เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก แต่แนวปะการังที่สวยงามเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจากหลายปัจจัย ทั้งจากสภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้น รวมทั้งถูกปลาดาวมงกุฎหนาม (COTS) กัดกิน ซึ่งปลาดาวมงกุฎชนิดนี้พบได้ทั่วภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
หลายๆ ฝ่ายพยายามช่วยกันหาทางออกให้สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ล่าสุด เอเมเลีย เดสเบียนส์ (Amelia Desbiens) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ พบว่า ปูแดง หรือ “Schizophrys aspera” มีความหิวกระหายปลาดาววัยอ่อน ดังนั้น ปูแดงตัวเล็กๆ สามารถช่วยหยุดปัญหาที่กำลังเผชิญกันอยู่ได้
เธอระบุว่า ปูแดงเป็นสัตว์นักล่าที่ดีที่สุดชนิดหนึ่งของ COTS และอาจเป็นกันชนตามธรรมชาติ (Buffer Zone) ต่อการระบาดในอนาคตตามแนวปะการัง
สำหรับ เกรตแบร์ริเออร์รีฟถูกทำลายจนเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วถูกระบุไว้ในรายชื่อมรดกโลกที่ตกอยู่ในอันตราย ทางองค์การยูเนสโก, ศูนย์มรดกโลก และ International Union for Conservation of Nature แนะนำให้แนวปะการังที่มียาวถึง 2,300 กิโลเมตร ในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย และเป็นระบบนิเวศแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกต้องได้รับการฟื้นฟู
เกรตแบร์ริเออร์รีฟได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2524 แต่หลังจากนั้นเริ่มมีปัจจัยคุกคามหลายด้านและถูกระบุให้ได้รับการฟื้นฟู ปัจจัยที่ว่า อาทิ คลื่นความร้อนใต้น้ำและพายุไซโคลน รวมทั้งเคยเกิดการฟอกขาวครั้งใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุจากหลายปัจจัยเหล่านั้นได้ทำลายแนวปะการังบางส่วนจากทั้งหมด 3,000 แห่งของเกรตแบร์ริเออร์รีฟจนเข้าสู่สถานะ “ล่มสลาย”
ปลาดาวมงกุฎหนามเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคาม โดยรัฐบาลออสเตรเลียประเมินว่า ผู้ล่าเหล่านี้มีส่วนทำให้ปะการังลดลงประมาณ 42% ระหว่างปี 2528-2555 ปลาดาวมงกุฎมีแขนมากถึง 21 ข้าง รังไข่มากกว่า 600 ข้าง และมีหนามปลายแหลมเป็นร้อยที่มีพิษ และที่สำคัญมันสามารถกินปะการังได้ 10 ตารางเมตรต่อปี และมีจำนวนมากนับล้านตัว
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ได้ทดสอบความอยากอาหารของปู กุ้ง หนอน หอยทาก และปลาขนาดเล็กกว่า 100 สายพันธุ์โดยพบว่า ปูแดงเป็นสัตว์นักล่าที่บริโภค COTS อย่างสม่ำเสมอมากที่สุด โดยคิดเป็น 89% ของการทดลองให้อาหาร นั่นเท่ากับความหิวกระหายของปูแดงแต่ละตัวที่กินปลาดาวมากกว่า 5 ตัวต่อวัน เป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมแนวปะการังบางส่วนจึงได้รับอันตราย และบริเวณใกล้เคียงทำไมไม่ถูกทำลาย
อ้างอิง:
- Charlotte Elton – Apr 10 2023 ‘Natural buffer’: Could this tiny red crab help protect the Great Barrier Reef?
- https://reefresilience.org/th/crown-of-thorns-starfish/
เครดิตภาพ: University of Queensland