น้ำท่วมใหญ่ฟลอเรนซ์ปี 1966ทำลายศิลปะชิ้นเอกครั้งเลวร้ายสุดถึงปัจจุบันยังซ่อมหอสมุดไม่เสร็จ

ในปี 1966 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเมืองฟลอเรนซ์ นับเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองตั้งแต่ปี ค.ศ. 1557 คร่าชีวิตผู้คนไป 101 ราย แต่นอกเหนือจากนั้น น้ำท่วมใหญ่ยังทำลายงานศิลปะชิ้นเอกและหนังสือหายากเสียหายนับล้านชิ้น

เมืองฟลอเรนซ์ ถือเป็นศูนย์กลางของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา หรือยุคเรอนาซองส์ เมืองแห่งนี้รอดพ้นจากการทำลายของสงครามและภัยธรรมชาติมาหลายครั้ง จนกระทั่งระหว่างวันที่ 3 – 4 พ.ย. 1966 หายนะก็เกิดขึ้นกับฟลอเรนซ์และเป็นหายนะที่ทำให้อารยธรรมของโลกต้องสั่นสะเทือนไปด้วย

ระหว่าง 2 วันนั้นเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเมือง เนื่องจากระดับน้ำของแม่น้ำอาร์โนเอ่อล้น ไหล่บ่าเข้าเมืองที่ระดับน้ำสูงสุดถึง 6.7 เมตร อุทกภัยส่งผลกระทบยาวนานต่อเมืองฟลอเรนซ์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เจ้าหน้าที่ของเมืองและประชาชนไม่ได้เตรียมพร้อมกับความหายนะที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

มาร์โก ซัสโซเน (Marco Sassone) ศิลปินชื่อดังให้สัมภาษณ์เมื่อปี 1969 ถึงผลกระทบของน้ำท่วมที่มีต่อชาวเมืองฟลอเรนซ์ว่า “สิ่งเดียวที่คุณทำได้คือเฝ้าดูและทำอะไรไม่ถูก ธรรมชาติเป็นเจ้านายเหนือเรา…พวกผู้หญิงเริ่มคลั่งเพราะความกลัว พวกเธอเริ่มขว้างของจากหน้าต่างและส่งเสียงกรีดร้อง ‘ใครจะช่วยลูกๆ ของฉัน'”

นอกจากคนตายนับร้อยแล้ว ศิลปะวัตถุยังเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้ เช่น จดหมายเหตุของ Opera del Duomo เอกสาร 6,000 เล่ม และต้นฉบับที่มีภาพเขียนด้วยมือ 55 ฉบับได้รับความเสียหาย, ห้องสมุด Gabinetto Vieusseux ซึ่งมีความสำคัญระดับโลก หนังสือทั้งหมด 250,000 เล่มได้รับความเสียหาย จนบวมและบิดเบี้ยว หน้าต่างๆ แยกออกจากเล่มลอยน้ำไปติดตามผนังและเพดานของอาคาร

หอสมุดกลางแห่งชาติริมแม่น้ำถูกตัดขาดจากส่วนอื่นๆ ของเมืองเนื่องจากน้ำท่วม ทรัพย์สิน 1,300,000 ชิ้น (หนึ่งในสามของจำนวนที่ถือครองอยู่) ได้รับความเสียหาย, หอจดหมายเหตุแห่งรัฐ ประมาณ 40% ของคอลเลกชันได้รับความเสียหาย นี่เป็นความเสียหายของตำราต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของอารยธรรมตะวันตกที่เก็บรักษาไว้ที่ฟลอเรนซ์

ฟลอเรนซ์ยังเป็นศูนย์กลางศิลปะของโลก งานศิลปะมากมายได้รับความเสียหาย ภาพวาดบนแผงหลายแผ่นได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากน้ำอิ่มตัวในเนื้อไม้ ทำให้กาวและเจสโซซึ่งประกอบเป็นชั้นรองพื้นละลายไป ดังนั้นสีของภาพวาดก็ละลายเช่นกัน ประติมากรรมบางส่วนก็ได้รับควมเสียหาย โดยเฉพาะที่ทำจากไม้

น้ำท่วมที่ฟลอเรนซ์ในปี 1966 สร้างความเสียหายเลวร้ายมาก จนทุกวันนี้โครงการซ่อมแซมงานศิลป์ก็ยังไม่จบสิ้น หนังสือเป็นจำนวนมากยังคงถูกเก็บเอาไว้ในโกดังเพื่อรอการซ่อม แม้เวลาจะผ่านมาถึงครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม แต่หน่วยงานท้องถิ่นได้พยายามริเริ่มโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภายนะซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต

ภาพจาก – UNESCO

Related posts

‘เฉลิมชัย’ นำทีมไทยถก COP29 นำเสนอ 5 ประเด็นลดก๊าซ 222 ล้านตัน

ค่าฝุ่นปากีสถานทะลุ 1,900 รั้งอันดับโลก อ้างพัดข้ามพรมแดนจากอินเดีย

โลกจมกองพลาสติก ต้องเปลี่ยนวิธีผลิต ลดการบริโภค กำจัดอย่างยั่งยืน