่วโมง
- ติดตามการสูญเสียแหล่งน้ำ
บราซิลสูญเสียแหล่งน้ำไปมากกว่า 15% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทั้งแม่น้ำ ทะเลสาบ และพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศ เนื่องจากทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบที่เลวร้ายลงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเดือน ส.ค. 2021 โครงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของน้ำทั่วประเทศ (MapBiomas) ของ WWF-Brasil ใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วยแบบจำลองอัตโนมัติ (Machine Learning (ML) ประมวลผลภาพมากกว่า 150,000 ภาพจากดาวเทียมของนาซ่าตั้งแต่ช่วงปี 1985 ถึง 2020 บนพื้นที่ 8.5 ตารางกิโลเมตรของดินแดนบราซิล
พบว่าแม่น้ำเนโกรซึ่งเป็นสาขาใหญ่ของแม่น้ำแอมะซอน และเป็นหนึ่งใน 10 แม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดของโลกโดยปริมาตร สูญเสียน้ำผิวดินไป 22% และพื้นที่ Pantanal ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกสูญเสียน้ำผิวดินไปแล้ว 74% สร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศมหาศาล (มีพืชและสัตว์ 4,000 สายพันธุ์อาศัยอยู่รวมถึงเสือจากัวร์ สมเสร็จ และอนาคอนดา)
- พื้นที่คุ้มครองเพื่อปกป้องวาฬ
การหาตำแหน่งวาฬหลังค่อมในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่นั้นเป็นเรื่องยาก แต่หากสามารถสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพื่อปกป้องวาฬได้ก็จะช่วยปกป้องพวกมันได้ องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ในหมู่เกาะแปซิฟิกจึงนำเครื่องบันทึกเสียงมาใช้ตรวจสอบประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่เกาะห่างไกลและเข้าถึงยาก
ในปี 2018 NOAA ร่วมมือกับ Google AI for Social Good’s bioacoustics สร้างแบบจำลอง AI ที่สามารถจดจำเสียงของวาฬหลังค่อม ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการระบุเสียงเพลงของวาฬ และสามารถรับรู้การมีอยู่ของพวกมันในหมู่เกาะฮาวาย หมู่เกาะมาเรียนาและแนวปะการังคิงแมนซึ่งไม่เคยมีการบันทึกการมีอยู่ของมันมาก่อน
แอน อัลเลน นักสมุทรศาสตร์ด้านการวิจัย NOAA กล่าวว่า “ในช่วง 14 ปี สามารถบันทึกเสียงของวาฬไว้ได้ประมาณ 190,000 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากและต้องใช้เวลานานในการระบุเสียงของวาฬด้วยตนเอง”
- การปกป้องโคอาล่า
จำนวนโคอาล่าในออสเตรเลียกำลังลดลงอย่างรุนแรงเนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย การถูกสุนัขบ้านทำร้าย อุบัติเหตุบนท้องถนน และไฟป่า แกรนท์ แฮมิลตัน รองศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ ได้สร้างศูนย์ AI เพื่อการอนุรักษ์โคอาลาและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อื่น ๆ โดยการใช้โดรนและถ่ายภาพอินฟราเรด โดยแฮมิลตันใช้ระบบนี้หลังจากเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ของออสเตรเลียในปี 2019 และ 2020 เพื่อระบุจำนวนโคอาล่าที่รอดตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะ Kangaroo
ปรากฎว่า อัลกอริธึม AI สามารถวิเคราะห์จากภาพถ่ายวิดีโอนับไม่ถ้วนเพื่อสำรวจจำนวนประชากรโคอาล่าและสัตว์อื่น ๆ จำนวนมากในป่าทึบ ซึ่งระบบนี้สามารถช่วยงานกลุ่มนักอนุรักษ์ และองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการปกป้องและติดตามชนิดพันธุ์สัตว์ในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้อย่างมาก
- การสำรวจสปีชีส์
ในปี 2020 บริษัท Appsilon ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิงในสกอตแลนด์และอุทยานแห่งชาติของกาบอง พัฒนาอัลกอริธึมตรวจสอบความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานแห่งชาติโลเปและวากาของกาบอง ซึ่งเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในลุ่มน้ำคองโกที่เป็นป่าฝนขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
การใช้อัลกอริทึม AI วิเคราะห์จากภาพถ่ายมากกว่า 50,000 ภาพที่รวบรวมจากกล้องดักจับ 200 ตัวซึ่งกระจายอยู่ทั่วป่า 7,000 ตารางกิโลเมตร โดยสามารถจำแนกภาพได้มากถึง 3,000 ภาพต่อชั่วโมง และแม่นยำถึง 96% ซึ่งช่วยนักอนุรักษ์สามารถตรวจสอบและติดตามสัตว์ป่าและตรวจจับความผิดปกติหรือสัญญาณเตือนได้รวดเร็ว
นอกจากนั้นช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุและตอบสนองต่อภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหลังจากโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการติดตั้งกล้องดักจับในอุทยานแห่งชาติโลเปและวากาในกาบอง จากนั้นองค์กรต่าง ๆ ทั่วแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางได้ติดตั้งกล้องดักจับเพิ่มอีกหลายร้อยตัวเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูล
การนำ AI มาใช้ป้องกันการลักลอบล่าสัตว์และปกป้องแหล่งอนุรักษ์ทางธรรมชาติมีกรณีที่สนใจอีกมาก เช่น ลิลลี่ ฉู นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่กำลังศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำวิจัยแบบจำลองการคาดการณ์เพื่อป้องกันการลักลอบล่าสัตว์ซึ่งถูกนำไปใช้กับพื้นที่ที่ได้รับการคุ้มครอง 800 แห่งทั่วโลก โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์: https://lily-x.github.io/
อ้างอิง:
Graeme Green (Feb 21, 2022) Five ways AI is saving wildlife – from counting chimps to locating whales . The Guardain
Lily Xu. (Aug 23, 2021) “How do I use AI to fight wildlife crime?” Wildlabs.net