สหรัฐปฏิวัติพลังงานแห่งอนาคต เลิกพึ่งพาอุตสาหกรรมฟอสซิล? นับหนึ่งสู้โลกร้อน-แก้ปัญหาปากท้อง

ถ้าใครที่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเวลานี้บ้านเราข้าวของราคาแพงไปเสียทุกอย่าง ต้องไปติดตามการผ่านกฎหมายการควบคุมเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act of 2022) โดยรัฐสภาของสหรัฐ และประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา กฎหมายนี้มีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ไม่ใช่กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ เพราะเนื้อในกำหนดเป้าการลดค่าใช้จ่ายด้านยา และขึ้นภาษีกับคนรวยเป็นหลัก

โจทย์การแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของสหรัฐคือปฏิวัติการลงทุนพลังงานใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับการแก้ปัญหาของแพงและลดต้นทุนที่ประชาชนแบกรับนั่นเอง การออกพระราชบัญญัติการควบคุมเงินเฟ้อของสหรัฐไม่แยกเรื่องจากเรื่องพลังงานออกจากภาวะประชาชน แต่ผลักดันการให้มีการผลิตและใช้พลังงานสะอาดในอนาคตมาแก้ปัญหาหลักของโลกปัจจุบัน นั้นคือลดพลังงานฟอสซิลที่เป็นตัวการก่อโลกร้อน

เมื่อของแพงมาจากราคาพลังงานที่แพงขึ้น สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ จึงต้องการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่ผันผวนง่ายและต้องพึ่งพาประเทศอื่น (เช่น ตัวอย่างจากสงครามในยูเครนทำให้พลังงานแพงและข้าวของแพงไปด้วย)

อดีตรองประธานาธิบดี อัล กอร์ ของสหรัฐ ซึ่งเป็นนักรณรงค์ปัญหาโลกร้อนให้สัมภาษณ์กับ The Guardian เมื่อเร็วๆ นี้ว่า พระราชบัญญัติการควบคุมเงินเฟ้อ คือการ ‘เปลี่ยนประวัติศ าสตร์’ หรือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการต่อสู้และเผชิญหน้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยใช้พลังงานหมุนเวียนมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ทำกำไรมหาศาลและประชาชนที่ต้องบริโภคของแพง

พระราชบัญญัติการควบคุมเงินเฟ้อของสหรัฐ มีมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ เป็นร่างกฎหมายที่ผ่านโดยรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 117 เมื่อเดือน ส.ค. 2565 และไบเดนได้ลงนามใช้บังคับไปแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ลดการขาดดุล ลดราคายาที่ต้องสั่งโดยแพทย์ และลงทุนในการผลิตพลังงานในประเทศ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการแก้ปัญหาด้านพลังงานสะอาด

การประเมินเบื้องต้นโดย Rhodium Group ซึ่งเป็นผู้ให้บริการวิจัยอิสระระบุว่า กฎหมายตัวนี้จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับชาติ 31-44% ต่ำกว่าระดับปี 2005 ภายในปี 2030 เทียบกับ 24-35% ภายใต้นโยบายปัจจุบัน

การสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาด นอกจากจะช่วยกู้โลก ลดต้นทุนให้ประชาชนแล้ว ยังช่วยเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนกว่าด้วย แบบจำลองจากกลุ่มนวัตกรรมพลังงานที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือ Energy Innovation ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการวิจัยเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน ได้แสดงให้เห็นว่าร่างกฎหมายนี้จะนำไปสู่การสร้างงานเพิ่มเติม 1.4 ล้านถึง 1.5 ล้านตำแหน่ง และเพิ่ม GDP 0.84–0.88% ในปี 2030

การสร้างแบบจำลองจากของสถาบันวิจัยที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด Resources for the Future แสดงให้เห็นว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะลดต้นทุนพลังงานค้าปลีกลง 5.2 ถึง 6.7% ในช่วงระยะเวลา 10 ปี ส่งผลให้ประหยัดได้ 170–220 ดอลลาร์ต่อปีสำหรับครัวเรือนในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ย แบบจำลองยังระบุด้วยว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะส่งผลให้ความผันผวนของราคาไฟฟ้าลดลง

นี่คือวิธีแก้ปัญหาของแพงแบบสหรัฐฯ ที่ไม่ใช่แค่ควบคุมราคาในระยะสั้น หรืออธิบายสาเหตุของแพงแบบข้างๆ คู แต่ได้ผลักดันกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือทำให้ราคาของถูกลงในระยะยาวด้วย อัล กอร์ จึงบอกว่านี่คือเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของอเมริกา

รัฐบาลไบเดนและสหรัฐจะไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ต้องติดตาม แต่ย้อนมามองนโยบายการแก้ปัญหาราคาสินค้าและพลังงานแพงในบ้านเราแล้ว คงพอคาดเดากันได้ว่า ประวัติศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาเหล่านี้ในช่วงที่ผ่านมาถูกบันทึกให้รับรู้แบบไหน และแนวโน้มอนาคตจะเป็นอย่างไร ใคร (ตระกูลใด) ยิ่งสะสมความมั่งคั่งมากขึ้น ประชาชนโดยทั่วไปอยู่อย่างมีความหวังมากน้อยเพียงใด?

อ้างอิง
• Oliver Milman. (12 Aug 202). “Al Gore hails Biden’s historic climate bill as ‘a critical turning point’”. The Guardian.
• “A Congressional Climate Breakthrough”. Rhodium Group. Retrieved July 30, 2022.
• “Modeling The Inflation Reduction Act Using The Energy Policy Simulator”. Energy Innovation. Retrieved August 1, 2022.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่