มีข้อมูลบ่งชี้แล้วว่าหลายพื้นที่ของไทย พื้นที่แล้งจะแล้งหนัก และท่วมจะท่วมหนัก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่แน่ว่าในอนาคตไปเชียงรายอาจจะไม่หนาวแล้ว
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ Weather Extremes สภาวะอากาศสุดขั้ว? วันที่ 29 ก.ย. 65 ตอนหนึ่งว่า จากสถิติพบว่าไทยเคยอยู่ในประเทศที่เสี่ยงภัยพิบัติอันดับ 10 และ 13 ของโลก และได้รับเสียหายจากภัยแล้งที่สุด โดยในปี 2561 อยู่ลำดับ 8 ของโลก
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว IPCC (คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) ได้ออกรายงานฉบับหนึ่ง และส่งให้กับเหล่าผู้นำโลกให้ไปคุยกันว่าจะช่วยโลกยังไง ซึ่งในรายงานนี้มีความสำคัญอยู่ 3 คือ “แพร่หลาย รวดเร็ว รุนแรง” นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ มองในแง่อุณหภูมิ ฝนตก ภัยแล้ง น้ำท่วม และน้ำทะเลสูงขึ้น เพื่อคุยกันเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 เพื่อลด 50% ก่อนและอีกประมาณ 30 ปีจะ Net Zero ถ้าแก้ไม่ได้ครึ่งหนึ่งก่อนจะเจอ 1.5 องศา ตอนนี้ก็เจอ 1.1 องศาซึ่งเจอซุปเปอร์โนรุแล้ว ถ้า 1.5 องศาจะเจอขนาดไหน ต้องรอดูต่อไป
ในการประชุม COP26 อินเดียกับจีนก็บอกว่าจะใช้ถ่านหินให้มากที่สุดในปี 2030 เพราะถ่านหินเยอะ ตอนนี้เยอรมันก็กลับมาใช้ถ่านหิน ดังนั้นการจะลด 50% ตัดประเด็นนี้ไปได้เลย เพราะมหาอำนาจไม่เอา ผลประชุม COP ไม่ชนะ หรือถ้าชนะก็เปราะบางมาก
ในฐานะทำงานร่วมกับ IPCC ด้วยอาจารย์เสรีระบุว่า สถิติรายงาน IPCC พบว่า
แม้ตอนนี้พายุต่างๆ จะอ่อนกำลังจากไต้ฝุ่นเป็นพายุโซนร้อน และอ่อนกำลังเป็นร่องความกดอากาศก็ตาม แต่มีความเป็นไปได้ที่พายุไต้ฝุ่นจะมีโอกาสเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น หรือพายุโซนร้อนจะเป็นใต้ฝุ่นได้
“เรื่องพายุหมุนเขตร้อน ถ้าโลกอุณหภูมิ 1.5 จะเพิ่มขึ้น 10% อุณหภูมิเพิ่ม 2 องศาจะเป็น 13% และอุณหภูมิ 4 องศาจะเพิ่มอีก 20% คำถามคือ อันที่เป็นไต้ฝุ่น มันก็จะกลายเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น ไอ้ที่เป็นโซนร้อนก็จะเป็นไต้ฝุ่น แต่จำนวนพายุไม่เปลี่ยนแปลงนะ ตอนนี้อาจมี 15 ลูก อนาคตอาจมีสัก 18 ลูก คือมันจะรุนแรงมากขึ้น
“ซึ่งหากดูจากความถี่น้ำท่วมที่เห็นในไทย มีข้อมูลบ่งชี้แล้วว่าหลายพื้นที่ของไทย พื้นที่แล้งจะแล้งหนัก และท่วมจะท่วมหนัก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยแต่ละภาค ไม่แน่ว่าอนาคตไปเชียงรายอาจจะไม่หนาวแล้ว ใส่เสื้อกล้ามไปได้เลย”
สำหรับ กทม. น้ำรอระบาย เพราะมีการสร้างถนน ตึก การพัฒนาเมืองที่รวดเร็ว ยกถนนมากขึ้น และแนวโน้มปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และอนาคตคาดว่าจะเกิดในทุก ๆ 10 ปี แต่อาจจะเร็วกว่านั้นหากเราไม่ทำอะไรเลย
อาจารย์เสรี ระบุว่า เทียบน้ำท่วมปี 2554 และ 2565 ช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการยกถนนและสร้างคัน และซอยในกทม.ต่ำกว่าถนน แนวโน้มฝนมีแต่เพิ่มขึ้น หนีไม่พ้นจะมาทุก 10 ปี แต่ไม่ใช้รอ 10 ข้างหน้าแล้วมา แต่หมายถึงจะเกิดตอนไหนก็ได้ใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีระดับน้ำทะเลหนุนโดยจากงานวิจัยพบว่า เมื่อน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น น้ำจะท่วม กทม. เพราะเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง โดยน้ำจะท่วมเข้าถึงนนทบุรีไปจนถึงบางไทร (พระนครศรีอยุธยา) ซึ่งเป็นข้อมูลวิจัยเมื่อปี 2017-2019 ที่ถือว่าใหม่ อีก 80 ปีข้างหน้า ถ้าไม่ทำอะไร น้ำจะท่วมสูงขึ้นไปอีก แต่สามารถทำแบบจาการ์ต้าคือย้ายเมืองหลวง
ส่วนน้ำเหนือ ปีนี้ภาคเหนือตกน้อยกว่าปี 2554 โดยอยู่ที่ 200 มม. ภาคกลางสูงกว่าปี 2554 ปีนี้ทุกภาคตกหนักกว่าปกติ พอดูระดับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้น้ำที่หลากมาจากโนรูจะมาเติมเขื่อนเจ้าพระยา แต่น้ำเหนือคงไม่เท่าปี 2554 แน่ แต่อย่าไปติดกับดักปี 2554 เพราะปีที่แล้วน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 3,458 ล้าน ลบ.ม. ปีนี้มากกว่าสองเท่า แต่ก็น้อยกว่าปี 2554 เพราะมีการยกถนน สร้างคัน น้ำไม่มีที่อยู่
“โนรูมาก็อาจทำให้น้ำท่วมยาวไปถึงลอยกระทงและถึงปีใหม่เอาออกหมดหรือเปล่าไม่รู้ น่าเห็นใจคนอยุธยา เพราะเก็บน้ำให้คนกรุงเทพฯ ดังนั้น ฝนจากพายุโนรูทำให้น้ำมากขึ้น หลายเขื่อนเริ่มมีปริมาณน้ำมาก เช่น เขื่อนป่าสักต้องระบายเพิ่ม เขื่อนกระเสียว เขื่อนทับเสลา ตอนนี้หนักแล้ว คนอุทัย สุพรรณ ชัยนาทต้องระวังแล้ว”
“ปีนี้น้ำจะท่วมใหญ่หรือไม่ อาจารย์เสรีระบุว่า “น้ำท่วมปี 2554 จะต่างจากปีนี้ที่น้ำตกในทุ่งและค่อยๆ ไหลลงแม่น้ำ ซึ่งแม่น้ำมีพนังกั้นน้ำเมื่อไปไม่ได้ก็จะมีการสูบออก ซึ่งทุกที่จะมีแต่การสูบน้ำออก สุดท้ายจะมาสู้กันที่คลองรังสิตฯ และคลองมหาสวัสดิ์ แต่จะสูบไหวมั๊ย” รศ. ดร.เสรีกล่าว