‘พะยูน’ ถูกคุกคามหนักล่าสุดสูญพันธุ์ตามธรรมชาติแล้วในน่านน้ำประเทศจีน

กิจกรรมของมนุษย์และการสูญเสียที่อยู่ทำให้ “พะยูน” ที่อาศัยอยู่บริเวณน่านน้ำของจีนสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ (Functionally Extinct) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเป็นสัตว์ที่ไม่มีจำนวนสมาชิกเพียงพอที่จะสืบพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้ หรือมีบทบาทในระบบนิเวศได้อีก

การวิจัยโดย Zoological Society of London (ZSL) และ Chinese Academy of Sciences ระบุว่า การประมง การโจมตีทางเรือ และการสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากกิจกรรมมนุษย์ ทำให้จำนวนพะยูนในน่านน้ำจีนลดลงอย่างรวดเร็วจากช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาและเนื่องจากไม่มีหลักฐานปรากฎให้เห็นตั้งแต่ปี 2008 จึงถือเป็นการสูญพันธุ์ครั้งแรกของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ในน่านน้ำชายฝั่งของจีน

พะยูนต้องพึ่งพาหญ้าทะเลเป็นอาหาร และถูกจัดให้เป็นสัตว์ต้องได้รับการคุ้มครองระดับ 1 ในจีนตั้งแต่ปี 1988 เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลของพวกมันเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว และมีความเป็นไปได้สูงที่พะยูนน่าจะหายสาบสูญไปในจีน ซึ่งถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ เนื่องจากแหล่งที่มีพะยูนอาศัยก็คือแหล่งหญ้าทะเลที่มีบทบาทในการกักเก็บคาร์บอน

สำหรับในการศึกษาครั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ทำการสัมภาษณ์ชาวประมงในชุมชน 66 แห่ง ทั่ว 4 จังหวัดของจีนตามแนวชายฝั่งทะเลจีนใต้กว่า 700 คน แต่ปรากฎว่าจากผู้ตอบแบบสอบถาม 788 คน มีเพียง 5% เท่านั้นที่ระบุถึงการพบเห็นพะยูนในอดีต และวันที่พบเห็นล่าสุดโดยเฉลี่ยคือ 23 ปีที่แล้ว และมีเพียง 3 คนที่ระบุว่าพวกเขาเห็นพะยูนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

พะยูนมีชื่อเล่นว่า “วัวทะเล” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่กินพืชเป็นอาหาร ซึ่งมักพบในน่านน้ำแปซิฟิก-เอเชีย และจากการสำรวจดังกล่าวทำให้นักวิจัยสรุปว่า ตอนนี้ถือว่าพวกมันได้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติ (Functionally Extinct) ไปแล้วจากน่านน้ำประเทศจีน ซึ่งสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ขึ้นบัญชีแดงสัตว์ที่ถูกคุกคาม และอาจเพิ่มระดับเป็น “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง”

สำหรับ “พะยูน” (Dugong) หรือปลาพะยูนมักมีความเข้าใจผิดว่าเป็น “แมนนาที” (Manatee) หรือเข้าใจว่าเป็นชนิดเดียวกัน ความจริงก็คือแมนนาทีจะมีหางกลมคล้ายใบพาย และมีขนาดใหญ่และหนักกว่าพะยูนหลายเท่า โดย Florida manatee มีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนพะยูนมีหางเหมือนโลมา มีอายุยืนถึง 70 ปี มีน้ำหนักกว่า 300 กก. และยาว 3-4 เมตร

สถานการณ์พะยูนในไทย

ในประเทศไทยเรียกพะยูนในหลายชื่อ เช่น หมูน้ำ หมูดุด ดูหยง เงือก วัวทะเล และดูกอง ที่ จ.ตรัง ถือเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนเนื่องจากเป็นมีพะยูนอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทย โดย เมื่อปี 2539 มีการนำพะยูนไปเป็นสัตว์นำโชคในกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 29 หรือ “พะยูนเกมส์” และถือเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของ จ.ตรัง อย่างไรก็ตาม พะยูนเป็นที่รู้จักและพูดถึงในระดับประเทศ เมื่อ “มาเรียม” ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ได้เสียชีวิตลง ในวันที่ 17 ส.ค. 2562

ต่อมากรมทรัพากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผลักดันมาเรียมโปรเจกต์โดยคณะทำงานด้านการจัดการสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ และได้กำหนดให้วันที่ 17 ส.ค. เป็นวันพะยูนแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์พะยูน ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 250 ตัว และตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนให้ถึง 50% ภายในระยะเวลา 10 ปี

อ้างอิง:
• Shannon McDonagh (Aug 25,2022) “Dugongs: Nature’s ‘sea cows’ are now extinct in China, but still clinging on in these countries” . Euronews
• Caitlin o’Kane (Aug 26, 2022) “The dugong, a gentle giant also known as a “sea cow,” has disappeared from China, researchers say” . cbsnews
• Story by Reuters (Aug 24, 2022) “Dugongs functionally extinct in Chinese waters, study finds” CNN
• https://km.dmcr.go.th/c_10
• https://www.bangkokbiznews.com/social/844408

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน