สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ จับมือเครือข่ายสัมมนาให้ความรู้แนะองค์กรสมาชิกเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ป้องกันการฟอกเขียว
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) จัดสัมมนา Enhancing Corporate Sustainability Management Policies and Practice เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับองค์กรสมาชิกเครือข่ายฯ เกี่ยวกับความสำคัญของการบริหารจัดการองค์กร และการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน โดยมีบริษัทจากกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงสถาบันการเงิน สถาบันวิจัยให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนกว่า 150 ราย
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ผู้ช่วยบริหารประธานคณะผู้บริหาร และรองกรรมการ ผู้จัดการอาวุโส สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวเปิดงานโดยระบุถึงความสำคัญของการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนองค์กร ทั้งด้านนโยบายและแนวปฏิบัติ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนและรับผิดชอบ สำหรับองค์กรธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ ได้ย้ำว่า การเปิดเผยข้อมูลและรายงานความยั่งยืนองค์กรเป็นสิ่งที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคม UNGCNT ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากนำมาใช้วัดและประเมินผลการทำงานขององค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนขององค์กร
ดร.เนติธร ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ติดตาม ตรวจสอบการรายงานที่กล่าวอ้างเกินจริง จนกลายเป็นการฟอกเขียว หรือ Green washing ซึ่งจะกระตุ้นให้แต่ละองค์กรพยายามแข่งขันกันทำความดี หรือ Race to the Top อย่างแท้จริง
“ทุกฝ่ายควรร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรม หรือนำ AI มาวิเคราะห์ข้อมูล จัดทำรายงาน เพื่อให้เกิดความแม่นยำ รวมถึงต่อยอดข้อมูลและองค์ความรู้ได้ ซึ่งจะช่วยเร่งให้มีการดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ” ดร. เนติธร กล่าว
ด้านนายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) และประธานอนุกรรมการด้าน Implementation & Engagement เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) กล่าวว่า การดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรจะมีส่วนช่วยให้องค์กรทราบถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยมาจากกิจกรรมต่างๆ และสามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญ
พร้อมทั้งสามารถกำหนดเป็นกลยุทธ์ เพื่อนำไปสู่แนวทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กร Carbon Neutral หรือ Net Zero Emissions ได้ โดยภาคธุรกิจสามารถนำปัจจัยด้านความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปผนวกเข้ากับกลยุทธ์และการบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากล
“การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับรายงานด้านความยั่งยืนขององค์กรจะดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ที่สนใจลงทุนในบริษัทที่คำนึงถึงความยั่งยืน ทั้งของกิจการและสังคมโดยรวม” นายแดน กล่าว
ในงานดังกล่าว ยังมีวงเสวนาในหัวข้อ Enhancing corporate sustainability disclosure and increasing corporate value โดย น.ส.อกิโกะ อิชิอิ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านพลังงานและความยั่งยืน สถาบันวิจัยมิสซูบิสชิ ประเทศญี่ปุ่น นายวรวัฒน์ ศรียุกต์ ผู้อำนวยการด้านบริหารองค์กรเพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล นายสันทัด ศรีจารุพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืนองค์กร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ภูมิภาคเอเชีย บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ UNGCNT
ทั้งนี้ ทุกองค์กรได้แบ่งปันประสบการณ์ในการจัดทำรายงาน เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยชี้ว่า การดำเนินงานในช่วงแรกอาจยุ่งยากและท้าท้าย แต่นี่คือโอกาสสำหรับผู้ที่เริ่มก่อน ที่สำคัญคือ องค์กรสามารถกำหนดขอบเขตของการเปิดเผยหรือจัดทำรายงานความยั่งยืนได้ตามความพร้อม
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญและประโยชน์ของเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนว่า นอกจากจะตอบสนองความต้องการของนักลงทุนแล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการความเสี่ยง ตอบโจทย์ลูกค้าและคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เสริมขีดความสามารถการแข่งขันให้กับองค์กร และช่วยเร่งความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนความยั่งยืนของประเทศและของโลกด้วย