พบการปนเปืัอนยาฆ่าแมลงกว่า 162 ชนิดใน ‘เม็ดพลาสติกรีไซเคิล‘

แม้ว่าการรีไซเคิลพลาสติกได้รับการขนานนามว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษจากพลาสติก แต่การศึกษาล่าสุดระบุว่าถึงเวลาที่ต้องทบทวนกันใหม่ หลังศึกษาพบสารเคมีอันตรายหลายร้อยชนิดในเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากประเทศต่างๆ มากกว่า 10 ประเทศ 

การศึกษานี้นำโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์กในสวีเดน ที่นำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลจาก 13 ประเทศในยุโรปตะวันออก เอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ มาทำการวิเคราะห์ทางเคมี โดยพบว่าเม็ดพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมดมีสารเคมีประกอบมากมาย ซึ่งหลายชนิดถือว่ามีพิษสูง

สารเคมีที่พบมากสุดคือกลุ่มยาฆ่าแมลง ซึ่งมีมากถึง 162 ชนิด อันดับสองคือกลุ่มเคมีเภสัช ซึ่งมีมากถึง 89 ชนิด และอันดับที่ 3 คือกลุ่มสารเคมีอุตสาหกรรม ซึ่งมีมากถึง 65 ชนิด ตามมาด้วยสารเคมีประเภทอื่นๆ เช่น สารลดแรงตึงผิว น้ำหอม สีย้อมผ้า สารขับไล่ สารยับยั้งการกัดกร่อน และอื่นๆ 

สารเคมีบางชนิดมีมาตั้งแต่กระบวนการผลิตพลาสติก ในขณะที่บางชนิดถูกนำมาใช้ในระหว่างขั้นตอนการรีไซเคิล นอกจากนี้ยังมีสารเคมีบางชนิดที่เข้าไปในพลาสติกโดยผ่านกระบวนการดูดซับ จากการศึกษานี้นักวิจัยระบุว่าพวกเขาเชื่อว่าพลาสติกรีไซเคิลไม่ได้เหมาะกับการใช้งานส่วนใหญ่ และพวกมันไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดวงจรวัสดุหมุนเวียน

การรีไซเคิลพลาสติกได้รับการขนานนามว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษจากพลาสติก แต่สารเคมีที่เป็นพิษในพลาสติกทำให้การใช้ซ้ำและการกำจัดพลาสติกยุ่งยากขึ้น และขัดขวางการรีไซเคิล” ศาสตราจารย์ Bethanie Carney Almroth จากมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก กล่าว

นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าขณะนี้ยังไม่มีโครงการติดตามเพื่อวิเคราะห์สารเคมีในพลาสติกรีไซเคิล และมีเพียง 1% ของสารเคมีทั้งหมดที่ตรวจพบในเม็ดพลาสติกแบบรีไซเคิลเท่านั้นที่อยู่ภายใต้กฎระเบียบระหว่างประเทศ พวกเขาเสริมว่าไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการรายงานสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการรีไซเคิล และเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ

สารเคมีอันตรายก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อพนักงานรีไซเคิลและผู้บริโภค รวมถึงต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง” ทีมวิจัยระบุในเพิ่มในงานศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Direct 

“สารเคมีที่ทราบกันว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะต้องยุติลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงต้องมีการระบุและจำกัดสารเคมีที่แทรกซึมโดยไม่ได้ตั้งใจ”

ทีมวิจัยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีกฎระเบียบที่ระบุชัดเจนว่าพลาสติกรีไซเคิลสามารถและไม่สามารถนำไปใช้ขึ้นรูปหรือเป็นส่วนประกอบอะไรได้บ้าง เช่น ห้ามใช้ผลิตของเล่นเด็กและบรรจุภัณฑ์อาหาร เป็นต้น

ที่มา

  • Nov 1, 2023. A dataset of organic pollutants identified and quantified in recycled polyethylene pellets. Science Direct
  • Nov 10, 2023. Heaps of pharmaceuticals, toxic chemicals found in recycled plastics. New Atlas

Related posts

มหาอำนาจโลกในมือ ‘ทรัมป์’ จุดจบการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ?

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน

อุณหภูมิทะลุ 3.1°C แผนลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 เป็นเรื่องเพ้อฝัน