แนวโน้มฝุ่น PM2.5 ปีนี้รุนแรงสภาพอากาศกดต่ำลมนิ่งสงบมีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น

แนวโน้มปี 66 ฝุ่น PM2.5 พุ่งสูงขึ้น เหตุภาวะแห้งแล้ง ฝนน้อย สภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง และลมสงบ กระทรวงทรัพย์วางแผนรับมือ “3 พื้นที่ 7 มาตรการ”

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า กรมควบคุมมลพิษคาดการณ์แนวโน้มฝุ่น PM2.5 ปี 2566 สถานการณ์จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่เดือน พ.ย. นี้จนถึงปลายเดือน ก.พ. 66 จะมีสภาพเพดานการลอยตัวอากาศต่ำ สภาวะอากาศที่นิ่ง และลมสงบ

สอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่า จะมีอากาศหนาวเย็น ปริมาณฝนน้อย และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าปรากฎการณ์ “ลานีญา” จะเริ่มน้อยลง หรืออนุมานได้ว่ามีสภาวะแห้งแล้งมากขึ้น

สำหรับ การรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 โดยในปีนี้มุ่งเน้นยกระดับความเข้มงวดการดำเนินงานภายใต้หลักการ 3 พื้นที่ 7 มาตรการ โดย 3 พื้นที่ ได้แก่ 1. พื้นที่เมือง 2. พื้นที่ป่า และ 3. พื้นที่เกษตรกรรม ส่วน 7 มาตรการ ตามกรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ดังนี้

1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่
2. ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง
3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา และ Burn Check)
4. กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
5. ลดจุดความร้อน ป้องกัน และควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS)
6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด
7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมสถานการณ์ฝุ่นละอองที่ดีขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมาทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและ 17 จังหวัด ภาคเหนือ รวมถึงจำนวนจุดความร้อนของประเทศไทยที่มีจำนวนลดลง

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวหลังเป็นประธานมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2566 ว่า ในปี 2566 มีความน่าเป็นห่วงปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติเนื่องจากตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จุดความร้อนมีปริมาณลดลงต่อเนื่องทุกปี จึงเกิดการสะสมของเชื้อเพลิงในปริมาณมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ดำเนินการชิงเก็บ ลดเผา และBurn Check รวมทั้งประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการลดการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมด้วย ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดนมอบหมายให้ คพ. ประสานกับเลขาธิการอาเชียน เพื่อขอความร่วมมือจากประเทศที่มีไฟป่าหรือจุดความร้อน ลดปริมาณหมอกควันหรือป้องกันไม่ให้มีหมอกควันข้ามแดน

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตรวจสอบปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ทั่วประเทศ ได้ที่แอปพลิเคชัน air4thai เพราะเป็นแอปพลิเคชันที่น่าเชื่อถือที่สุด

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่