วาฬกำลังเผชิญกับภัยคุกคามที่หลากหลายและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยการเปิดเผยข้อมูลจากแผนที่ดาวเทียมที่ติดตามวิถีชีวิตวาฬครั้งแรกของโลกในรายงานล่าสุด Protecting Blue Corridors (ปกป้องเส้นทางสีน้ำเงิน) ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) พบว่า ‘ซุปเปอร์ไฮเวย์อพยพ’ ที่เป็นแหล่งอาหารของพวกมันถูกคุกคามอย่างหนัก
ภัยคุกคามเหล่านี้มีความรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ที่อยู่อาศัยในมหาสมุทรที่สำคัญ’ ของวาฬ คือบริเวณที่พวกมันให้อาหาร ผสมพันธุ์ ให้กำเนิด และเลี้ยงลูกของพวกมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ซุปเปอร์ไฮเวย์อพยพ’ ของวาฬ หรือ ‘เส้นทางสีน้ำเงิน’ (blue corridors)
คริส จอห์นสัน ผู้นำระดับโลกด้านการอนุรักษ์วาฬและโลมาของ WWF กล่าวว่า ผลกระทบสะสมจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การประมงในอุตสาหกรรม การปะทะเข้ากับเรือ มลพิษจากสารเคมี พลาสติกและทางเสียง การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังเป็นแนวโน้มที่อันตรายและบางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้วาฬเสียชีวิต
รายงานระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ การกระจาย และประเภทของเหยื่อ ภาวะโลกร้อนเปลี่ยนจังหวะเวลาของเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของวาฬรวมถึงการอพยพ อีกทั้งน้ำแข็งละลายทำให้ที่อยู่อาศัยที่สำคัญลดลงและให้การปกป้องจากผู้ล่าน้อยลง
นอกจากนั้น วาฬมีฟัน เช่น วาฬสเปิร์มมักกินพลาสติกเข้าไป เพราะพลาสติกทำให้พวกมันสับสนคิดว่าเป็นเหยื่อ วาฬบาลีนกินพลาสติกเข้าไปทางอ้อมโดยที่เหยื่อของพวกมันมีไมโครพลาสติก
จากการสำรวจพบว่า นอกจากอาหารแล้วมลพิษทางเสียงจากการสำรวจและการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซใต้น้ำ รวมทั้งการขนส่งที่เกี่ยวข้องก็รบกวนวาฬและเหยื่อของพวกมันไปจนถึงภัยคุกคามที่หนักกว่าอย่างการรั่วไหลของน้ำมันด้วย
อุปกรณ์ประมงที่มีขนาดใหญ่มากซึ่งเป็นการกวาดจับที่มากเกินไป ทำให้แทนที่จะได้ปลาที่มนุษย์รับประทานกลับได้วาฬและโลมาติดมาด้วย และยังมี “อวนผี” คืออวนที่ถูกทิ้งไว้ทำให้วาฬต้องติดพันพวกมัน นอกจากนี้ เส้นทางเดินเรือเดินสมุทร (เช่น การส่งสินค้าและพลังงาน) ที่คับคั่งยังทับ ‘เส้นทางสีน้ำเงิน’ อีกด้วย
“สิ่งที่อันตรายที่สุดคือการเข้าไปติดกับอุปกรณ์ตกปลา ซึ่งคร่าชีวิตวาฬ โลมา และปลาประมาณ 300,000 ตัวในแต่ละปี ที่แย่ไปกว่านั้นเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นตั้งแต่อาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) ไปจนถึงแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้)” จอห์นสัน กล่าว
ผลที่มาจากอันตรายเหล่านี้ทำให้วาฬ 6 ใน 13 สายพันธุ์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หรือเสี่ยงภัยโดย IUCN แม้ว่าจะมีการคุ้มครองหลังจากการล่าวาฬเชิงพาณิชย์มานานนับทศวรรษแล้วก็ตาม
แม้แต่ในน่านน้ำของสหภาพยุโรป โลมาท่าเรือ (Harbour Porpoise) ที่อาศัยในทะเลบอลติกกำลังเผชิญกับการสูญพันธุ์ โดยพวกมันเหลือเพียงไม่กี่ร้อยตัว สาเหตุเพราะการดักจับสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม อาหารที่ลดลง และการรบกวนจากเสียงใต้น้ำ
โลมากำลังตกเป็นเหยื่อที่พันธนาการด้วยอุปกรณ์ประมง เฉพาะในอ่าวบิสเคย์ของฝรั่งเศสเพียงแห่งเดียวระหว่างเดือนธันวาคม 2018 ถึงมีนาคม 2019 มีวาฬและโลมาตายไปถึง 1,200 ตัว
ดร.แอนโทเนีย เลอรอย หัวหน้าฝ่ายนโยบายมหาสมุทรของสำนักงานนโยบายยุโรปของ WWF กล่าวว่า วาฬ 5 ใน 6 สายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์หรือกำลังเสี่ยงภัยทั่วโลกอาศัยอยู่ในน่านน้ำยุโรป ล้วนแต่เกิดจากการแทรกแซงของมนุษย์ใน ‘เส้นทางสีน้ำเงิน’
เขาเสนอให้ปิดการประมงตามฤดูกาลและติดอุปกรณ์บนเรือประมงเพื่อป้องกันการจับวาฬและโลมาโดยบังเอิญจากเรือเหล่านี้ ซึ่งท้ายที่สุดจะป้องกันไม่ให้พวกมันถูกเล่นงานโดยอุปกรณ์ประมง และที่สำคัญสามารถจัดสรรพื้นที่สำหรับธรรมชาติในการฟื้นฟูและเจริญเติบโต
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการอนุรักษ์แบบใหม่เพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นและเพื่อปกป้องวาฬ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากระดับท้องถิ่นสู่ระดับภูมิภาคถึงระดับนานาชาติ
ความเร่งด่วนเป็นพิเศษในเวลานี้ก็คือการมีส่วนร่วมกับสหประชาชาติ ซึ่งกำหนดให้การเจรจาเกี่ยวกับสนธิสัญญาใหม่สำหรับทะเลหลวง (พื้นที่นอกเขตอำนาจศาลแห่งชาติของประเทศต่าง ๆ) คาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนมีนาคมปีนี้
มาตรการเหล่านี้จะช่วยปกป้อง ‘เส้นทางสีน้ำเงิน’ ที่วาฬและโลมาอาศัยอยู่ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการคุ้มครอง ‘เส้นทางสีน้ำเงิน’ นั้นกว้างไกลเกินกว่าปกป้องชีวิตของวาฬมาก
มีหลักฐานแสดงให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าวาฬมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพของมหาสมุทรและสภาพอากาศโลกของเรา โดยวาฬตัวหนึ่งจับคาร์บอนในปริมาณเท่ากันกับต้นไม้หลายพันต้น
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินมูลค่าวาฬตัวใหญ่ตัวเดียวที่มากกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (64 ล้านบาท) ซึ่งหากรวมประชากรวาฬขนาดใหญ่ทั่วโลกในปัจจุบันก็จะมีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (32 ล้านล้านบาท)
หมายเหตุ – แผนที่และรายงานอิงตามเส้นทางดาวเทียมทั่วโลกของวาฬอพยพ 900 ตัว โดยเน้นย้ำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ 30 ปีจากกลุ่มวิจัยมากกว่า 50 กลุ่ม โดยเป็นการวิเคราะห์ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชั้นนำจาก Oregon State University, University of California Santa Cruz, University of Southampton และอื่น ๆ
ข้อมูลจาก
- “Whales face increasing dangers on migratory superhighways, new map shows”. (17 February 2022). WWF.
- Protecting Blue Corridors (February 2022). WWF.