กรมอุทยานฯ สั่งเบรกวิ่งเทรล ผ่าเทือกเขาบรรทัดรุกบ้านสัตว์ป่า กระทบพื้นที่ไข่แดงเขตรักษาพันธุ์

กรมอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้จัดวิ่งเทรลในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จ.พัทลุง หวั่นกระทบบ้านสัตว์ป่าโดยเฉพาะสมเสร็จ และสัตว์หายาก

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2565 นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ยังไม่ได้รับหนังจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) (สบอ.6 สงขลา) ในการขออนุญาตจัดงานวิ่งเทรล Ultra Trail Thailand Series Phatthalung ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด จ.พัทลุง ตามที่มีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 ก.พ.นี้

เครดิตภาพ Supasek Opitakon

“ตอนนี้ได้ขอให้ระงับการจัดกิจกรรมวิ่งเทรลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดออกไปก่อนไม่มีกำหนด เพราะห่วงผลกระทบกับพื้นที่เปราะบางที่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าสงวน เช่น สมเสร็จ รวมทั้งสัตว์ป่าหายากหลายชนิดที่อาศัยในพื้นที่” นายประกิตกล่าวกับไทยพีบีเอสอออนไน์

ก่อนนายประกิตจะสั่งเบรกการจัดวิ่งเทรลดังกล่าว นายสุภเศรษฐ โอภิธากรณ์ ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในเฟซ Supasek Opitakon ว่า ถ้าหากจัดให้มีการแข่งขันใด ๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

โดยขั้นตอนต้องมีการทำหนังสือขออนุญาตมาที่สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯแห่งชาติในวันนี้ (7 ก.พ.) เพราะหลังจากมีกระแสคัดค้านทาง ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) ตั้งคณะกรรมการ 3 คน พิจารณาเสนอให้ว่าจะอนุญาตให้จัดหรือไม่วิ่งเทรลพัทลุงนักวิ่งที่ทำลายธรรมชาติ ทำลายสัตว์ป่า

“ฝากถึงนักวิ่งที่กำลังจะเข้าร่วมวิ่งเทรลพัทลุง ในวันที่ 12-13 ก.พ. 2565 คุณรู้แล้วหรือยังว่าเส้นทางและสถานที่จัดการแข่งขันนั้นโดยเฉพาะเขาล้อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบรรทัด เป็นที่อยู่ของสัตว์สัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์นานาชนิด โดยเฉพาะสมเสร็จ พวกคุณกำลังจะวิ่งเข้าไปกลางบ้านของสัตว์ป่า

เครดิตภาพ Supasek Opitakon

“ผมว่ามีสถานที่อีกเยอะแยะที่จะให้พวกคุณได้ออกกำลังกาย พวกคุณนับพันคนกำลังจะไปเหยียบย่ำบ้านของสัตว์ป่าพร้อมกัน หากพวกคุณยังไม่รู้ก็บอกให้รู้เสียในวันนี้เลยว่า คุณจะเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมกันทำลายธรรมชาติร่วมกันทำลายบ้านของสัตว์ป่า หยุดได้หยุดเลิกได้เลิก
อย่าเอาความสุขของมนุษย์ไปรังแกสัตว์ที่พูดหรือสื่อสารอะไรไม่ได้อีกเลย

“ทุกรอยเท้าของนักวิ่ง ทุกภาพที่กำลังจะถูกสื่อสารออกมาจากงานวิ่งเทรลพัทลุงในครั้งนี้จะบ่งบอกว่าคุณเห็นแก่ตัวกันมากแค่ไหน ตามภาพที่เพื่อนผม ไพริน ปล้องไหม บันทึกไว้ เขาล้อนมีความอุดมสมบูรณ์ระดับโลก พวกคุณยังกล้าจะไปรบกวนกันอีกหรือ”

นอกจากนั้น ยังระบุอีกตอนหนึ่งด้วยว่า “ภาพข้อมูลจากการศึกษาวิจัยของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดมีมากพอ ถ้ายังตัดสินใจ
ให้ใช้เส้นทางเขาล้อนก็จะเคารพการตัดสินใจของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ และคนที่นั้น แต่ถ้าขอได้ อย่าวิ่งเข้าไป อย่าจัดแข่งขันอะไรกันอีก
อย่าเลือกใช้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า สิ่งมีชีวิตอื่น (สัตว์ป่า) เขาไม่เหมือนเเรา พื้นที่ชีวิตเขาเหลือน้อยเต็มที”

ความเห็นเจ้าของเฟซบุ๊ก Parin Plongmai ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการจัดวิ่งเทรลครั้งนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า “…จากประสบการณ์หกปีที่ปีนป่ายคลุกคลี พยายามเก็บภาพถ่ายสัตว์ป่าของที่นี่ แม้นไม่นานพอ แต่ก็พอเห็นในอีกมุมมองนึงนะครับย้ำว่าเป็นความเห็นส่วนตัว อาจไม่ถูกต้องหรือเห็นด้วย ยินดีน้อมรับฟังนะครับผม

เครดิตภาพ Supasek Opitakon

“และขอย้ำว่าไม่ได้มีอคติกับนักกีฬาหรือกลุ่มคนใด ๆทั้งสิ้น กลับเห็นด้วยกับกีฬาชนิดนี้และสิ่งดี ๆกับจังหวัดเรา แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า ทำไมถึงจัดให้วิ่งไปบนยอดเขา ที่เต็มไปด้วยสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากใกล้สูญพันธุ์ไปจากที่นี่แล้ว ทั้งที่โซนด้านล่างก็สวยงามยากลำบากเหมือนกัน

“ถนนบางเส้นที่เชื่อมต่อกับอำเภอต่าง ๆ เช่น อ.ป่าบอน อ.ศรีบรรพต อ.ศรีนครินทร์ก็มีฉากหลังเป็นขุนเขาสวยงามเช่นกัน ทีนี้ทำไมถึงไม่สมควรไปวิ่ง เขาลูกล้อนนมสาว เขาลูกล้อนป่าพรุ เขาเจ็ดยอดหรือเขาหลัก เป็นต้น เพราะขุนเขาเหล่านี้มันเหมือนไข่แดงของแนวเทือกเขาบรรทัด หรือเป็นบ้านหลังสุดท้ายของสัตว์ป่านั่นเอง

“สัตว์ป่ามันโดนบีบโดนกดดัน โดนล่าจากสองฟากฝั่งของเทือกเขา ทั้งจากฝั่งตะวันออกคือพัทลุงและฝั่งตะวันตกคือ จ.ตรัง มันถูกบีบให้ไปอยู่ตรงกึ่งกลางของเทือกเขา ซึ่งถ้าดูในกูเกิลแม็ปจะเห็นว่าแคบมาก ยิ่งสำหรับสัตว์บางชนิดที่ต้องใช้พื้นที่หากินเป็นบริเวณกว้าง ๆ เช่นเสือไฟ สมเสร็จ เลียงผา เสือลายเมฆ ถือว่าแคบมาก

“ซึ่งจากการติดกล้องดักถ่ายพบว่า จะเจอสัตว์ในเขตป่าลึกก่อนขึ้นเขาลูกล้อนที่ระดับความสูง 600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ไล่ไปจนถึงยอดเขาที่ความสูงกว่า 1,200 เมตร สัตว์บางชนิดปกติหากินในที่ป่าชายขอบหรือระดับล่าง เช่น อีเห็น หมูป่า เชื่อมั้ยว่าหมูป่าหนีตายไปหากินบนยอดเขาล้อนที่ระดับพันกว่าเมตร ซึ่งปกติเป็นบ้านของสมเสร็จ เลียงผาและเสือไฟ

“แน่นอนว่ากล้องดักถ่ายไม่ได้ถ่ายได้แค่สัตว์ นักล่าอย่างมนุษย์ก็ติดกล้องมาด้วย ตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงที่ระดับ 800 เมตรเลยทีเดียว ดีที่เหลือส่วนยอดไว้ให้สัตว์ได้หลบภัย พรานป่าเป็นคำตอบได้ดีว่า โซนล่างไม่เหลือสัตว์ให้ล่าอีกแล้ว แทบจะทุกพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย

“เช่น ห้วยขาแข้ง แก่งกระจาน ทับลาน ทุ่งใหญ่นเรศวร จะมีโซนไข่แดงหรือพื้นที่เปราะบางเป็นโซนต้องห้าม พื้นที่เหล่านี้จะไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปเข้าล้ำไปโดยเด็ดขาด คงมีแต่นักวิจัยและเจ้าหน้าที่ ๆ เกี่ยวข้องเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้าไปได้

“ทำไมนักท่องเที่ยวถึงเดินเทรลและค้างคืนได้ละ นักท่องเที่ยวเหล่านี้ส่วนมากเป็นนักนิยมไพรจริง ๆ พวกเขาหลงไหลและใช้เวลาเดินเสพสำผัสธรรมชาติจริง ๆ ถ้าระยะทางเท่ากันนักวิ่งเทรลใช้เวลาสามหรือสี่ชั่วโมงไปกลับอย่างสบาย ๆ แต่นักเดินเทรลหรือนักนิยมไพรเหล่านี้จะค่อย ๆ เดินใช้เวลาเกินวันกว่าจะถึง

“ทีนี้เรายกตัวอย่างง่าย ๆ ถ้ามีเหรียญตกอยู่บนเส้นทางนี้ คุณว่าระหว่างคนวิ่งทำเวลากับคนเดินชมนกชมไม้ถ่ายเห็ดถ่ายแมลง คนกลุ่มไหนมีโอกาสเจอเหรียญมากกว่า กลับกันถ้ามันไม่ใช่เหรียญละ แต่เป็นสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ หนอนแมลง พวกมอสเฟิร์น พันธุ์ไม้หายากละ คนกลุ่มไหนมีสิทธิ์เหยียบย่ำมากกว่ากัน

“และที่สำคัญเหนืออื่นใด คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วม ได้มีงานทำ เพราะคนที่นำทางก็ล้วนเป็นพี่ ๆน้อง ๆ ในพื้นที่ทั้งสิ้น หลาย ๆ คนผันตัวเองจากพรานป่ามาเป็นไกด์นำเที่ยวอย่างถาวร ช่วยลดปริมาณพรานป่าลงได้อย่างงดงาม เงินทุกบาทก็ถึงมือพวกเค้าโดยตรง ไม่ได้ตกอยู่กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง…

“ก่อนหน้าโควิดจะระบาด พวกเค้ามีคิวจองงานแทบจะล้นมืออยู่แล้ว แทบจะไม่ต้องโฆษณาชวนเชื่อใด ๆ เลย เพราะพวกเค้าขายแก่นของธรรมชาติ พวกเค้าขายความจริงที่มีอยู่และอย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ”

ด้านเพจ Ultra Trail Thailand Series Phatthalung ผู้จัดวิ่งได้โพสต์ข้อความอธิบายเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ก.พ. ว่าจากกรณีมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดในการจัดกิจกรรม Ultra Trail Thailand Series Phatthalung โดยเป็นห่วงผลกระทบถึงถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่านั้นทางผู้จัดการแข่งขันมิได้นิ่งนอนใจกับกระแสดังกล่าว และคำนึงถึงข้อนี้เป็นอันดับต้น ๆ

ภายใต้หลักความปลอดภัยต่อธรรมชาติ ความปลอดภัยต่อนักวิ่ง และความปลอดภัยต่อชุมชน โดยกระบวนการสำรวจจัดทำเส้นทางได้ดำเนินการภายใต้กฏหมายและความอนุเคราะห์คำปรึกษาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดตลอดทุกขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ในการจัดกิจกรรมที่ควบคู่ไปกับการรักษาธรรมชาติ ทางผู้จัดการแข่งขันยินดีรับฟังความคิดเห็นข้อห่วงใยจากทุกฝ่ายในการจัดทำแผนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบเส้นทางให้สอดคล้องกับข้อกังวล เพื่อเสนอแนวทางต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดพิจารณาความเหมาะสม

และขอแสดงเจตนารมณ์ในการจัดการแข่งขัน และเจตนารมณ์ในนามนักกีฬาวิ่งเทรลที่มุ่งหมายจะทำกิจกรรมการวิ่งที่ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยไม่สร้างความเดือดร้อนและผลกระทบต่อธรรมชาติอันมีค่า หากมีข้อสรุปและแนวทางที่ชัดเจนจะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการต่อไป

เครดิตภาพจากเฟซบุ๊กเพจ Supasek Opitakon

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่