พลาสเตอร์หนังปลานิล คอลลาเจนสูง สมานแผลไฟไหม้

หนังปลานิลสามารถป้องกันการสูญเสียความชื้นและโปรตีนบนบาดแผลได้ และยังยึดเกาะแผลได้ดีช่วยป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอกทำให้แผลหายเร็วขึ้น

ข้อมูลจากองค์กรอนามัยโลกระบุในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากดหตุไฟไหม้ 180,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งรวมถึงบราซิล ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักวิจัยได้ทำการทดลองปลูกถ่ายผิวหนังจากวัสดุหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือ ‘หนังปลานิล’

หนังปลานิลวัสดุชีวภาพที่มีลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่คล้ายคลึงกับผิวหนังมนุษย์ และปริมาณคอลลาเจนชนิดที่ 1 สูง ซึ่งเป็นชนิดที่ช่วยในการเสริมความยืดหยุ่นและการสมานแผล หนังปลานิลจึงถูกนำมาทดลองเป็นพลาสเตอร์สมานแผล

การศึกษานี้ได้ทำการทดลองกับชายวัย 23 ปี ที่ถูกไฟไหม้ที่ใบหน้า แขน และลำตัว เบื้องต้นนักวิจัยได้นำหนังปลานิลไปฆ่าเชื้อและฉายรังสี ผ่านกระบวนการตรวจสอบว่าไม่พบแบคทีเรียและเชื้อรา ก่อนนำไปแช่เย็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อและปนเปื้อน

จากนั้นทำความสะอาดบาดแผลและเอาเนื้อตายบนแขนของชายดังกล่าวออกก่อนวางหนังปลานิลที่ผ่านกระบวนการข้างต้นลงไปบนแขน เพิ่มครีมซิลเวอร์ซัลฟาไดอาซีนซึ่งเป็นครีมที่ใช้กันทั่วไปในผู้ป่วยแผลไฟไหม้ ปิดทับด้วยผ้าก๊อซและผ้าพันแผลในสัปดาห์แรกเท่านั้นเพื่อให้แน่ใจว่าหนังปลานิลยึดติดอยู่กับบาดแผล

เมื่อถึงวันที่ 12 แขนขวา และ วันที่ 17 (แขนซ้าย) พบว่าแผลไฟไหม้ใต้หนังปลานิลหายเป็นปกติและมีผิวหนังใหม่ถูกสร้างขึ้นมาตามลำดับ และไม่พบผลข้างเคียง


ดร.เอ็ดมาร์ มาซิเอล หนึ่งในผู้เขียนการศึกษากล่าวกับ The New York Times ว่า หนังปลานิลสามารถป้องกันการสูญเสียความชื้นและโปรตีนบนบาดแผลได้ และยังยึดเกาะแผลได้ดีช่วยป้องกันการปนเปื้อนจากภายนอกทำให้แผลหายเร็วขึ้น

ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีการนำหนังปลานิลมาใช้รักษาผิวหนังมนุษย์ แผลไฟไหม้ในเด็ก หรือสุนัขอยู่หลายครั้ง แต่โรงพยาบาลรัฐในบราซิลก็ยังคงใช้ผ้าพันแผลและผ้าก๊อซซึ่งมีความสิ้นเปลืองในการเปลี่ยนทิ้งอยู่บ่อยครั้ง

ในปี 2565 มีการศึกษาพบว่าหนังปลานิลมีประสิทธิภาพในการควบคุมและกักเก็บสารคัดหลั่งจากแผลไฟไหม้ได้ดีกว่าผ้าก๊อซ ราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว และเป็นวัสดุชีวภาพที่ยั่งยืนกว่า

ที่มา

  • Innovative treatment using tilapia skin as a xenograft for partial thickness burns after a gunpowder explosion. PMC PubMed Central.
  • Efficacy of tilapia skin xenograft compared to paraffin-impregnated gauze as a full-thickness burn dressing after excisional debridement: A case series. International Journal of Surgery Case Reports.

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน