ตอนที่แล้วผมได้พาท่านไปทัวร์ป่ากลางกรุงโตเกียว (Tokyo Nature Study)
พื้นที่ระบบนิเวศทางธรรมชาติกลางเมืองแห่งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ ซึ่งฐานที่มั่นหลัก ตั้งอยู่ในสวนอุเอโนะ (Ueno Park)
ใครที่เคยไปเยือนสวนอูเอโนะ คงได้สัมผัสความหลากหลายของสิ่งต่างๆ ที่รวมอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ ทั้งซากุระ สระน้ำ เนินเขา ศาลเจ้า สวนสัตว์ โรงโอเปร่าและบัลเลต์ ห้องสมุดหนังสือสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศิลปะ ฯลฯ
ที่เยอะยุ่บยั่บมาก คือ “พิพิธภัณฑ์”
แค่พิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะ นี่ก็นับแทบไม่ไหว ทั้งยังเป็นที่ตั้งของกลุ่มพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่น ฯลฯ
นั่นจุดประกายความสงสัยว่า เป็นมากันยังไงถึงได้มาชุมนุมอะไรกันขนาดนี้
เราย้อนเวลากลับไปค้นคำตอบกันดีไหมครับ
ย้อนไปสมัยเอโดะ (1603 – 1867 หรือ พ.ศ. 2146 – 2410) ที่ดินบริเวณนี้เป็นพื้นที่วัด
อุเอโนะ เป็นที่ตั้งของวัดคันเอจิ (Kan’ei-ji) วัดประจำตระกูล โทคุกาว่า (Tokugawa) ตระกูลของโชกุนคนแรกในสมัยเอโดะ ก่อตั้งในปี 1625 (พ.ศ. 2168 ต้นสมัยเอโดะ) มีอาณาบริเวณใหญ่โตถึง 1,188,000 ตารางเมตร
โครงสร้างการกำหนดพื้นที่ในสมัยเอโดะ มีปราสาทโชกุนตรงกลาง ซามูไรถัดมา ชาวบ้านถัดมาอีกที แล้วค่อยโอบล้อมด้วยวัดและศาลเจ้าในชั้นนอกสุด
ในปลายสมัยเอโดะ เกิดสงครามภายในประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า สงครามโบชิน สมรภูมิสุดท้ายเกิดขึ้นที่อุเอโนะ
ผลของการรบพุ่งทำให้สิ่งปลูกสร้างบริเวณวัดอันเก่าแก่แห่งนี้ราบเป็นหน้ากลอง ยังดีที่หลงเหลือ 2-3 สิ่ง มาจนถึงปัจจุบัน
สิ้นสุดสงคราม คืออวสานเอโดะ และก้าวแรกแห่งยุคปฏิรูปเมจิ
อุเอโนะ เกือบชะตาขาด และต้องมีอันเป็นไปในทางอื่น
ปี1872 (พ.ศ. 2415 สมัยต้นรัชกาลที่ 5 ญี่ปุ่นคือช่วงต้นสมัยปฏิรูปเมจิ) มีความเห็นต่าง ว่าจะให้พื้นที่อุเอโนะเป็นอะไร?
