ข้อตกลง ‘เปลี่ยนผ่าน’ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลเจรจาเวที COP28

by IGreen Editor

การประชุม COP28 หรือการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกที่ผ่านพ้นไปเมื่อปลายปีที่แล้ว ถูกบันทึกให้เป็น “ข้อตกลงประวัติศาสตร์” หลังจากประเทศสมาชิกเห็นชอบ “เปลี่ยนผ่าน” พลังงานฟอสซิลได้สำเร็จ นั่นหมายถึงทั่วโลกจะค่อยๆ ลดเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

ภายหลังการเจรจาต่อรองแผนนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งดำเนินไปอย่างเข้มข้นดุเดือดตลอดช่วงสองสัปดาห์ของการประชุม (30 พ.ย. – 12 ธ.ค. 2566) ในที่สุดการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 หรือ COP28 ณ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็สามารถปิดฉากลงอย่างเป็นทางการได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา

การประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศโลกครั้งสำคัญนี้ ประธาน COP28 สุลต่าน อัลจาเบอร์ ได้ออกปากนิยามผลการประชุมว่าเป็น “ข้อตกลงประวัติศาสตร์” ที่โลกสามารถบรรลุข้อตกลงลดการใช้พลังงานฟอสซิลร่วมกันได้ ทว่าการดำเนินการเจรจาที่สุลต่านอัลจาเบอร์ทำหน้าที่ประธานก็ไม่ราบรื่นนัก อีกทั้งยังมีข้อวิตกกังวลมากมายจากกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและภาคประชาสังคม แต่อย่างไรก็ดี เวทีเจรจาใน COP28 ก็สำเร็จลุล่วง โดยมีข้อตกลงสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขและรับมือวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกเดือดร่วมกันในหลายประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

การเปลี่ยนผ่านพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล

ถึงแม้ในที่สุดแล้ว ผู้แทนจากรัฐภาคีนานาชาติจะสามารถบรรลุข้อตกลงหลักร่วมกันในการเร่งดำเนินการ “เปลี่ยนผ่าน” เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero) ภายในปี 2573 แต่ระหว่างการประชุมหารือเพื่อบรรลุข้อตกลงดังกล่าวก็เต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย โดยเฉพาะในประเด็นการกำหนดมาตรการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกว่าที่ผู้แทนรัฐภาคีทั้ง 198 ประเทศจะหาข้อสรุปร่วมกันได้ก็ทำให้การประชุมต้องลากยาวต่อไปอีกหนึ่งวัน จากเดิมที่การประชุม COP28 มีกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 12 ธันวาคม

แม้ว่าฝ่ายสนับสนุน โดยเฉพาะฝ่ายเจ้าภาพอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะชี้ว่าข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะช่วยให้ประชาคมโลกเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้พลังงานสะอาดที่ไม่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เพื่อหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงปารีส และหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่หลายฝ่ายกลับมองว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีท่าทีที่อ่อนเกินกว่าที่จะช่วยยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในร่างข้อตกลงฉบับสุดท้าย มีความพยายามหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำที่สื่อความหมายหนักแน่น โดยเฉพาะแทนที่จะใช้คำว่า “ปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิล” กลับเลี่ยงไปใช้คำที่มีความหมายเบากว่า นั่นคือใช้คำว่า “การเปลี่ยนผ่าน” เชื้อเพลิงฟอสซิลแทน

ยิ่งไปกว่านั้น Bill Hare นักวิทยาศาสตร์จากองค์กรด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Analytics ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้กำหนดพันธกรณีในการลดละเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซ้ำยังมีท่าทีสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม และอาจเปิดช่องให้มีการส่งเสริมการใช้แก๊ซธรรมชาติ ซึ่งก็ถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกชนิดที่จะเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวที่ประชุมจึงได้มีการระบุถึงการมีส่วนร่วมในเป้าหมายระดับโลกในการเพิ่มพลังงานหมุนเวียน 3 เท่าทั่วโลก และเพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเฉลี่ยเป็น 2 เท่า ในปี 2573 (ค.ศ. 2030)

นโยบายการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance)

ประการต่อมา ในเวที COP28 ได้มีการบรรลุนโยบายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายนโยบาย ซึ่งล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะปฏิรูประบบการเงินนานาชาติ เพื่อเปิดช่องให้ประเทศที่มีรายได้น้อยและประเทศในพื้นที่เสี่ยงภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถรับเงินทุนช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้วและองค์กรการเงินระหว่างประเทศในการรับมือภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หนึ่งในกลไกทางการเงินที่สำคัญได้แก่ กองทุน Loss and Damage ซึ่งในที่ประชุม COP28 ได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการดำเนินการของกองทุน เพื่อให้การสนับสนุนตามทุนที่จำเป็นแก่ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปี 2567 จะประเดิมวงเงินสนับสนุน 792 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างอเมริกา (IDB) ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (EIB) ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งยุโรป (EBRD) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งแอฟริกา (AfDB) ยังได้ให้คำมั่นสัญญาใหม่ในการขยายกองทุนกู้ยืมให้แก่ประเทศที่มีรายได้น้อยให้สามารถแก้ไข และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การให้ความสำคัญต่อผู้คน ธรรมชาติ เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นต่อมา การประชุม COP28 ยังได้เดินหน้าการปกป้องธรรมชาติและป่าไม้ รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เปิดเผยว่า การปกป้องดูแลธรรมชาติและระบบนิเวศให้มีความสมบูรณ์ นอกจากจะช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก ช่วยลดสภาวะโลกร้อน และช่วยบรรเทาความรุนแรงจากภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว การอนุรักษ์ธรรมชาติยังช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และช่วยสร้างงานใหม่เกือบ 400 ล้านตำแหน่ง

ดังนั้น ที่ประชุม COP28 จึงได้ก่อตั้งกองทุน จำนวน 186.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปกป้องระบบนิเวศป่าไม้ ป่าชายเลนและมหาสมุทร โดยกองทุนดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดการดำเนินการตามเป้าหมายการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าที่ได้ประกาศเมื่อเวที COP26 และเป้าหมายการปกป้องระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework (GBF)

นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือในการปกป้องธรรมชาติและผืนป่า ยังรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชนพื้นเมืองที่อาศัยในพื้นที่ป่า ผู้ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศให้คงความสมบูรณ์

“ชนพื้นเมืองได้ใช้ชีวิตอย่างสมดุลและกลมกลืนกับธรรมชาติเป็นเวลานับหลายพันปี และได้สั่งสมภูมิความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพและวงจรธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ดังนั้นด้วยการนำวิทยาศาสตร์และความรู้พื้นเมืองมารวมกัน COP28 ได้ช่วยเตือนโลกว่าความเข้าใจธรรมชาติและการดำรงชีวิตที่เกื้อกูลกับธรรมชาติมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของเรา” María Jose Andrade Cerda ตัวแทนชุมชนจากสภาสมาพันธ์ชนพื้นเมืองแห่งแอมะซอน ประเทศเอกวาดอร์ กล่าว

การดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างครอบคลุม

การดำเนินการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในด้านต่างๆ อาทิ ภาคการผลิตอาหาร ภาคสาธารณสุข รวมไปถึงภาคการพัฒนาเมือง ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นหลักที่ได้รับการหยิบยกมาพูดคุยในการประชุม COP28 เนื่องด้วยกิจกรรมในภาคต่างๆ เหล่านี้ มีความเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อสภาพภูมิอากาศ โดยผลการดำเนินการเด่นๆ จากเวที COP28 ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • คำประกาศ COP28 UAE Declaration on Agriculture, Food Systems and Climate Action: สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในฐานะเจ้าภาพการประชุมได้ออกคำประกาศในเวที COP28 มุ่งเน้นความสำคัญในการปกป้องความมั่นคงทางอาหารและน้ำดื่มให้กับผู้คนทั่วโลก สร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร รวมถึงเผยแพร่และส่งเสริมเทคโนโลยีในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการเกษตร โดยมีภาคีเข้าร่วมลงนามทั้งหมด 152 ประเทศ
  • คำประกาศ COP28 UAE Declaration on Climate and Health: กว่า 123 ประเทศได้ร่วมลงนามในคำประกาศต่อประเด็นระบบสุขภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกหันมาใส่ใจกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศโลกที่ร้อนและแปรปรวนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดภัยจากโรคจากความร้อน, ฝุ่นควันพิษ และโรคระบาดใหม่ๆ มากขึ้น ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างประเทศจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนให้สามารถรับมือกับผลกระทบสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • แถลงการณ์ Joint Outcome Statement on Urbanization and Climate Change: คณะประธานผู้จัดงาน COP28, โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ และองค์กร Bloomberg Philanthropies ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเรื่อง การพัฒนาเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้กำหนดแผน 10 ประการ เพื่อส่งเสริมการดำเนินการขับเคลื่อนด้านการพัฒนาเมืองเพื่อให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศหลายระดับ และพัฒนาระบบการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเมือง เพื่อให้เมืองต่างๆ ได้รับการเตรียมพร้อมและสนับสนุนเพื่อตอบสนองต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศ

สาระสำคัญจากที่ประชุม COP28 ทั้งหมดนี้คือหมุดหมายและกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนที่นับวันทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งแม้การเจรจาจะดำเนินไปอย่างเข้มข้นดุเดือดตลอดช่วงสองสัปดาห์ของการประชุม แต่ก็สามารถหาข้อสรุปและปิดฉากลงอย่างเป็นทางการได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีข้อวิตกกังวลมากมายจากกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและภาคประชาสังคม โดยเฉพาะคีย์เวิร์ดข้อตกลงที่ใช้คำว่า “การเปลี่ยนผ่าน” เชื้อเพลิงฟอสซิล แทนที่จะใช้คำว่า “ปลดระวางเชื้อเพลิงฟอสซิล” ให้หนักแน่น ตามที่สมาชิกกว่า 100 ประเทศพยายามผลักดันตั้งแต่ช่วงต้นของการประชุมก็ตาม

ที่มา :

United Nations Framework Convention on Climate Change (2023). News and Media COP28. Retrieved Dec 13, 2023, from https://www.cop28.com/en/news-and-media

Ajit Niranjan (now) and Bibi van der Zee, Alan Evans and Natalie Hanman (earlier) (2023). Cop28: landmark deal to ‘transition away’ from fossil fuels agreed – as it happened. Retrieved Dec 13, 2023, from https://www.theguardian.com/environment/live/2023/dec/13/cop28-live-updates-news-agreement-outcomes-draft-text-fossil-fuels

Cop28 landmark deal agreed to ‘transition away’ from fossil fuels. Retrieved Dec 13, 2023, from https://www.theguardian.com/environment/2023/dec/13/cop28-landmark-deal-agreed-to-transition-away-from-fossil-fuels

UN Climate Press Release (2023). COP28 Agreement Signals “Beginning of the End” of the Fossil Fuel Era. Retrieved Dec 13, 2023, from https://unfccc.int/news/cop28-agreement-signals-beginning-of-the-end-of-the-fossil-fuel-era

Copyright @2021 – All Right Reserved.