รพ.ซิดนีย์ช่วยลูกเต่าตนุ
ใช้เวลานาน 6 วัน
อึออกเป็นขยะพลาสติกเต็มท้อง

by Admin

โรงพยาบาลสัตว์ Taronga Zoo ในสวนสัตว์ทารองกาได้ช่วยเหลือลูกเต่าตนุตัวขนาดจิ๋ว 127 กรัม หลังพบว่าได้กินขยะพลาสติกบริเวณชายหาดซิดนีย์เข้าไปมากจนต้องใช้เวลาหกวัน กว่าจะขับพลาสติกออกมาได้โดยที่ไม่มีเศษอุดจาระออกมาเลย

โรงพยาบาลสัตว์ทารองกาต้องดูแลเต่าทะเลมากถึง 80 ตัวต่อปี มีทั้งเข้ามารักษาอาการบาดเจ็บจากเบ็ดตกปลา ตะขอ และพลาสติก แม้ว่าทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ก็พบว่าในแต่ละปีมีขยะเหล่านี้มากกว่า 8 ล้านตันยังคงไหลงสู่มหาสมุทรทั่วโลก 

สำหรับเต่าตนุ (Green Turtle) ชื่อวิทยาศาสตร์ Chelonia mydas เป็นเต่าทะเลมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เมื่อตัวโตเต็มวัยจะมีความยาว 120 ซม. หนัก 150 กก. กินพืชเป็นหลัก เช่น หญ้าทะเลและสาหร่าย แต่ในวัยเด็กจะกินอาหารหลากหลายทั้งปู แมงกระพรุน และฟองน้ำ เต่าตนุได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างความสมบูรณ์ให้กับแนวหญ้าทะเลและระบบนิเวศในบริเวณใกล้เคียง เพราะคอยทำหน้าที่เหมือนคนสวนที่แทะก้านใบเก่าๆ เปิดโอกาสให้หญ้าทะเลแตกใบใหม่ 

มันแตกต่างจากเต่าทะเลอื่นตรงที่มีจะงอยปากค่อนข้างทู่เมื่อเปรียบเทียบกับเต่ากระ ริมฝีปากทั้งบน-ล่างมีรอยหยักขนาดเล็ก และมีกระดองสีน้ำตาลอมเหลืองมีลายริ้วสีจางกว่ากระจายจากส่วนกลางเกล็ด จึงมีชื่อเรียกว่า เต่าแสงอาทิตย์ โดยเพศเมียในช่วงเต็มวัยจะวางไข่ทุก 2 ปีตั้งแต่ช่วงอายุ 14-25 ปี ซึ่งสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่มีช่วงสูงสุดระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค. 

เต่าตนุทั้งเพศผู้และเพศเมียสามารถผสมพันธุ์ได้ทีละหลายตัวเช่นเดียวกัน ในช่วงวัยเด็กเต่าตนุกินทั้งพืชและสัตว์น้ำเล็กๆ เป็นอาหาร เมื่อโตเต็มวัยจะกินพืชเป็นหลัก เช่น สาหร่ายทะเล และหญ้าทะเล ถือเป็นเต่าทะเลชนิดเดียวที่กินพืช สามารถพบเต่าตนุได้ในเขตร้อนตามแนวชายฝั่ง ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน

ภาพจาก : Taronga Zoo

อย่างไรก็ตาม พบเต่าตนุในเขตร้อนและกึ่งร้อน ตามแนวชายฝั่ง แหล่งหญ้าทะเลและเกาะ โดยมันทำรังอยู่ในกว่า 80 ประเทศ แต่ในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่พบในหมู่เกาะฮาวาย ดินแดนเกาะแปซิฟิกของสหรัฐฯ (กวม เครือจักรภพของหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา และอเมริกันซามัว) เปอร์โตริโก เวอร์จิน หมู่เกาะและฟลอริดา

สำหรับประเทศไทยพบการแพร่กระจายในธรรมชาติ ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน แหล่งวางไข่ในฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ เกาะคราม จ.ชลบุรี และเกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ส่วนฝั่งอันดามัน ได้แก่ เกาะสิมิลัน เกาะสุรินทร์ (เกาะตอริลลา เกาะสต็อก) เกาะระ เกาะพระทอง เกาะคอเขา จ.พังงา และหมู่เกาะอาดังราวี จ.สตูล

ในช่วงปี 2563-2564 มีเต่าเต่าตนุขึ้นมาวางไข่ฝั่งอันดามันใน จ.ภูเก็ต และพังงาอย่างต่อเนื่อง สถานภาพปัจจุบันเต่าตนุถูกจัดให้มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ในระดับโลกโดย IUCN Red List อยู่ในระดับเดียวกับเสือโคร่ง และฉลามวาฬ ภัยคุกคามที่สำคัญคือการสูญเสียแหล่งวางไข่ และมลภาวะ โดยเฉพาะปัญหาขยะในทะเล

อ้างอิง:

(Jul 30, 2022) “Tiny turtle pooed ‘pure plastic’ for six days after rescue from Sydney beach” . The Guardian

https://ngthai.com/animals/17967/5-species-turtle-sea-thailand/

https://www.fisheries.noaa.gov/species/green-turtle

Copyright @2021 – All Right Reserved.