‘บ้านพลาสติก’ ของปูเสฉวน เรื่องจริงที่ไม่ได้มีแค่ในนิทาน

ปูเสฉวน 2 ใน 3 สายพันธุ์ทั่วโลกกำลังนำขยะพลาสติกมาใช้เป็น ‘บ้าน’ หรือเกราะห่อหุ้มร่างกาย

การศึกษานิเวศวิทยาทางอินเทอร์เน็ต (iEcology) นักวิจัยพบว่า 85% ของ ภาพปูเสฉวน 386 ภาพที่เผยแพร่สาธารณะผ่านโซเชียลมีเดีย ใช้ขยะพลาสติกเป็นเกราะหุ้มร่างกาย โดยขยะที่พบส่วนมากเป็นฝาขวดพลาสติก

จากการคำนวณพบว่าปูเสฉวน 10 ใน 16 สายพันธุ์ในโลกที่ถูกบันทึกผ่านภาพถ่ายอยู่ใน ‘เปลือกหอยเทียม’ จากขยะที่มนุษย์ทิ้งขว้าง

ขยะพลาสติกนั้นคิดเป็น 85% มลพิษขยะทั่วโลก และเป็นขยะที่พบได้มากในทะเล ตามรายงานของ UNEP ระบุว่าในทุกปีจะมีขยะพลาสติก19-23 ล้านตันรั่วไหลลงสู่ระบบนิเวศทางน้ำ ทะเลสาบ แม่น้ำ และทะเลที่ก่อให้เกิดมลพิษ

การค้นพบนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science of the Total Environment ซึ่งเป็นวารสารทางวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติ โดยการศึกษานี้เป็นแบบ iEcology ที่ใช้แหล่งข้อมูลออนไลน์เป็นเครื่องมือใหม่ในการวิจัยทางนิเวศวิทยา

มาร์ทา ซูลกิน หนึ่งในนักวิจัยอธิบายว่า เธอเริ่มสังเกตเห็นบางอย่างของปูเสฉวนที่ผิดปกติไปจากธรรมชาติ “แทนที่มันจะถูกประดับประดาด้วยเปลือกหอยที่สวยงามอย่างที่เราคุ้นเคย แต่พวกมันกลับมีฝาขวดพลาสติกสีแดงหรือชิ้นส่วนของหลอดไฟอยู่บนหลัง”

ปูเสฉวนต้องปกป้องส่วนท้องที่อ่อนนุ่มของมัน โดยปกติแล้วพวกมันจะซ่อนตัวอยู่ในเปลือกหอยที่ตัวตายแล้วทิ้งไว้แต่เปลือก

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าปูเสฉวนสาเหตุที่ปูเสฉวนเลือก ‘บ้านพลาสติก’ เพราะอำพรางได้ดีขึ้นในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ หรือเพราะในทะเลและชายฝั่งมีเศษขยะมากกว่าเปลือกหอยที่เหมาะสมกับพวกมัน

ปรากฎการณ์ที่ ‘บ้านพลาสติกของปูเสฉวน’ ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงปฏิสัมพันธ์ของปูเสฉวนและพลาสติกที่ใช้แล้ว รวมทั้งทำความเข้าใจว่ามันก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ หรือไม่

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ตอกย้ำได้เป็นอย่างมากว่าขยะพลาสติกที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์กำลังส่งผลกระทบต่อสัตว์ ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

ที่มา

  • The plastic homes of hermit crabs in the Anthropocene. Science of the Total Environment
  • Jan 27, 2024. Pictures reveal hermit crabs are turning to plastic waste to use as shells. The Independent.
  • Jan 28, 2024. Majority of land hermit crab species now use trash for shells. The Washington Post.

Related posts

การเกษตรรักษ์โลก ‘แหนเป็ด’ ซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคตโปรตีนสูง 45%

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย