ช็อกโลกรับศักราชใหม่ ‘แผ่นดินไหว-สึนามิ’ ถล่มญี่ปุ่น

มีการแจ้งเตือนจะเกิดสึนามิระดับความสูง 3 เมตร หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว​ขนาด​ 7.6 แมกนิจูด ขึ้นในภาคกลางของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 เวลา 14.10 น. (ตามเวลาประเทศไทย) โดยมีศูนย์กลางอยู่ในพื้นที่เขตโนโตโจ จังหวัดอิชิคาวะ ห่างจากกรุงโตเกียวประมาณ 526 กิโลเมตร ซึ่งตรงกับวันแรกของศักราชใหม่และผู้คนกำลังเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่

หลังเกิดเหตุทางการญี่ปุ่นได้แจ้งเตือนแผ่นดินไหวและสึนามิระดับสีส้ม (Orange tsunami alert in Japan) ความรุนแรงระดับ 7 ระดับความลึก 5 กิโลเมตรโดยระบุว่า ประชากรในรัศมี 100 กิโลเมตร จำนวน 30,000 คน อาจได้รับผลกระทบจากสึนามิที่จะเกิดขึ้นในอีก 116 ชั่วโมง (พื้นที่ได้รับผลกระทบอยู่บริเวณชายฝั่งตะวันตกทางภาคกลางของญี่ปุ่น) ซึ่งทำให้มีการอพยพประชาชนในพื้นที่ผลกระทบร่วม 1 แสนคน

เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 แมกนิจูดในครั้งนี้ นับเป็นการเกิดแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตามเกณฑ์การวัดแบบชินโดะ (Shindo) ของญี่ปุ่น มีศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่บริเวณคาบสมุทรโนโตะ ในจังหวัดอิชิคาวะ ทางตอนกลางของประเทศ บีบีซีไทยรายงานว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงที่สุดที่เกิดบนคาบสมุทรโนโตะนับจากที่มีการจดบันทึกเริ่มขึ้นเมื่อปี 1885 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) ระบุด้วยว่า นับตั้งแต่ที่แผ่นดินไหวระลอกแรกเริ่มขึ้น ได้เกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมามากกว่า 129 ครั้ง โดยความรุนแรงอยู่ในระดับ 2 หรือมากกว่านั้น

แม้กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ลดระดับคำเตือนสึนามิขนาดใหญ่ (สีม่วง) ลงแล้ว คงระดับสีแดง (เตือนภัย) และสีเหลือง (เฝ้าระวัง) ส่วนใหญ่เป็นสถานะ “ถึงฝั่ง” เกือบหมดแล้ว แต่ในแถลงการณ์ยังเตือนว่า แผ่นดินไหวระดับ 7 อาจเกิดขึ้นได้อีกในช่วงสัปดาห์หน้า โดยเฉพาะในช่วงสองสามวันนี้ให้เฝ้าระวังแผ่นดินไหวและสภาพฝนตกในช่วงประมาณ 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันข้างหน้าที่จะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาเป็นระยะ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มกราคม เจแปน ไทม์ส สื่อท้องถิ่นรายงานอ้างอิงตัวเลขทางการว่า ณ ช่วงเช้า (2 ม.ค.) มียอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอย่างน้อย 24 ราย โดยสาเหตุมาจากอาคารบ้านเรือนถล่มลงมา รวมทั้งเกิดเหตุไฟไหม้ขนาดใหญ่ขึ้นด้วย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของอาคาร โดยเฉพาะในจังหวัดนีงาตะ โทยามะ ฟุกูอิ และกิฟู โดยเฉพาะเมืองวาจิมะตอนกลางซึ่งเป็นท่าเรือชายฝั่งเกิดไฟไหม้ครอบคลุมอาคารมากกว่า 200 หลัง และมีการยืนยันยอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 15 รายและภาพรวมยอดผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทางการญี่ปุ่นได้สรุปความเสียหายเบื้องต้นหลังเกิดแผ่นดินไหวว่า มีความเสียหายทั้งหมด 8 จังหวัด มีถนน 4 สาย รถไฟฟ้า 2 สาย ท่าเรือ 2 แห่ง ได้รับความเสียหาย ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง หน่วยงานด้านสาธารณูปโภคท้องถิ่นระบุว่า ครัวเรือนมากกว่า 30,000 ครัวเรือนรอบศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่มีไฟฟ้าใช้ น้ำประปาถูกตัดขาดในบางพื้นที่ ด้านกรมรถไฟญี่ปุ่นตะวันออกได้หยุดให้บริการบางส่วน มอเตอร์เวย์และรถไฟหัวกระสุนที่ให้บริการระหว่างจังหวัดอิชิกาวะและกรุงโตเกียวต้องระงับการให้บริการเป็นการชั่วคราว นอกจากนั้น เจแปน แอร์ไลน์ยกเลิกเที่ยวบินไปนีกาตะ-อิชิคาวะเกือบหมดหลังเกิดแผ่นดินไหวโดยทั้งหมดนี้ยังไม่มีรายงานความเสียหายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแนวชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 2 มกราคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้แจ้งยกเลิกประกาศการเกิดคลื่นสึนามิในทุกพื้นที่ของประเทศแล้ว พร้อมสรุปว่าหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 7.6 แมกนิจูด บริเวณชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 บ้านเรือนเสียหาย 33,000 หลัง ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเบื้องต้นล่าสุดอยู่ที่ 24 ราย ส่วนใหญ่ถูกฝังทั้งเป็น (เสียชีวิต) อยู่ใต้ซากอาคารบ้านเรือนที่พังถล่มลงมา และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 หลังเกิดแผ่นดินไหวในภาคกลางของญี่ปุ่น เป็นสึนามิขนาดใหญ่ครั้งแรกของญี่ปุ่นหลังจากเกิดสึนามิครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดใหญ่และสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในเมืองฟุกุชิมะ

นอกเหนือจากจังหวัดอิชิคาวะที่ได้รับความเสียหายหนักแล้ว ยังมีอีก 5 จังหวัด ที่มีการเตือนภัยสึนามิเป็นระดับสีแดง คือ จังหวัดยามางาตะ จังหวัดนีงาตะ จังหวัดโทยามะ จังหวัดฟุกุอิ และจังหวัดเฮียวโงะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ขอให้ประชาชนในพื้นที่อพยพหรือหลบหนีไปยังพื้นที่สูงและอยู่ห่างจากชายฝั่งให้ไกลที่สุด ในขณะที่โรงพยาบาลในเมืองซูสุ จังหวัดอิชิคาวะ แจ้งว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้ถนนเสียหาย กระทั่งแพทย์ไม่สามารถเดินทางมายังโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ได้รับบาดเจ็บถูกทยอยส่งมายังโรงพยาบาลจำนวนมากขึ้น และทางโรงพยาบาลยังต้องใช้เครื่องปั่นไฟสำรอง เนื่องจากเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ไม่ต้องกล่าวถึงการสื่อสารที่ไม่สามารถติดต่อกันได้ทั้งบริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ใยแก้วและบริการโทรศัพท์

เหตุการณ์ระทึกขวัญต้อนรับศักราชใหม่ในครั้งนี้ยังไม่ปรากฏรายงานคนไทยที่อาศัยและเดินทางท่องเที่ยวอยู่ในญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ แต่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้จัดทำคู่มือเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ (สำหรับคนไทย) เผยแพร่ทางเฟซบุ๊กทางการของสถานทูตซึ่งมีทั้งหมายเลขติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว, สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฟูกุโอกะ

รวมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน รถดับเพลิง รถพยาบาล ตำรวจ ตลอดจนแหล่งตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร และอุปกรณ์ยังชีพยามฉุกเฉิน รวมทั้งวิธีการรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมแนะนำคนไทยในญี่ปุ่นสามารถลงทะเบียนในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินได้ที่ https://site.thaiembassy.jp/th/services/registration/

อ้างอิง:
https://www.japantimes.co.jp/news/2024/01/02/japan/noto-peninsula-quake-damage/
https://www.bbc.com/thai/articles/cxrwdnx1915o

ภาพจาก: the Japantimes

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

COP29 มุ่งมั่นเป้าหมายทางการเงินใหม่ ชาติพัฒนาแล้วจ่าย 1 แสนล้าน

‘เฉลิมชัย’ พาหมูเด้งบุก COP29 เปิด Thailand Pavilion โชว์แก้โลกเดือด