ห้องเรียนในป่า กลางกรุงโตเกียว

สามสี่ปีก่อนที่งานสัมมนางานหนึ่ง ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาเพิ่งไปโตเกียวมา และได้ไปที่แห่งหนึ่ง ดีมากเลย เป็นป่าใจกลางโตเกียว แต่คนไม่ค่อยรู้จัก

ว่าแล้วเขาก็เปิดรูปที่ถ่ายมาให้ดู พร้อมทั้งให้ชื่อมาเป็นโพย “Institute for Nature Study”

ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนเลย ฟังชื่อแล้วก็กดหาพิกัดใน google map แล้วก็เจอจริงๆ ด้วย

ก่อนหน้านี้ ถ้ามีคนพูดถึงป่าในมหานครโตเกียว ผมคงนึกถึงป่าเขียวครึ้มรอบๆ ศาลเจ้าเมจิ ที่อยู่ติดย่านฮาราจูกุ (ซึ่งที่แห่งนี้บรรยากาศดีต่อใจ สงบและร่มรื่น)

หรืออีกที ก็อาจเดาว่าเป็นด้านในของพระราชวังอิมพีเรียล

แต่ป่ากลางโตเกียวที่พี่เขาว่า ไม่เคยได้ยิน

ทำเลที่ว่ากลางเมือง คืออยู่ถัดจากสถานีชิบูย่า ลงมาทางใต้สัก 2 สถานี

แถวนั้นเรียกว่า Shirokanedai หนึ่งในย่านที่อยู่อาศัยที่แพงที่สุดของโตเกียว

ถึงกับมีคำแสลงเรียกคนย่านนี้ว่า Shirokanese โดยหมายถึงผู้หญิงแม่บ้านที่ร่ำรวย ไม่ได้ต้องทำอะไร เน้นช็อปปิ้ง แต่งตัว และเที่ยวหาอาหารดีๆ รับประทาน

ผมได้ไปที่นี่ในช่วงฤดูหนาว ปลายมกราคม ปี 2560

ใจจริง อยากมาในฤดูร้อน หรือฤดูใบไม้ผลิ แต่รอไม่ไหว อยากมาสัมผัสบรรยากาศจริงก่อน แล้วถ้าจะได้กลับมาอีกครั้ง ในฤดูที่แตกต่าง ก็จะได้เห็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปรไป

เข้าไปปุ๊ป บรรยากาศตรงหน้า ทำให้เราแทบลืมตำแหน่งแห่งหนที่เราอยู่ไปเลย

ที่นี่ที่ไหน

นักเรียนธรรมชาติไม่จำกัดวัย

ป้ายอธิบายความรู้วางเป็นระยะ

มีจุดนั่งพัก ชมธรรมชาติ กระจายทั่วพื้นที่

ห้องน้ำสะอาด มีทางลาดรถเข็น friendly กับทุกเพศวัย

ทางเดินธรรมชาติ เทพื้นด้วยดิน โปรยหน้าใบไม้แห้ง

ธรรมชาติสานสายใยคนสามรุ่น

หนึ่งในมุมที่น่าหย่อนใจที่สุด

พื้นที่ชุ่มน้ำตรงกลาง เป็นจุดชมนกยอดนิยม ไม่เว้นแม้ในฤดูหนาว

นานๆ จะเจอตึกโผล่ ถ้าต้นไม้ไม่หลบ คงไม่ได้เจอ

บ่อน้ำซึ่งคาดว่ามีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ

ต้นไม้ใต้ฟ้าเดียวกัน ในเมืองหรือที่ไหน ไม่เกี่ยง

นิทรรศการให้ความรู้ บริเวณอาคารด้านหน้า

สถานที่แบบนี้ เกิดขึ้นกลางป่าคอนกรีตอย่างโตเกียวได้อย่างไร?

ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตป้ายชื่อในรูปสุดท้าย จะพบว่า ต่อท้ายชื่อของสถาบันศึกษาธรรมชาติวิทยา (Institue for Nature Study) ที่ดูแลพื้นที่แห่งนี้ เขียนต่อท้ายว่า National Museum of Nature and Science (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ)

ใช่ครับ ป่ากลางเมืองแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์

นิทรรศการให้ความรู้ บริเวณอาคารด้านหน้า

พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งในปี 1877 (พ.ศ.2420 สมัยต้นรัชกาลที่ 5)

ส่วนสวนป่าตรงนี้ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน 400-500 ปี ตั้งแต่ต้นสมัยเอโดะ (ยาวนานกว่าตัวพิพิธภัณฑ์เองเสียอีก) ผ่านการเปลี่ยนมือมาหลายครั้ง จนในที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (1949) ได้ถูกโอนมาให้กระทรวงศึกษา

ในปี 1962 ได้มีการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษา ได้จัดให้พื้นที่ตรงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ และมีการก่อตั้งสถาบันศึกษาธรรมชาติวิทยาขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับเยาวชนและคนทั่วไป รวมทั้งเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยทางนิเวศน์วิทยาเมือง (urban ecology)

ป่ากลางกรุงแห่งนี้ ได้รับการประกาศเป็น “national monument and historical landmark” อีกด้วย

ทุกวันนี้ พันธกิจของหน่วยงานพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ มี 3 ส่วน

(1)       เก็บรวมรวม (Collection) ตัวอย่างพันธุ์พืช สัตว์ ธรณี ฯลฯ

(2)       ค้นคว้าวิจัย (Reseach)

(3)       จัดแสดงนิทรรศการ และให้ความรู้ (Exhibition and Education) 

ตัวพิพิธภัณฑ์หลัก ตั้งอยู่ที่สวนอูเอโนะ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานวิจัย และสวนพฤกษศาสตร์ อยู่ที่เมืองวิทยาศาสตร์สึกูบะ (Tsukuba) อีกด้วย

เมื่อหันกลับมามองเมืองไทย เห็นข่าวการประมูลรถไฟความเร็วสูง ผนวกที่ดินมักกะสัน ในเงื่อนไขที่ดูกี่ทีก็ต้องขยี้ตา มันช่างท้าทายความรู้สึกของผู้คนในสังคมเหลือเกิน

และน่าสนใจที่ว่า ป่ากลางกรุงโตเกียวที่ผมเล่าไป พาท่านผู้อ่านทัวร์ไปด้วยกัน ขนาดพื้นที่ประมาณ 125 ไร่

แทบจะเท่ากันเป๊ะกับพื้นที่มักกะสัน

ส่วนที่ดีที่สุด ที่ถูกเฉือนไป

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน