บทเรียนดับไฟป่ามูลนิธิกระจกเงา ‘ไฟ’ เกิดจาก ‘คน’ รัฐต้องเท่าทันเทคโนโลยี

ปัญหาไฟป่าในจังหวัดภาคเหนือตอนบนเรื้อรังมานานกว่า 10 ปี แม้ภาครัฐจะออกมาตรการมาแก้ไขอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ตรงจุด ตราบที่ปัญหาปากท้องของประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับการดูแล การบริหารจัดการ “ไฟจำเป็น” เป็นทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหา หรือเจอกันครึ่งทาง เพื่อให้ “การเผา” สามารถตอบสนองการยังชีพ หรือคงวิถีการอาศัยอยู่กับป่าของประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อไปได้ แต่รัฐต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อหาจุดสมดุล ไม่ให้เผาแบบเดิม ๆ กลายเป็นสาเหตุในการสร้างความเสียหายต่อส่วนรวม ซึ่งภาครัฐจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ครอบคลุม เพื่อให้วิกฤตฝุ่นควันท่ามกลางภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรง เบาบางและยุติลงได้อย่างเบ็ดเสร็จตามเป้าหมาย  

มูลนิธิกระจกเงาเป็นหนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตั้งทีมอาสาสมัครไปช่วยดับไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่  “ณัฐพล สิงห์เถื่อน” หัวหน้าโครงการอาสาดับไฟป่าของมูลนิธิกระจกเงา และทีมงานได้ลงพื้นที่ไปคลุกอยู่หน้างานดับไฟป่ามาเป็นปีที่ 5 และพวกเขาสรุปว่า “ไฟ” เกิดจาก “คน” ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (1)

คุณณัฐพล สิงห์เถื่อน

ภาครัฐเองก็รับรู้สาเหตุเช่นเดียวกับพวกเขาว่า มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งเผาป่าเพื่อเบิกทางเข้าไปเก็บเห็ด หาของป่า ล่าสัตว์ รวมถึงมีวิถีทำไร่หมุนเวียนของชนเผ่า กระทั่งมีการลักลอบเผาป่าให้ป่าเสื่อมโทรมเพื่อขยายอาณาเขตการทำกิน นอกจากนั้นเป็นไฟที่ลุกลามจากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง (Fire Management) ของหน่วยงานรัฐ แต่ควบคุมไฟไม่อยู่เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ บ้างก็เป็นการเผาในภาคเกษตร แต่เป็นสัดส่วนที่น้อย 

ทีมอาสาดับไฟป่าของมูลนิธิกระจกเงาเจอประสบการณ์จริงมาทุกรูปแบบ “เราเห็นการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่อุทยานฯ แต่เจ้าหน้าที่ไม่กันออก บอกว่าต้องค่อย ๆ ทำ จะไปเอาเขาออกทันทีไม่ได้ ต้องเริ่มจากจำกัดขอบเขต เราพบการเข้าป่าไปเก็บเห็ด ของป่า เผาเพื่อเบิกทางให้เข้าไปง่าย ๆ จากป่าที่รกก็จะเรียบ การทำไร่หมุนเวียนก็ใช้วิธีการเผา การเผาให้ป่าเสื่อมโทรมเพื่อจะใช้ประโยชน์ก็ยังมี เช่น แอบถางไผ่เพื่อขยับเขตทำการเกษตรออกไปเรื่อย ๆ บางคนมีการขยับหมุดก็มี”

การเผาที่มาจากความกลัวก็เป็นอีกสาเหตุ ชาวบ้านเลือกวิธี “เผาชน” เพื่อป้องกันไฟลามเข้าสวนตัวเอง “ผมดับไฟกันอยู่ ห่างออกไป 5-6 กม. โดรนจับได้ว่ามีกลุ่มควัน ผมขับรถเข้าไปถามลุง จุดทำไม ลุงบอกมันเป็นไฟป่า ผมถามทำไมไฟป่าเกิดในที่ของลุง ลุงยอมรับว่าจุดแล้วเอาไม่อยู่ จุดเพราะกลัวไฟมันเข้า ซึ่งการเผาแบบนี้มีเยอะ” 

ทีมอาสาฯ มีการถอดบทเรียนกันต่อเนื่องเพื่อหาวิธีการให้ภารกิจสำเร็จ พวกเขาพบว่า ช่วงที่มีเสียงตามสายประกาศห้ามเผา ชาวบ้านมักไม่อยู่ เพราะไปนอนเฝ้าสวน การประกาศห้ามเผาของผู้ใหญ่บ้านจึงไม่ทั่วถึง รวมทั้งอาจไม่ได้อธิบายถึงโทษของการเผาป่าให้ชัดเจน ในขณะที่ผู้สูงอายุในพื้นที่จำนวนหนึ่งอ่านป้ายประกาศห้ามเผาไม่ออกเลยยังคงเผาป่าในรูปแบบเดิม ๆ

การเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ยังเป็นวิถีการหากินของชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่า ทางอาสาดับไฟป่าไปประสบด้วยตัวเอง โดยขณะกำลังร่วมดับไฟกับเจ้าหน้าที่ก็พบการเผาและจงใจโชว์อาวุธปืนให้ทีมงานเห็นอย่างจงใจ เป็นการเผาเพื่อไล่ต้อนสัตว์ให้ไปรวมอยู่ในจุดเดียวกัน มีวิธีการเผาเพื่อเลี่ยงการตกเป็นเป้าสายตาแตกต่างกันไป อย่างเช่น พบการจุดธูปปักไว้ในจุดที่จงใจจะเผา เพื่อไม่ให้ถูกจับได้ 

“มีหลักฐานหลายอย่างที่ทีมอาสาเจอ ฉะนั้นไฟป่ามาจากฝีมือมนุษย์ 100 เปอร์เซนต์ ยกตัวอย่างที่เชียงราย เด็กคนหนึ่งจับคนเผาป่าได้ เขาเข้าไปตีผึ้ง แล้วโมโหที่ผึ้งต่อยมือก็เลยจุดไฟเผาเสียเลยและกลายเป็นไฟป่า เรายังไปเจอเด็กวัยรุ่นสองคน อายุ 16-17 ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปเผาป่า พอจับได้ก็สารภาพว่ามาเผาป่าจริง ล่าสุดปีนี้ทีมอาสาฯ ยังเจอรถขนไม้ออกจากป่า โดยมีร่องรอยการเผาในพื้นที่ป่าสงวนฯ พบรอยเลื่อยยนต์เป็นหลักฐานด้วย ขณะที่เจอกันด้านนอก เราถามเรื่องไฟ เขาก็เลิ่กลั่ก อ้างว่าเอาไปเผาศพ แต่ขนแต่ไม้ใหญ่ออกมา”

ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ความแห้งแล้งก็มากขึ้น โอกาสเกิดไฟป่าก็จะมากตามมาด้วย นั่นหมายถึงปัญหามลพิษอากาศในจังหวัดภาคเหนือจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่ง “ณัฐพล” และทีมอาสาดับไฟป่าชุดนี้สะท้อนว่า การดับไฟเป็นปลายทาง แต่ถ้าจะดับไฟให้ทันเวลาต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตั้งแต่เทคโนโลยีตรวจจับคนเข้าออกจากป่าเรียลไทม์ โดรนตรวจจับความร้อน โดรนขนส่งอุปกรณ์หรือขนน้ำเข้าพื้นที่ หรือเทคโนโลยีอวกาศที่สามารถส่งตำแหน่งที่อยู่ของทีมดับไฟไปยังดาวเทียมเพื่อป้องกันการหลงทิศในลักษณะจีพีเอส เทรกกิ้ง

ทีมอาสามูลนิธิกระจกเงาเริ่มเข้าพื้นที่ไปดับไฟป่าเมื่อปี 2561 แต่ตั้งเป็นศูนย์อาสาดับไฟป่าขึ้นในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงไฟป่าพีคที่จังหวัดเชียงราย โดยมี ‘ณัฐพล สิงห์เถื่อน’ เป็นหัวหน้าทีม ช่วงที่ไฟป่าเชียงใหม่รุนแรงจะมาช่วยดับไฟที่เชียงใหม่ อย่างเช่นในปี 2567 ไฟป่าเชียงใหม่รุนแรงมาก ในช่วงเริ่มต้นทีมดับไฟป่าของมูลนิธิฯ ไปช่วยทีมดับไฟป่าของ สบอ.ที่ 15 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือทีมสายฟ้า โดยนำโดรนไปถ่ายภาพนิ่ง และช่วยบินไปดูไฟ 

การร่วมงานกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทำให้ทีมอาสาเห็นวิธีทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ รับรู้ปัญหาเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ และข้อจำกัด ขณะเดียวกันได้นำข้อจำกัดมาปรับใช้กับทีมอาสาของมูลนิธิฯ ตัวอย่างเช่น เลือกใช้อุปกรณ์ที่น้ำหนักเบากว่า และคล่องตัวกว่า เช่น อุทยานฯ ไม่ได้ใช้น้ำดับไฟเพราะมีข้อจำกัด แต่มูลนิธิฯ ใช้น้ำ เพราะมีจำนวนอาสาสมัครมากพอ สามารถขนน้ำขึ้นไปได้ และได้นำเครื่องพ่นยาระบบไฟฟ้ามาใช้ฉีดน้ำดับไฟ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ยังใช้เครื่องพ่นแบบคันโยก เนื่องจากหน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดในการจัดซื้อเครื่องมือที่เป็นมอเตอร์หรือไฟฟ้าได้ 

ทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ค่อย ๆ พัฒนาวิธีการและยุทธวิธีในการดับไฟ กระทั่งมีการแบ่งตำแหน่งงานเป็นระบบมากขึ้น มีทีมบัญชาการทำหน้าที่คอยดูภาพรวม และบัญชาการทีมที่เข้าพื้นที่ เริ่มมีเครื่องเป่าใบไม้ชุดละ 5 ตัว มีพลมีดคอยตัดหนามตัดไผ่เบิกทางให้คนทำงานเข้าไปสะดวกและรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ค้นหาแอปพลิเคชันใหม่ ๆ เพื่อนำมาอำนวยความสะดวกในการทำงาน 

อย่างเช่นการเรียนรู้ตำแหน่งไฟในช่วงแรก ทางเจ้าหน้าที่สายฟ้าของอุทยานฯ ใช้แอปพลิเคชัน “คนรักแมป” แต่คนที่ใช้เป็นจะต้องเข้าใจภาษาอังกฤษเท่านั้น ทีมมูลนิธิฯ จึงโหลดหาแอปอื่น ๆ ประเภทออฟไลน์ที่สะดวกกว่าและไม่ต้องพึ่งอินเตอร์เน็ต เนื่องจากในป่ามีข้อจำกัด และเลือกเครื่องมือที่คนในทีมและชาวบ้านเข้าใจ จึงเลือกใช้แอปติดตามตัวที่สามารถส่งตำแหน่งทีมงานได้แบบอัตโนมัติ 

 “เราให้อาสาสมัครที่เป็นชาวต่างชาติของมูลนิธิฯ ประสานไปยังบริษัทสตาร์ทอัปในแคนาดาว่า เราสนใจอุปกรณ์ติดตามตัว เขาก็ส่งเดโมมาให้เราทดลองใช้ 5 ตัว เป็นเครื่องมือในการรู้ตำแหน่งคนที่กำลังเดินไปยังจุดฮอตสปอต (จุดความร้อน) สามารถสื่อสารกันได้ตลอดว่าใครอยู่ตรงไหนแล้ว หรือบอกพิกัดกันได้ทุก 15 นาที เป็นการเช็กทีมว่าตำแหน่งอยู่ที่ไหน ใช่แนวไฟหรือไม่ ป้องกันการแตกตัวออกจากแนวไฟเพราะจะเสียเวลา”

การมีจีพีเอสติดตามตัวทำให้การแบ่งทีมออกเป็นชุดทำได้สะดวก ทั้งแบ่งกันเองและแบ่งกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯนอกจากนั้นเมื่อทีมอาสามีจำนวนคนมากขึ้น ได้กำหนดให้ทุกคนในทีมผูกผ้าสีไว้กับตัวเพื่อกันหลง ทุกคนต้องพกเชือกติดตัวไว้สำหรับใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และที่สำคัญทุกคนต้องมีสมาธิอยู่กับไฟ

การเริ่มงานในแต่ละวัน “ณัฐพล” ในฐานะหัวหน้าทีมจะทำหน้าที่บัญชาการ เริ่มดูดาวเทียมนาซ่า ตั้งแต่ช่วงตี 5 หรือ 6 โมงเช้า จากนั้นเสิร์จกูเกิลแมปเพื่อหาที่หมายว่าไฟไหม้หมู่บ้านไหน เป็นป่าชุมชน ป่าสงวนฯ หรืออุทยานฯ เมื่อทราบพิกัดจะตัดสินใจเลือกพื้นที่ที่ใกล้สุดก่อน เพราะเข้าถึงง่าย จากนั้นจะประสานงานไปยังผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ และเดินทางไปร่วมดับไฟ หากเป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ หรืออุทยานฯ จะประสานเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้น และนัดหมายไปเจอกัน

ในช่วงแรก ๆ การประสานงานกับเจ้าหน้าที่อาจติดขัดบ้าง เนื่องจากต่างก็ไม่รู้จักกัน เจ้าหน้าที่ยังไม่ยอมรับอาสาสมัคร และเกรงว่าการทำงานกับทีมอาสาสมัครจะเกิดอันตราย แม้กระทั่งความไม่มั่นใจในการใช้เครื่องมือ แต่พอทำงานร่วมกันไประยะหนึ่ง ทั้งทีมเสือไฟ เหยี่ยวไฟของราชการก็คุ้นเคยกันมากขึ้น และไว้ใจในภารกิจดับไฟร่วมกันมากขึ้น 

“พอเราเข้าไปช่วยเขาแล้ว หน่วยดับไฟเขาเห็น เขาคงคุยกับหัวหน้าว่าจริง ๆ พวกกระจกเงามันทำจริงไหม หรือมันแค่มาถ่ายรูปแล้วกลับ ไม่ใช่ พวกเราทำจริง ๆ บางพื้นที่ในวันเดียวเดินกลับ 17 กิโล ก็มี ไปกลับ 20 กิโลก็มี ที่เชียงรายเดินจากอำเภอหนึ่งข้ามไปอีกอำเภอ ซึ่งภารกิจเริ่มเข้าที่ในปีที่สอง เครื่องมือก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ บทเรียนในปีแรกที่เราพบคือการใช้โดรนสำหรับถ่ายภาพทั่วไป เห็นควัน บอกตำแหน่งพิกัดได้ แต่ดูไม่รู้เรื่อง เห็นแต่กลุ่มควัน ไม่รู้แนวไฟเหมือนคนตาฟาง”

ในเวลาต่อมาทีมมูลนิธิฯ ได้รับการสนับสนุนโดรนเทอร์มอล หรือโดรนตรวจจับความร้อนจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำให้เปิดโลกทัศน์และเข้าใจว่า เครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการดับไฟป่าคือโดรนสำหรับงานบัญชาการ ซึ่งไม่มีไม่ได้ เพราะไฟไม่ได้ไหม้อยู่จุดเดิม แต่จุดติดแล้วจะเดินทางต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งโดรนจะช่วยให้ทีมเข้าพื้นที่ไปล้อมไฟไว้ได้ทันเวลา

การเดินในป่าระยะไกลจะเสียเวลาและเหนื่อยมากในช่วงสองปีแรก จึงได้ประสานทีมมอเตอร์ครอสมาช่วยลำเลียงอุปกรณ์ และต่อมาได้ซื้อมอเตอร์ไซค์วิบากประจำทีมแทนการเดินเท้า และปีนี้เปลี่ยนมาเป็นรถจักรยานไฟฟ้า และปีต่อไปหากได้โดรนเกษตรที่สามารถขนน้ำระยะทาง 2 กิโลเมตรและขนได้ในปริมาณมากจะช่วยงานได้มากขึ้น แต่ราคายังแพง หากได้รับการสนับสนุนจะช่วยให้ภารกิจดับไฟป่าก้าวหน้าไปกว่านี้ 

“ณัฐพล” ขมวดวิธีการทำงานให้เห็นภาพว่า จะประกอบด้วยทีมส่วนหน้าคือ มอเตอร์ไซค์วิบากวิ่งเข้าพื้นที่ไปดูหน้างานว่าไฟใกล้หรือไกล และช่วยขนของเข้าไป ตามด้วยพลมีดช่วยถางทางเป็นช่วง ๆ ต่อมาทีมเครื่องเป่า ซึ่งบางป่า เครื่องป่าจะนำหน้าถังเหลืองที่มีหน้าที่พ่นน้ำ ป่าบางประเภทให้ถังเหลืองน้ำหน้า เช่น ป่าเต็งรังเพื่อลดความแรงของไฟก่อน แล้วใช้เครื่องเป่าอัดเข้าไปในแนวดำ 

จากนั้นจะเป็นทีมขยายแนวเพื่อไม่ให้เกิดไฟไหม้ซ้ำซ้อน ที่เหลือจะเป็นทีมผู้หญิงหรือคนที่เดินป่าไม่ค่อยแข็งแรงคือ พลไฮยีนคอยทำหน้าที่สนับสนุนถังน้ำช่วยทีมถังเหลือง และทีมสุดท้ายคือทีมเช็กแนวที่ทำหน้าที่ปิดแนวหลัง คอยตรวจดูความเรียบร้อยของแนว หากพบไฟขึ้นอีกจะรีบแจ้งทีมส่วนหน้าให้ย้อนกลับมาดับไฟจนครบวง ภารกิจถึงจะสำเร็จ หรือครั้งไหนไม่แน่ใจจะใช้โดรนบินขึ้นสำรวจแนวไฟอีกรอบเพื่อความแน่ใจ 

นอกจากการแบ่งความรับผิดชอบแล้ว อุปกรณ์สำคัญและขาดไม่ได้อีกอย่างก็คือวิทยุสื่อสารที่ทุกคนต้องมี เพราะจะช่วยไม่ให้หลงป่า ไว้คอยแจ้งเตือนอันตรายหรือแจ้งถอนกำลังกรณีไฟแรง โดยในทีมอาสาจะมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องพฤติกรรมของไฟและประเภทของป่า เพื่อจะได้ทราบว่าป่าลักษณะไหนไม่ควรเข้า ป่าลักษณะไหนอันตรายต้องหนีห่าง เหมือนงานทหารที่ต้องรู้ว่าจะรบอย่างไร 

ปัจจัยความสำเร็จในการดับไฟในแต่ละครั้งจากมุมมองและประสบการณ์ของทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา บอกว่า ขึ้นอยู่กับจำนวนคนและเทคโนโลยีที่ใช้ จำนวนคนกับขนาดของไฟต้องสอดรับกัน คนน้อยไปอาจดับไฟใหญ่ได้ก็จริง แต่มีโอกาสที่ไฟจะลุกขยายวงใหญ่ขึ้น เพราะไฟจะมีหัวไฟ กลางไฟ ท้ายไฟ และไฟข้าง ๆ หากแบ่งทีมดับไฟตามหัวกลางท้ายและข้าง ๆ ได้จะใช้เวลาไม่นาน แต่การเข้าใจสถานการณ์หรือรูปลักษณ์ของไฟจะยิ่งมีความสำคัญ

“ตอนนี้ในทีมใช้คน 40-50 คน ถ้ามีเป็น100 คนยิ่งดี เคยมีมากสุดที่เชียงใหม่ 80 คน จากประสบการณ์ของทีมได้เรียนรู้การถอนกำลัง เมื่อครั้งเจอไฟล้อมรถ ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เคยเจอไฟมาหลายทิศทาง และขณะดับไฟอยู่ฝั่งหนึ่งก็เคยเจอชาวบ้านจุดอยู่อีกฝั่ง ปัญหาที่เจอคือชาวบ้านมักใช้วิธีจุดไฟชนเพื่อดันไฟขึ้นด้านบน และคิดว่าปัญหาจะจบ แต่บางครั้งพอจุด ทีมอาสาหรือเจ้าหน้าที่อยู่ฝั่งนั้น ครั้งหนึ่งต้องสั่งถอนกำลัง เพราะไฟมาทั้งหน้า กลาง หลัง เพราะลมเปลี่ยนทิศ ซึ่งโชคดีที่ทีมอาสาดับไฟป่าของมูลนิธิฯ ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์สูญเสีย” 

บทเรียนการดับไฟป่าที่ค่อย ๆ เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ในช่วง 5 ปีของทีมอาสามูลนิธิกระจกเงาถือว่าล้ำค่า สามารถช่วยแบ่งเบาการทำงานของเจ้าหน้าที่ไปได้มาก แต่ “ณัฐพล” ออกตัวว่า เขาคงไม่สามารถไปบอกใครได้ว่า อย่าเผาป่า เพราะเป็นหน้าที่รัฐในการสร้างจิตสำนึก โดยเฉพาะคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่คอยสร้างปัญหาขนาดใหญ่และสร้างมลพิษที่กระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างมหาศาล 

แม้แต่ทีมอาสาที่เจตนาดีไปอาสาช่วยดับไฟก็ยังเจอเหตุการณ์ที่แม้จะไม่ใช่การต่อต้านโดยตรง อย่างเช่น ทีมกำลังดับอยู่ด้านนี้ แต่ไฟโผล่ขึ้นมาจากอีกด้าน ซึ่งอาจเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อการดับไฟ (ของคนจงใจเผา) หรือบางครั้งดับไฟจุดนั้นเสร็จแล้ว แต่หลังจากนั้นป่าบริเวณนั้นกลับถูกเผาเรียบ 

ประสบการณ์จากทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา สะท้อนภาพชัดว่า คนกลุ่มนี้อาศัยประโยชน์จากป่า แต่ไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวม การบริหารจัดการ “ไฟจำเป็น” เป็นทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหา หรือเจอกันครึ่งทาง เพื่อให้การเผาที่จำเป็นยังตอบสนองการยังชีพ หรือคงวิถีการอาศัยอยู่กับป่าของประชาชนกลุ่มหนึ่งต่อไปได้ แต่รัฐต้องบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เพื่อหาจุดสมดุล ไม่ให้การเผาแบบเดิม ๆ เป็นสาเหตุในการสร้างความเสียหายต่อส่วนรวม เป็นหน้าที่รัฐที่จะต้องปลดล็อกปัญหาปากท้องไปพร้อม ๆ กับสร้างความรู้ความเข้าใจว่า การเผาป่านำมาซึ่งมลพิษอากาศที่รุนแรง อันตราย และกระทบต่อสุขภาพของทุกคน

อ้างอิง :

  1. “ณัฐพล สิงห์เถื่อน” หัวหน้าโครงการอาสาดับไฟป่า, มูลนิธิกระจกเงา, สัมภาษณ์, 8 มีนาคม 2567

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่