ฉันทามติจากเวที COP28 เปลี่ยนเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มพลังงานหมุนเวียน

การประชุม COP28 ที่จบลง เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ฉันทามติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE Consensus หลักๆ 4 ประเด็น ประกอบด้วย

  1. ที่ประชุมบรรลุข้อตกลง ‘เปลี่ยนผ่าน’ การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงานอย่างยุติธรรม เป็นระเบียบ และเท่าเทียม เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และบรรลุเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
  2. เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 3 เท่าทั่วโลก และเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานเฉลี่ยทั่วโลก 2 เท่าภายในปี 2030
  3. ให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนประเทศกลุ่มเปราะบางปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Finance Fund) ซึ่งประเดิมวงเงิน 472 ล้านดอลลาร์ในปี 2024
  4. ให้พัฒนาเทคโนโลยีการปล่อยคาร์บอนต่ำและคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงการดักจับคาร์บอน การใช้และการกักเก็บคาร์บอน

นอกเหนือจากนั้นเป็นสาระสำคัญอื่นๆ เช่น

  • การเปิดตัว ALTÉRRA ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินส่วนบุคคลมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งตั้งเป้าที่จะระดมทุนทั้งหมด 250,000 ล้านดอลลาร์เพื่อการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศโลก
  • ปฏิญญา COP28 UAE ว่าด้วยการเกษตร อาหาร และสภาพภูมิอากาศ (COP28 UAE Declaration on Agriculture, Food, & Climate) ที่บูรณาการเกษตรกรรมและระบบอาหารที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการรับรองจาก 158 ประเทศ
  • ปฏิญญา COP28 UAE เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและสุขภาพ (COP28 UAE Declaration on Climate and Health) เพื่อเร่งการพัฒนาระบบสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ ยั่งยืน และเสมอภาค ได้รับการรับรองจาก 144 ประเทศ
  • Global Decarbonization Accelerator (GDA) ชุดโครงการริเริ่มด้านพลังงานที่สำคัญสำหรับภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ได้แก่:

– คำมั่นสัญญาด้านพลังงานทดแทนและประสิทธิภาพพลังงานระดับโลก (Global Renewables and Energy Efficiency Pledge) จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนทั่วโลกเป็น 3 เท่าเป็นอย่างน้อย 11,000 กิกะวัตต์ และจะเพิ่มอัตราประสิทธิภาพพลังงานโดยเฉลี่ยทั่วโลกเป็น 2 เท่าเป็นมากกว่า 4% ภายในปี 2573 โดยได้รับการรับรองจาก 132 ประเทศ

– กฎบัตรการลดคาร์บอนของน้ำมันและก๊าซ (Oil and Gas Decarbonization Charter-OGDC) ซึ่งกำหนดให้ผู้ลงนามต้องลดการปล่อยก๊าซมีเทนเป็นศูนย์และยุติการปล่อยก๊าซมีเทนตามปกติภายในปี 2573 และกำหนดให้การปล่อยก๊าซจากดำเนินงานสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เป็นอย่างช้าที่สุด จนถึงปัจจุบัน มีบริษัท 52 แห่งซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการผลิตน้ำมันทั่วโลกได้ลงนามในข้อตกลง

– Coalition for High Ambition Multilevel Partnerships (CHAMP) Pledg ผลักดันการรวมตัวของผู้นำระดับภูมิภาคในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการรับรองโดย 67 ประเทศ

– ประธาน COP28 ได้รับแถลงการณ์เยาวชนระดับโลก ซึ่งเป็นการรวมตัวของเด็กและเยาวชนจากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด