หลังจากสื่อหลายสำนักและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งได้นำเสนอสาเหตุที่อุณหภูมิทั่วทุกภาคของไทยลดลง 2-4 องศาในช่วงต้นเดือน เม.ย.นั้นมาจากปรากฏการณ์ Polar Vortex หรือ “กระแสลมวนขั้วโลก” ทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกมาชี้แจง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน
แถลงการณ์กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนดังกล่าวจากอิทธิพลของความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ไม่ใช่เกิดจากปรากฏการณ์กระแสลมวนขั้วโลก
กรมอุตุฯ อธิบายด้วยว่า ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่เคยปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงฤดูหนาวจะอ่อนกำลังลง และถอยกลับไปปกคลุมบริเวณประเทศจีน แต่ยังมีบางช่วงที่มีมวลอากาศเย็นดังกล่าวแผ่ลงมาปกคลุมได้เป็นระยะ ๆ ขึ้นอยู่กับความแรงของมวลอากาศ
หากมวลอากาศเย็นดังกล่าว มีกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบน มักจะทำให้ประเทศไทยตอนบนมีสภาพอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก ๆ ส่วนใหญ่มักจะเริ่มเกิดขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้น อุณหภูมิจะลดลงและมีลมแรง
ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่นเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2559 เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นในฤดูร้อน แต่จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ 2-3 วันเท่านั้น
สำหรับปรากฏการณ์ Polar Vortex กรมอุตุฯ อธิบายว่า มักจะไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย เพราะกระแสลมวนที่ไหลเวียนจากทางด้านตะวันตกไปตะวันออกจะมีเทือกเขาสูงกีดขวางเป็นอุปสรรคคือ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นเทือกเขาที่สูง ทำให้ทิศทางลมของกระแสลมวนที่ไหลเวียนลงมาเปลี่ยนทิศทางไป
โอกาสที่นำความหนาวเย็นจากขั้วโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นอุณหภูมิที่ลดลงในระยะนี้จึงไม่ได้มาจากอิทธิพลของกระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex) แต่อย่างใด
สำหรับปรากฏการณ์ Polar Vortex ครั้งล่าสุด BBC ไทยระบุว่า เกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 2562 ทำให้ประเทศในทวีปอเมริกา ยุโรป เผชิญสภาพอากาศหนาวเย็นเนื่องมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยในขณะนั้นมีรายงานว่าที่สหรัฐประชาชนกว่า 55 ล้านคน เผชิญหน้ากับ “กระแสลมวนในเขตขั้วโลก” หรือ “ปรากฏการณ์โพลาร์ วอร์เทกซ์ (Polar vortex)”
หลายพื้นที่มีอุณหภูมิติดลบกว่า 20 องศาเซลเซียส พร้อมมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 คน และมีการประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายรัฐ พร้อมเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ขณะที่หลายประเทศในยุโรป แม้จะไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งเช่นเดียวกับสหรัฐ แต่ก็เผชิญหน้ากับพายุหิมะ อย่างที่อังกฤษ เที่ยวบินหลายเที่ยวต้องถูกยกเลิก เนื่องจากนักบินไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ ส่วนเบลเยียม เยอรมนี และรัสเซีย หลายพื้นที่ของประเทศก็ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเช่นกัน
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ Polar Vortex เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายอย่างรวดเร็ว และเกิดกระแสลมวนที่เรียกว่า Polar Vortex ที่ไม่สมดุล ได้พัดพาเอาอากาศที่เย็นจากน้ำแข็งที่ละลายไปยังภูมิภาคอื่นของโลก
อ้างอิง
https://www.facebook.com/tmd.go.th/posts/5343149362376117
https://www.bbc.com/thai/thailand-60972006