การประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 หรือ COP 25 จะจัดขึ้นที่กรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปน ระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม พ.ศ. 2562 โดยมีชิลีทำหน้าที่ประเทศเจ้าภาพและประธานการประชุมในฐานะตัวแทนภูมิภาคลาตินอเมริกาตามธรรมเนียมของการประชุม COP ที่จะหมุนเวียนเจ้าภาพไปตามภูมิภาคต่าง ๆ
แม้อาจจะฉุกละหุกไปบ้างสำหรับสเปนที่ต้องมาเตรียมสถานที่และระบบโลจิสติกส์ในการประชุมอย่างกะทันหันภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ หลังจากชิลีไม่สามารถจัดประชุมขึ้นที่กรุงซานดิอาโกเมืองของตนเองได้จากเหตุการณ์ประท้วงภายในประเทศ (1)
เดินหน้าตามเป้าหมายเดิม
แต่อย่างไรก็ดี การประชุม COP 25 ในครั้งนี้ยังเดินหน้าและคงเป้าหมายเดิมนั่นก็คือ “ถึงเวลาลงมือ” หรือ Time for Action ซึ่งหมายถึงการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายลงมือใช้มาตรการต่าง ๆ จากการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนโดยเร็วที่สุด ตามสโลแกนของการประชุม COP 25 ที่เจ้าภาพได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น
ประธานาธิบดีเซบัสเตียน ปิเญรา (Sebastián Piñera) แห่งชิลี ได้กล่าวในพิธีเปิดตัว COP 25 ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงซานติอาโก เมื่อเดือนเมษายน 2562 โดยมีแขกเข้าร่วมกว่า 500 คน ว่า “นี่จะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับชิลีและทั่วโลกที่จะได้ตระหนักอย่างแท้จริงว่า เวลากำลังหมดลงไปทุกวัน และเป้าหมายกำลังมีความเร่งด่วนมากขึ้น ต้องการความมุ่งมั่นมากขึ้น และจำเป็นต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น ดังนั้นเวลาที่ต้องลงมือทำได้มาถึงแล้ว (the time for action has arrived)” (7)
เป้าหมายของชิลีได้รับการตอบสนองโดยกลุ่มสหภาพเบื้องหลังวิทยาศาสตร์ (United Behind Science) ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานของการประชุมคือ คาโรลินา ชมิดท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของชิลี (ก่อนการย้ายสถานที่ประชุม) เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย Time for Action โดยมีใจความว่า
“พวกเราสหภาพเบื้องหลังวิทยาศาสตร์ พวกเราเขียน (จดหมาย) เพื่อแสดงการสนับสนุนอย่างแรงกล้าต่อเป้าหมาย Time for Action ของการประชุม COP 25 นอกจากนี้เรายังต้องการเน้นย้ำว่า ผลพวงจากการประชุมที่ซานติอาโกจะเป็นการวางรากฐานสำหรับการดำเนินบทบาทต่อไปของเมือง รัฐ ภูมิภาคธุรกิจ นักลงทุน ประชาสังคม และคนอื่น ๆ ให้ทำงานเคียงข้างกัน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของความตกลงปารีสในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เราให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อให้คุณ (ชิลี) ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ในการประชุม COP 25 ที่ต่อยอดเป้าหมาย Global Climate Action ของ UNFCCC ภายหลังจากปี พ.ศ. 2563” (8)
การประสานของสามฝ่าย
สำหรับการประชุมครั้งนี้ คาโรลินา ชมิดท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของชิลี ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยรัฐบาลสเปนจะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ คือสถานที่จัดประชุม ส่วนสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลชิลีและสเปนเพื่อจัดการประชุมให้บรรลุเป้าหมายอย่างราบรื่น
ขณะที่วาระการประชุมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากกำหนดการเดิมที่เตรียมไว้ในการประชุมที่กรุงซานติอาโก โดยระหว่างการประชุมช่วง 11 วัน จะมีการจัดการประชุมพร้อมกันถึง 5 การประชุม คือ COP 25 (การประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 25), CMP 15 (พิธีสารเกียวโตครั้งที่ 15), CMA 2 (ความตกลงปารีสครั้งที่ 2), SBSTA 51 (การประชุมองค์กรย่อยเพื่อให้คำปรึกษาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 51) และ SBI 51 (การประชุมองค์กรย่อยเพื่อการปรับใช้ครั้งที่ 51) (2)
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการประชุม COP 25 ขึ้นที่มาดริด (หรือที่จริงคือซานติอาโก) ได้มีการประชุมล่วงหน้า (pre-COP) ที่ประเทศคอสตาริกา เมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างการประชุม UN Climate Action Summit ที่นิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมากับการประชุม COP 25 ในเดือนธันวาคม และหาทางออกให้กับประเด็นที่ติดค้างจากการประชุม COP 24 ที่โปแลนด์ ตลอดจนพิจารณารายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เช่น รายงานเกี่ยวกับผลกระทบทางทะเล (3)
ความท้าทายของเจ้าภาพสเปน
1. ผู้ประสานงานจัดการประชุม COP 25 คือสถาบันการจัดมหกรรมแห่งมาดริด (IFEMA) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของมาดริดที่รับผิดชอบงานแสดงสินค้า ศูนย์จัดแสดง และการประชุม หลังจากรับหน้าที่ผู้จัดการได้ไม่กี่วัน IFEMA ก็สร้างความเชื่อมั่นด้วยการประกาศเข้าร่วมกับ Global Compact UN ซึ่งเป็นพันธกิจของภาคธุรกิจที่จะใช้นโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืน
2. งาน COP 25 จะมีผู้คนเข้าร่วมราว 25,000 คน จาก 200 ประเทศ ตามปกติแล้วการประชุมสุดยอดของสหประชาชาติจะใช้เวลาเตรียมการระหว่าง 1 – 2 ปี แต่มาดริดมีเวลาแค่ 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนในการเตรียมงาน
3. ความท้าทายสำคัญคือการขนส่ง (โลจิสติกส์) และการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยที่ต้องรัดกุมอย่างมาก เพราะมีผู้นำและบุคคลสำคัญจากทั่วโลกเข้าร่วม แต่สเปนมีเวลาเกณฑ์หน่วยรักษาความปลอดภัยและซักซ้อมเจ้าหน้าที่แค่ 1 เดือนกับภาระรักษาความปลอดภัยผู้คน 25,000 คนในพื้นที่การประชุม 80,000 ตารางเมตร
4. อีกความท้าทายคือที่พักของผู้เข้าร่วมงาน เนื่องจากงานจัดขึ้นอย่างกระทันหันทำให้การจองโรงแรมต้องทำอย่างฉุกละหุกเช่นกัน แต่จากการรายงานของนิตยสารธุรกิจ Forbes ทำให้ทราบว่าผู้บริหารธุรกิจโรงแรมในมาดริดตอบรับความท้าทายนี้ด้วยความเต็มใจ เพราะนอกเหนือจากการส่งเสริมภาพลักษณ์ระดับสากลของสเปนแล้ว COP 25 ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาคบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการขนส่ง (4)
รัฐบาลสเปนมีท่าทีตรงกันข้ามกับประธานาธิบดีบราซิลคนใหม่ที่ต่อต้านความร่วมมือระหว่างประเทศ และต่อต้านข้อตกลงเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนจนขู่ที่จะถอนตัวจากความตกลงปารีสมาแล้ว (5)
โดยนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ (Pedro Sánchez) แห่งสเปนมีแถลงการณ์ยืนยันว่า “รัฐบาลของเรายังคงมุ่งมั่นต่อความก้าวหน้าที่ยั่งยืนและการเปลี่ยนผ่านด้านนิเวศวิทยาที่เที่ยงธรรม” และเมื่อเดือนตุลาคม สเปนและสมาชิกสหภาพยุโรปอีก 7 ประเทศ เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเพิ่มเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์จาก 40% มาอยู่ที่ 55% ในปี พ.ศ. 2573 (4)
ในด้านการเตรียมความพร้อม นอกจากสเปนจะกระตือรือร้นอย่างมากแล้ว ยังยื่นมือเข้าช่วยเหลือนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น เกรต้า ธันเบิร์ก หลังมีการเปลี่ยนสถานที่จัดประชุมอย่างกะทันหัน ซึ่ง เตเรซา ริเบรา (Teresa Ribera) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของสเปน กล่าวว่า รัฐบาลสเปนจะช่วยให้ เกรต้า ธันเบิร์ก ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้ทันเข้าร่วมการเจรจาสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (6)
การเจรจาเรื่องโลกร้อนหรือ COP 25 ที่แม้ดูจะฉุกละหุกไปบ้างในระยะเตรียมการ ทว่าการดำเนินการจัดประชุมก็สามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามปรกติ แม้ว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาจะถอนตัวอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม
อ้างอิง
1. AP. (November 01, 2019). “UN says COP25 climate talks will take place in Spain in December”.
2. UNFCCC. “UN Climate Change Conference – December 2019”. https://unfccc.int/cop25
3. Mead, Leila. (October 17, 2019). “Pre-COP Links UN Climate Action Summit and Santiago Climate Change Conference”. IISD.
4. Valdivia, Ana Garcia. (November 9, 2019). “Madrid To Organize UN COP25 In Record Time”. Forbes.
5. Watts, Jonathan (November 28, 2018) “Brazil reneges on hosting UN climate talks under Bolsonaro presidency”. The Guardian.
6.. DW. (November 2, 2019). “Spain to help Greta Thunberg get to COP25 in Madrid”.
7. “President Piñera presents COP 25, the world’s most important conference on climate change, which this year will be held in Santiago: “The time for action has arrived”. (April 11, 2019). Government of Chile. Retrieved from https://www.gob.cl/…/president-pinera-presents-cop-25-worl…/
8. “The future of Global Climate Action in the UNFCCC ” (October 7, 2019 ). Open letter by United behind the science. Retrieved from https://static1.squarespace.com/…/30+GGCA.+Open+letter+to+C…