สูดควันพิษบนท้องถนน กระทบการทำงานสมอง กระตุ้นภาวะซึมเศร้า

การสัมผัสไอเสียจากดีเซลเพียง 2 ชั่วโมง ทำให้การเชื่อมต่อการทำงานของสมองส่วน DMN ลดลง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการกระตุ้น หรือรักษาอาการซึมเศร้า และย้ำคิดย้ำทำ

นักวิจัยได้ให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวน 25 คนสัมผัสกับไอเสียจากดีเซลและอากาศที่ผ่านเครื่องกรองสลับกันในห้องปฏิบัติการ และใช้การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กเชิงฟังก์ชัน (fMRI) ตรวจสอบการทำงานของสมองทั้งก่อนและหลังการสัมผัสอากาศแต่ละประเภท

ส่วนการทำงานของสมองที่วิเคราะห์ คือส่วนเครือข่ายอัตโนมัติ (Default Mode Network – DMN) ส่วนสำคัญที่จะทำงานต่อเนื่องแม้กระทั่งช่วงเวลาที่พักผ่อนหรือนอนหลับ เป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่าง ‘ระบบความคิดและหน่วยความจำ’ เหตุที่ทำให้มนุษย์เราครุ่นคิด หวนนึกถึงอดีต หรือมองภาพในอนาคต และยังเป็นส่วนที่ช่วยให้เราทำงานคุ้นชินได้คล่องแคล่ว เช่น การขับรถในเส้นทางที่ไปประจำ เป็นต้น

DMN จึงถือเป็นกุญแจสำคัญของกระตุ้น และรักษาโรคจิตเวช อย่างโรคซึมเศร้า หรือความผิดปกติทางพฤติกรรมที่มีลักษณะย้ำคิดย้ำทำ

การวิจัยพบว่าการสัมผัสไอเสียจากดีเซลเพียง 2 ชั่วโมง ทำให้การทำงานของ DMN ลดลง เมื่อเทียบกับหลังการได้รับอากาศผ่านตัวกรอง

แม้การเปลี่ยนแปลงในสมองเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหลังสัมผัสไอเสียดีเซลและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ทีมวิจัยสันนิษฐานว่าผลกระทบอาจคงอยู่ยาวหากมีการสัมผัสต่อเนื่อง

ดร. โจดี กาวรีลุค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิกตอเรียหนึ่งในทีมวิจัยระบุว่า ระบบการทำงานของ DMN นั้นสัมพันธ์กับความสามารถในการรับรู้ของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อภาวะการซึมเศร้า

“นี่เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่งที่มลพิษทางการจราจรรบกวนการทำงานของระบบ DMN จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างถ่องแท้” ดร. โจดีกล่าว

ดร. คริส คาร์ลสเตน ผู้เขียนการศึกษาอาวุโส ศาสตราจารย์และหัวหน้าแผนกเวชศาสตร์ทางเดินหายใจระบุว่านี่เป็นการศึกษาครั้งแรก ที่มีหลักฐานสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศและกระบวนการรับรู้ของมนุษย์ และผลกระทบต่อสมองของการสัมผัสมลพิษทางอากาศอื่นๆ เช่น ควันไฟป่า หรือ PM2.5 น่าจะไม่ต่างกัน

ปัจจุบันมลพิษทางอากาศได้รับการยอมรับว่าเป็นภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ ไม่เพียงแต่ทางร่างกายแต่ยังกระทบถึงสุขภาพจิต

“การตระหนักรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้กำหนดนโยบาย” ดร. คริสกล่าว

งานวิจัยชิ้นนี้ผ่านการตรวจสอบและได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health

ที่มา

  • Jan 24, 2023. Traffic pollution impairs brain function. Science News.
  • Oct 24, 2017 Daydreaming brain network used in autopilot. BBC

Related posts

‘สารเคมีตลอดกาล’ ภัยร้ายคุกคาม ทุกอณูบนโลก อยู่ในทุกผลิตภัณฑ์ที่ใช้

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

ข้อบัญญัติใหม่ กทม. ไม่แยกขยะเก็บ 60 บาท/เดือน แยกขยะจ่าย 20 บาท