อันโตนิโอ กูแตร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) เผยว่า ปีที่แล้วเพียงปีเดียว การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6% สู่ระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ในขณะที่การปล่อยถ่านหินเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุด
กูแตร์เรสกล่าวในการปราศรัยที่การประชุมสุดยอดความยั่งยืนของ “อีโคโนมิสต์” (Economist Sustainability Summit) สื่อด้านเศรษฐกิจและการเมืองของอังกฤษ ว่า “ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขในกลาสโกว์” ซึ่งหมายถึงการประชุม COP26 ครั้งล่าสุด และชี้ว่า “อันที่จริงปัญหากำลังเลวร้ายลง”
ในขณะที่โลกร้อนขึ้นถึง 1.2 องศา และภัยพิบัติจากสภาพอากาศบีบบังคับให้ประชาชน 30 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่ กูแตร์เรสเตือนว่า “เรากำลังเดินมุ่งไปสู่หายนะทางสภาพอากาศอย่างคนไร้สติ” และชี้ว่า “ในโลกที่เชื่อมต่อกันทั่วโลก ไม่มีประเทศและองค์กรใดสามารถเอาตัวรอดความโกลาหลขนาดนี้ได้”
ความท้าทายของโลกคือการฟื้นตัวของโควิดที่ “ไม่สม่ำเสมออย่างน่าตกใจ” อัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ และผลกระทบจากสงครามของรัสเซียในยูเครนที่เสี่ยงต่อตลาดอาหารและพลังงานทั่วโลก ทั้งหมดนี้มีผลอย่างมากต่อการกำหนดเป้าหมายสภาพภูมิอากาศโลก
แต่ทั้งหมดนี้ สงครามในยูเครนส่งผลกระทบที่สุด เพราะประเทศเศรษฐกิจใหญ่ดำเนินกลยุทธ์ที่เรียกว่า “ทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้” เพื่อหาน้ำมันและก๊าซมาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลของรัสเซีย การทุ่มเทแบบสุดตัวแบบนี้อาจทำให้โลกต้องหันมาพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลในระยะยาวกันอีก และทำให้หมดหวังกับการป้องกันไม่ให้โลกร้อนขึ้นอีก 1.5 องศา
กูแตร์เรสบอกว่า “ประเทศต่าง ๆ อาจถูกครอบงำจากช่องว่างการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลในทันทีทันใด (เพื่อแทนที่น้ำมะนและก๊าซจากรัสเซีย) จนพวกเขาละเลยหรือไม่ได้จำกัดนโยบายการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล” พร้อมกับเตือนว่า “นี่คือความบ้าคลั่ง”
แทนที่จะ “เหยียบเบรก” ในการขจัดคาร์บอนของเศรษฐกิจโลก เลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้ทุกคน “เหยียบคันเร่งเพื่อมุ่งสู่อนาคตพลังงานหมุนเวียน” เริ่มต้นด้วยการเร่งเลิกใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล การดำเนินการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรมและยั่งยืน และเสริมสร้างแผนภูมิอากาศของประเทศ
ในขณะที่หลายประเทศเหล่านี้ได้ดำเนินการอย่างมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 แต่ก็มี “หยิบมือหนึ่งที่ต้านทาน เช่น ออสเตรเลีย” ซึ่งออสเตรเลียถูกตำหนิมาโดยตลอดว่าไม่พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินที่สำคัญ
เลขายูเอ็นกล่าวว่าหากเราไม่ต้องการที่จะ “บอกลา 1.5 (องศา) …เราต้องไปโฟกัสที่แหล่งที่มา (ของปัญหาการใช้พลังงานฟอสซิล) คือ G20” (กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ) โดยชี้ว่า G20 คิดเป็น 80% ของการปล่อยมลพิษทั่วโลก
กูแตร์เรสบอกว่าทุกประเทศต้องเลิกชี้นิ้วโทษกันไปโทษกันมา ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องไม่สร้างภาระให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลง หรือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ไม่ควรตอบโต้ด้วยการบอกว่าประเทศพัฒนานั่นแหละที่ส่งออกอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ เพื่อแลกกับสินค้าราคาถูกของประเทศตลาดเกิดใหม่
การช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เปลี่ยนจากถ่านหินเป็นพลังงานหมุนเวียนต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ดังนั้น “ประเทศที่พัฒนาแล้ว ธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี สถาบันการเงินเอกชน และบริษัทที่มีความรู้ด้านเทคนิค ล้วนต้องร่วมมือกัน…เพื่อให้การสนับสนุนในวงกว้างและรวดเร็วแก่เศรษฐกิจที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง”
และในขณะที่ทุกประเทศในกลุ่ม G20 ตกลงที่จะหยุดการจัดหาเงินทุนถ่านหินในต่างประเทศ ตอนนี้ G20 ต้องทำมากกว่านั้นโดยต้องรื้อโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานถ่านหินของตนเองด้วย นี่คือ “ความท้าทายสำคัญ” ที่ประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจเกิดใหม่จะต้องร่วมมือกันในทุกประเทศ G20 เพื่อลดการปล่อยมลพิษ
ความจำเป็นก็คือการช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เลิกใช้ถ่านหินอย่างเร่งด่วน เพิ่มการเงินจัดการสภาพภูมิอากาศเพื่อปลดเงินทุนที่จำเป็นหลักล้านล้านดอลลาร์ในการขจัดคาร์บอนในภาคส่วนหลัก ๆ เช่น การขนส่ง การบิน เหล็กกล้า และซีเมนต์ และปกป้องผู้ที่เปราะบางที่สุดด้วยการให้ความสำคัญกับการปรับตัวอย่างเท่าเทียมกัน
กลุ่มคนที่เปราะบางต่อปัญหาสภาพอากาศนี่เองที่จะเผชิญกับความเลวร้ายที่สุดก่อนใคร เขาชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ 1 ใน 3 ของทั่วโลกไม่ได้รับการคุ้มครองโดยระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับภัยพิบัติ โดยในแอฟริกา ประชากร 6 ใน 10 คนไม่ได้รับการคุ้มครองจากการป้องกันนี้
อ้างอิง
- “UN chief warns against ‘sleepwalking to climate catastrophe’”. (21 March 2022). UN.
- Matt McGrath. (21 March 2022). “Climate change: ‘Madness’ to turn to fossil fuels because of Ukraine war”. BBC.