OPINION: ร่วมใจต่อสู้โลกร้อน ให้เหมือนรวมใจสู้โควิด

ท่ามกลางการต่อสู้กับโควิด-19 ยังมีคนที่ไม่ลืมว่าเรายังมีปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขไปพร้อมๆ กัน Helen Regan เป็นโปรดิวเซอร์ฝ่ายดิจิทัลของ CNN เขียนบทความเอาไว้ว่า “โลกกำลังรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับโคโรนาไวรัส เราสามารถทำเช่นเดียวกันสำหรับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

Regan เขียนไว้ว่า “ในขณะที่การระบาดของโรคโคโรนาไวรัสและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่แตกต่างกัน แต่ทั้งสองมี 2 ลักษณะที่สำคัญเหมือนกัน ทั้งสองเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกที่คุกคามชีวิตของผู้คนนับล้าน แต่มีเพียงวิกฤตเดียวเท่านั้นที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความร่วมมืออย่างกว้างขวางและจริงจังจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก”

ข้อสังเกตของ Regan มีส่วนจริงมาก แต่เชื่อว่าหลายคนก็ยังไม่ตระหนักอยู่ดี เพราะแม้ว่าทั้งสองวิกฤตการณ์จะคุกคามชีวิตของผู้คนนับล้าน แต่ไวรัสโควิด-19 เป็นภัยคุกคามเฉพาะหน้ามากกว่า กระทบในทันที และอาจตายได้ในเวลาไม่นาน

ไม่เหมือนกับปัญหาโลกร้อนที่เรายังพอมีเวลาแก้ไขก่อนที่จะถึงจุด point of no return หรือ tipping points หมายถึงวิกฤตที่เลวร้ายจนไม่สามารถแก้ไขกลับมาให้คืนดีได้อีก เช่น เมื่อเลยจุด tipping points ไปแล้วโลกของเราจะร้อนขึ้นจนน้ำแข็งจำนวนมหาศาลละลายไม่หยุด จนน้ำท่วมเมืองใหญ่ริมทะเลจนหมด

กว่าจะถึง tipping points ใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และเมื่อแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วยังต้องรออีกหลายสิบปีกว่าที่โลกจะเผชิญกับวิกฤตที่กระทบต่อชีวิตผู้คนนับล้านอย่างที่บอก

แต่ แต่ แต่! ปัญหาโลกร้อนก็ไม่ได้ผิวเผินแบบนั้นและไม่ต้องรอนานขนานนั้น แม้ว่าโลกร้อนจะไม่ทำให้เราตายในทันที แต่มันทำให้ชีวิตของพวกเราลำบากขึ้นแล้ว เช่น อากาศที่ร้อนจัดขึ้นทุกที ฟ้าฝนที่แปรปรวน สภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ สิ่งเหล่านี้กระทบเราโดยตรงและยังมีผลทางอ้อม เช่น ภัยพิบัติที่ถี่ขึ้นจนกระทบเศรษฐกิจ

โลกร้อนยังทำให้ permafrost หรือดินที่แช่แข็งมานานหลายหมื่นปีของพื้นที่หนาวจัดละลายอย่างรวดเร็ว ปลดปล่อยแบคทีเรียและไวรัสที่ถูกขังไว้เมื่อหลายหมื่นปีมาแล้วออกมา เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแล้วที่ไซบีเรียเมื่อหลายปีก่อนซึ่งเชื้อแอนแทร็กซ์จากหลายหมื่นปีก่อนโผล่ออกมาอีกครั้งเมื่อน้ำแข็งละละลาย

ดังนั้น โลกร้อนกับไวรัสจึงเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวพอๆ กัน เมื่อคิดดูดีๆ โรคระบาดในระยะหลังเกิดจากการทำลายระบบนิเวศโดยตรง เช่น การรุกพื้นที่ป่าจนทำให้ค้างคาวต้องออกมาเกลือกกลั้วกับแหล่งที่อยู่อาศัย หรือคนไปหาสัตว์ป่าแปลกๆ มากินกันมากขึ้น

ปัญหาใหญ่ทั้ง 2 ปัญหาของโลกจึงเกี่ยวข้องกัน แม้ว่าตอนนี้เราจะต้องทุ่มเทเพื่อสู้กับไวรัสก่อน เพราะอันตรายมากกว่า แต่เราจะต้องไม่ลืมว่ายังมีภัยคุกคามที่ร้ายพอๆ กันรอตะครุบเราอยู่

ตอนนี้ เราจะเห็นข่าวว่าพื้นที่ระบาด เช่น ในจีนและอิตาลีมีมลพิษลดลงเพราะการกักกัน มีสัตว์กลับเข้ามาในเมืองใหญ่ เช่น ฝูงปลาในน้ำใสและโลมาที่กล้าเข้ามาในเวนิสอีกครั้ง สิ่งเหล่านี้คือเครื่องเตือนใจเราว่าโลกเรายังมีสิ่งสวยงามมากมายที่ห่างหายไปเพราะน้ำมือมนุษย์

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย