มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

Cr. ภาพ: ALAMY

เมื่อ “ทรัมป์” ผู้นำมหาอำนาจโลกไม่เชื่อเรื่องภาวะโลกร้อนเป็นพื้นฐาน โลกจึงตกอยู่ในความเสี่ยงและจะมีส่วนขัดขวางนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

แน่ชัดแล้วว่า “โดนัลด์ ทรัมป์” จะกลับมานั่งเก้าประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 (จากผลการนับคะแนนล่าสุด) ทำให้วงการสิ่งแวดล้อมต้องจับตานโยบายการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง “ทรัมป์” ไม่เคยเชื่อว่า มีอยู่จริง และอเมริกาอาจจะบอยคอตหลายๆ ข้อตกลงตามมา..หรือไม่

เมื่อผู้นำมหาอำนาจโลกไม่เชื่อเป็นพื้นฐาน ทรัมป์ไม่สนใจปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โลกจึงตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันต้นๆ ของโลก และมีส่วนอย่างมีนัยสำคัญต่อการขัดขวางนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ได้เรียกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า เป็น “เรื่องหลอกลวง” และ “เป็นการฉ้อโกงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์” พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะยกเลิกการใช้จ่ายด้านพลังงานสะอาด ยกเลิกแรงจูงใจ “ที่ไร้เหตุผล” ที่จะให้ชาวอเมริกันขับรถยนต์ไฟฟ้า ยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และจะสนับสนุนการขุดเจาะแหล่งน้ำมันและก๊าซต่อไป ซึ่งจะถูกผลักดันตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

สัญญาณจากท่าทีและนโยบายของทรัมป์เท่ากับโลกจะสูญเสียโอกาสในการฟื้นตัวหรือรีเซ็ตตัวเองจากสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย และไม่ต้องพูดถึงการบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีสที่อาจจะถูกซ้ำเติมให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากขึ้น

หากนึกภาพตามว่า ประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ หันหลังให้กับพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่สนใจการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส หรือโลกกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนครั้งรุนแรงมากขึ้น ไฟป่าลุกลามขยายวง จำนวนพายุมากขึ้นรุนแรงขึ้น ผู้คนต้องเผชิญกับน้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกเร่งการละลาย ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนของป่า พืช และดินลดลง กระทั่งหลายมีปัจจัยกระตุ้นให้โลกเข้าใกล้สภาวะภูมิอากาศที่ไม่อาจอยู่อาศัยได้..เหล่านี้ล้วนชักนำให้สถานการณ์การขับเคลื่อนเพื่อปกป้องโลกย่ำแย่และเลวร้ายลง

ไมเคิล แมนน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า “เราต้องเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเร็วที่สุด แต่เป็นเรื่องยากที่จะเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นได้หากทรัมป์ได้รับชัยชนะ” และว่า “การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เป็นครั้งที่สองถือเป็นจุดจบของการดำเนินการด้านภูมิอากาศที่สำคัญในทศวรรษนี้ และการทำให้อุณหภูมิโลกร้อนคงที่ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสอาจเป็นไปไม่ได้”

แล้วชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร?
1.อนาคตที่อันตรายและมีความไม่แน่นอน
นักวิทยาศาสตร์กว่าสิบคนเขียนบทความก่อนหน้านี้เตือนว่า “เรากำลังเผชิญกับหายนะสภาพอากาศที่ไม่อาจย้อนกลับได้ นี่คือภาวะฉุกเฉินระดับโลกอย่างไม่ต้องสงสัย”

แน่นอนว่า เมื่อไม่เชื่อว่าโลกร้อนมีจริง ข้อผูกพันในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดก็จะไม่เกิด หรือถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงภายใต้การนำของทรัมป์ แต่ขณะเดียวกันในการหาเสียง กมาลา แฮร์ริส ก็ไม่ได้กล่าวถึงนโยบายการรับมือภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม หรือแทบจะไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลยในช่วงหาเสียง

2.การปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกลับมาอีกครั้ง
โจ ไบเดน เคยเรียกวิกฤตสภาพอากาศว่าเป็น “ภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่” ทรัมป์กลับเพิกเฉยและถึงกับเยาะเย้ยภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนและก่อนหน้านี้ไม่นานเขาบอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ผู้คนไม่เชื่ออีกต่อไปแล้ว” และได้กล่าวอ้างอย่างเท็จๆ ว่าโลก “จริงๆ แล้วเย็นลงเล็กน้อยในช่วงนี้” ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิด “พื้นที่ริมทะเลมากขึ้น” พลังงานลมเป็น “เรื่องไร้สาระ มันแย่มาก”

ทรัมป์ได้นำเรื่องนี้มาผนวกกับความต้องการให้มีการผลิตน้ำมันและก๊าซอย่างอิสระในทุกพื้นที่ของสหรัฐฯ และได้พยายามขอเงินบริจาคจากผู้บริหารในอุตสาหกรรมพลังงานอย่างจริงจัง “เขาเชื่อมั่นอย่างสุดใจว่า เราควรผลิตแหล่งพลังงานของเราเองที่นี่ในสหรัฐฯ ไม่มีพื้นที่สีเทาตรงนั้น” โทมัส ไพล์ ประธานของ American Energy Alliance ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดเสรี กล่าว

นอกจากนี้มีคนมองว่า การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เป็นครั้งที่สองจะยิ่งมีประเด็นด้านสภาพอากาศที่รุนแรงกว่าครั้งแรก “แต่ภาคต่อนี้จะเป็นการปฏิเสธอย่างก้าวร้าวและแก้แค้นใครก็ตามที่เคยท้าทายเขาในอดีต”

3.นโยบายพลังงานสะอาดอเมริกาสะดุด
เป้าหมายหลักของทรัมป์ชุดใหม่คือ การล้มล้างร่างกฎหมายด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ Inflation Reduction Act ในสมัยโจ ไบเดน ลงนามผลักดันการใช้งบประมาณหลายแสนล้านดอลลาร์ในการใช้พลังงานหมุนเวียน การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และการผลิตแบตเตอรี่

ทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะ “ยุติการหลอกลวงสีเขียวของกมลา แฮร์ริส และยกเลิกเงินที่ไม่ได้ใช้ทั้งหมด” ในทางกลับกัน การผลิตน้ำมันและก๊าซซึ่งอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่แล้วจะได้รับการส่งเสริมโดยเปิดพื้นที่อาร์กติกของอลาสก้าให้ขุดเจาะพลังงานเพิ่มเติม และยุติการหยุดชะงักการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว เพื่อ “ลดต้นทุนพลังงานลงครึ่งหนึ่งภายใน 12 เดือนแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่ง”

อย่างไรก็ดี เคลลี ซิมส์ กัลลาเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยทัฟต์ส กล่าวว่า “ไม่คิดว่ากฎหมายนี้ถูกยกเลิกทั้งหมด..สหรัฐเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่..แต่สิ่งที่น่าจะเปลี่ยนไปคือการลงทุนควบคู่กันในพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งดูเหมือนว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ภายใต้การบริหารของทรัมป์”

4.การชำระล้างวิทยาศาสตร์
การกลับมาของทรัมป์มีแนวโน้มจะมีแนวคิดเชิงอุดมคติมากขึ้นในด้านวิทยาศาสตร์ จะมีการละเลยหรือยกเลิกนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะทำให้รัฐต่างๆ ได้รับความช่วยเหลือน้อยลงในการเตรียมตัวและฟื้นตัวจากภัยพิบัติ

นอกจากนั้น “สหรัฐฯ จะกลายเป็นสถานที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับนักวิทยาศาสตร์ ปัญญาชน และใครก็ตามที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกับวาระของพรรครีพับลิกัน” แมนน์กล่าว ซึ่งทรัมป์เคยกล่าวว่า สงครามนิวเคลียร์เป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่าภาวะโลกร้อน

5.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน
ทรัมป์ใช้เวลาหลายเดือนในการตัดสินใจว่าสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ และคาดว่าครั้งนี้เขาจะทำเช่นนั้นตั้งแต่วันแรก เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในความพยายามด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อประเทศกำลังพัฒนาที่เสี่ยงต่ออุทกภัย ภัยแล้ง และภัยพิบัติอื่นๆ ก็จะถูกตัดออกไปเช่นกัน รวมถึงความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในโครงการริเริ่มอื่นๆ เช่น การลดการใช้ก๊าซมีเทนและการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า

“สามารถสันนิษฐานได้อย่างปลอดภัยว่าจะไม่มีการมีส่วนร่วมด้านสภาพอากาศระหว่างปักกิ่งและวอชิงตัน” หลี่ ซัว ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสภาพอากาศของจีนจากสถาบันนโยบายของสมาคมเอเชียกล่าวและ “มันจะส่งผลลบต่อสหรัฐฯ และโลก สหรัฐฯ ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากบนเวทีโลก ดังนั้น คาดว่าทรัมป์จะปลูกฝังการต่อต้านวาระด้านสภาพอากาศในจีนมากขึ้น เราจะเห็นว่าความมุ่งมั่นต่อสภาพอากาศเริ่มสั่นคลอน”

อ้างอิง: Oct 28, 2024 . Five ways a Trump presidency would be disastrous for the climate, The Guardain

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่