กระทรวงศึกษาต้องการสร้างโรงเรียนแพทย์ ส่วนกองทัพ (ที่มีอิทธิพลมากในยุคนั้น) ต้องการสร้างโรงพยาบาลสำหรับทหาร
ทว่ามีชาวต่างชาติคนหนึ่งคัดค้าน และเสนอให้อุเอโนะเป็นสวนสาธารณะ
Dr. E. A. F. Bauduin หมอชาวดัช ที่ปรึกษาการสร้างระบบการศึกษาด้านการแพทย์ ถูกเชิญมาโตเกียว เพื่อให้คำปรึกษาในการสร้างโรงเรียนแพทย์ที่อุเอโนะ แต่เขากลับคัดค้าน
“เราสามารถสร้างอุเอโนะ ให้เป็นสวนที่เจ๋งมากๆได้..ส่วนโรงเรียนแพทย์เราไปสร้างที่อื่นก็ได้”
แนวคิดสวนสาธารณะ เป็นความคิดจากโลกตะวันตก เป็นจังหวะแห่งยุคสมัยเมจิ ที่ญี่ปุ่นเปิดรับวิทยาการ และไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ปี 1873 รัฐบาลจึงตัดสินใจให้มีสวนสาธารณะขึ้นครั้งแรกในโตเกียว พร้อมกัน 5 แห่ง โดยมีอุเอโนะ เป็นหนึ่งในนั้น … อีก 4 แห่งคือ Shiba, Asakusa, Fukagawa, และ Asukayama
ในช่วงต้น พื้นที่กลางแจ้งขนาดใหญ่ของอุเอโนะ ถูกใช้เพื่อจัดงานแสดงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Industrial Exposition) เพื่อกระตุ้นความสนใจ นำเสนอเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ ทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศ เพื่อให้เกิดพัฒนาการทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ
อีกด้านที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก คือการยกระดับการศึกษา
ตั้งแต่เริ่มปฏิรูปเมจิ (ต้นทศวรรษ 1870) มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ (ซึ่งต่อมาเป็นต้นกำเนิดของสองแห่งแรกคือ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ) ซึ่งในช่วงแรกทำในนามพิพิธภัณฑ์ทางการศึกษา (สังกัดกระทรวงศึกษา) โดยใช้พื้นที่บริเวณ Yushima Seido ก่อนจะย้ายเข้ามาในอุเอโนะ
หอสมุดเองก็เกิดขึ้นตามกันมา และใช้สถานที่ร่วมกันที่ Yushima Seido ก่อนจะย้ายเข้ามาสู่อุเอโนะในปี 1885 มรดกที่ยังหลงเหลือคืออาคาร Imperial Library ที่สร้างในปี 1906 (ปัจจุบันได้ถูกอนุรักษ์และปรับปรุงเป็นส่วนหนังสือสำหรับเด็กโดยเฉพาะ Internatinional Library of Children Literature ส่วนหอสมุดแห่งชาติย้ายไปตรงข้างๆ รัฐสภาญี่ปุ่น)
ในปี 1882 สวนสัตว์แห่งแรกของญี่ปุ่นได้เกิดขึ้นที่นี่
จากนั้นก็มีการเกิดขึ้นของโรงเรียนศิลปะ Tokyo Fine Arts School และโรงเรียนดนตรี Tokyo Music School ในปี 1887 (ในภายหลังผนวกรวมเป็น Tokyo University of the Arts)
น่าสนใจที่อาคารแสดงดนตรีเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่ปี 1890 (Sogakudo Concert Hall) ได้ถูกอนุรักษ์ บูรณะ และย้ายมาตั้งใกล้กับบริเวณน้ำพุกลางสวน
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ปี 1923 ทำลายโตเกียวอย่างสาหัส สถานีรถไฟอุเอโนะพัง อาคารจำนวนมากในสวนอุเอโนะเสียหายรุนแรง
การฟื้นตัวหลังแผ่นดินไหว มาพร้อมความตื่นตาตื่นใจของอุเอโนะ และโตเกียว
พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งแรกของอุเอโนะในนาม Tokyo Prefecture Art Musuem เปิดในปี 1926 โดยสร้างจากเงินบริจาค 1 ล้านเยนของ Okada Shinichiro นักธุรกิจแห่งเกาะคิวชู ผู้ได้รับขนานนามว่า เจ้าพ่อถ่านหิน
ส่วนพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่พังทลายไปจากแผ่นดินไหวก็ถูกสร้างขึ้นใหม่ในสไตล์ Neo-Renaissance โดยมองจากด้านบนเป็นรูปเครื่องบิน
มีการสร้างรถไฟใต้ดินสายแรกของญี่ปุ่น และเอเชีย เป็นสายสั้นๆ ไม่กี่กิโลเมตร เชื่อมระหว่างอุเอโนะกับอาซากุสะ เปิดบริการในปี 1927 (พ.ศ.2470 ต้นรัชกาลที่ 7)
สงครามโลกครั้งที่สอง ทำลายโตเกียว และอุเอโนะอีกครั้ง
ระหว่างสงคราม อุเอโนะถูกใช้เป็นกองบัญชาการต่อสู้อากาศยาน พื้นที่สระน้ำ หรือลานหน้าพิพิธภัณฑ์ ถูกแปลงเป็นพื้นที่เพาะปลูก ผลิตอาหาร
ลำพังสวนสัตว์อุเอโนะ โดนบอมบ์ไปกว่า 140 ลูก
หลังสงคราม พื้นที่กว้างของอุเอโนะถูกใช้เป็นที่พักพิงชั่วคราว … ย่านอุเอโนะกลายเป็นตลาดมืด (ซึ่งในปัจจุบันกลายมาเป็นแหล่งช็อปปิ้งของราคาประหยัด อย่าง Ameya-yokocho)
องค์กรหนึ่งซึ่งมีบทบาทยิ่งต่อการฟื้นคืนสภาพของอุเอโนะกลับไปดีเหมือนเดิม คือ Ueno Shosei Kai (ซึ่งต่อมากลายเป็น Ueno Tourism Association)
คนกลุ่มนี้ได้ร่วมกันปลูกซากูระ 1,250 ต้น คืนสภาพเนินเขาที่ถูกถล่ม และเปลี่ยน Shinobazu Pond ที่ได้ถูกใช้เป็นที่ปลูกข้าวในช่วงสงคราม ให้กลับเป็นสระน้ำอย่างเก่า
โตเกียวเร่งก่อสร้างและฟื้นฟูเมืองอย่างหนัก
โอลิมปิค (ปี 1964) ถูกใช้เป็นเงื่อนเวลาสำคัญในการฟื้นคืนสภาพ และสำแดงแสนยานุภาพของญี่ปุ่นอีกครั้ง
อุเอโนะก็มีสถานที่สำคัญทางศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรม เกิดขึ้นคึกคักตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950
1954 National Museum of Western Art เปิดโดยมุ่งหมายให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะของโลกตะวันตก อาคารถูกออกแบบโดยตัวพ่อสถาปนิกโมเดิร์น Le Corbusier
1961 ศิษย์ชาวญี่ปุ่นของ Le Corbusier ผู้ถือเป็นสถาปนิกโมเดิร์นคนสำคัญของญี่ปุ่นอย่าง Kunio Maekawa ได้ออกแบบโรงมหสพ Tokyo Bunka Kaikan ซึ่งถูกสร้างขึ้น เพื่อตอบรับเสียงเรียกร้องให้มีสถานที่สำหรับการแสดงโอเปร่าและบัลเล่ต์
ถัดจากนั้นในปี 1972, Ueno Royal Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะโดย Japan Art Association สมาคมศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ได้เปิดทำการ โดยบูรณะอาคารจัดแสดงงานของสมาคม ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1879
หลังปี 1998 เป็นต้นมา ได้มีการเพิ่มเติมและปรับปรุงส่วนต่างๆ ในอุเอโนะอย่างต่อเนื่อง
เพิ่มอาคารในส่วนพิพิธภัณ์แห่งชาติ the Gallery of Horyuji Treasures (1998) และ the Heiseikan of the Tokyo National Museum (1999)
University Art Museum ของ Tokyo University of the Arts เปิดทำการ (1999)
ก่อตั้งห้องสมุดและหน่วยงานที่ดูแลหนังสือสำหรับเด็กโดยเฉพาะ อย่าง the International Library of Children’s Literature (2000)
และ Tokyo Metropolitan Art Museum ที่ถูกบูรณะเปิดทำการในปี 2012
นอกจากนั้นก็เพิ่มเติมร้านอาหาร และคาเฟ่ที่หลากหลาย เข้ามาบริการผู้ใช้ ให้ครบครันยิ่งขึ้น
นี่คือวิวัฒนาการหลายร้อยปีของสวนอุเอโนะที่สกัดมาให้ท่านผู้อ่านพอเห็นภาพภายในไม่กี่นาที
โอลิมปิคที่กำลังจะมาถึงในปี 2020 เป็นหมุดหมายสำคัญอีกครั้งของญี่ปุ่น โตเกียว และอุเอโนะ
อุเอโนะ ไม่ปล่อยจังหวะนี้ให้ผ่านไปเฉยๆ มีการตั้งคณะกรรมการร่วมหลายฝ่ายขึ้น เพื่อผลักดัน และสื่อสารให้โลกรู้ว่า …
อุเอโนะ คือ a global capital of culture
คณะกรรมการชุดนี้ กำลังทำอะไร และทำอย่างไร?
ภารกิจที่วางไว้จะสำเร็จหรือไม่?
มาดูกันตอนหน้าครับ