The Climate Change Performance Index 2020 หรือดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2563 ได้ถูกนำเสนอในที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 ที่กรุงมาดริด สเปน เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2562ผลการจัดอันดับจากผลการดำเนินงานโดยรวมของแต่ละประเทศจาก 14 ตัวชี้วัด ใน 4 หมวดหมู่หลัก ได้แก่ หมวดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (40%) หมวดพลังงานทดแทน(20%) หมวดการใช้พลังงาน (20%) และหมวดนโยบายสภาพภมิอากาศ (20%)
หมวดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานของแต่ละประเภท แบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ ระดับในอดีต ระดับในปัจจุบัน ความเป็นไปได้ในการควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2°C ของระดับปัจจุบัน และความเป็นไปได้ในการควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2°C ของเป้าหมายปี 2573
หมวดนโยบายสภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือนโยบายสภาพอากาศระดับชาติและนโยบายสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศซึ่งได้รับการประเมินผ่านการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ
คะแนนในแต่ละหมวดหมู่จะถูกนำมาจัดอันดับ สูงสุด (very high) สูง (high) ปานกลาง (medium) ต่ำ (low) และต่ำมาก (very low) ตามลำดับ
ดัชนีชี้วัดปี 2563 พบว่า ไม่มีประเทศใดมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะได้คะแนนสูงสุด (very high) ในทุกหมวด นั่นหมายความว่ายังไม่มีประเทศใดสามารถดำเนินการสอดคล้องตามป้าหมายความตกลงปารีส อย่างไรก็ตาม มี 3 ประเทศที่มีประสิทธิภาพมากสุด ได้คะแนนรวมในระดับสูง (high) ได้แก่ สวีเดน เป็นผู้นำในอันดับที่ 4 ตามด้วยเดนมาร์ก อันดับที่ 5 และ โมร็อกโค อันดับที่ 6
สำหรับประเทศไทยนั้นถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ส่วน 33 และ 3 อันดับสุดท้ายได้แก่ ไต้หวัน ซาอุดิอารเบีย และสหรัฐอเมริกา
หมวดพลังงานทดแทน ว่าด้วยการเพิ่มขึ้นของการผลิตพลังงานทดแทนที่มากกว่าการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเป็นปีที่สี่ติดต่อกันที่พลังงานลมนอกชายฝั่งมีการเติบโตอย่างมาก แต่ยังคงไม่มีประเทศใดได้รับการจัดอันดับสูงสุด (very high)
สำหรับตัวชี้วัดพลังงานทดแทน รายงานระบุว่าหากต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรัฐต้องเร่งใช้พลังงานหมุนเวียน ประเทศที่ได้คะแนนสูงสุดในหมวดนี้คือ ลัตเวีย สวีเดน และเดนมาร์ก ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในอันดับสูง (high) เท่านั้น ส่วน 3 อันดับสุดท้ายได้แก่ มาเลเซียที่ระดับความก้าวหน้าในการใช้พลังงานทดแทนลดลง อิหร่านและรัสเซียที่ได้รับคะแนนในระดับต่ำสุด (very low) ในทุกตัวชี้วัด
หมวดการใช้พลังงาน คะแนนสูงสุด ได้แก่ มอลตา ซึ่งมีอัตราการผลิตและใช้ลดลงอย่างมากในระว่างปี 2555-2560 ตามด้วยโมร็อกโค และเม็กซิโก ส่วน 3 อันดับสุดท้ายได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย แคนาดา และเกาหลีใต้
หมวดนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ ไม่มีประเทศใดที่ได้รับคะแนนรวมในระดับสูงมาก (very high) ถึงแม้ว่าโปรตุเกส ฟินแลนด์ สวีเดน และนอร์เวย์ จะได้รับการจัดอันดับในระดับสูงมากสำหรับผลการดำเนินงานด้านนโยบายสภาพอากาศระหว่างประเทศ เหตุเพราะโปรตุเกสได้รับการยอมรับในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซลง 55% ในปี 2593 และฟินแลนด์ที่รัฐบาลใหม่ได้ตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593 รวมไปถึงการแบนการเผาไหม้ถ่านหินในปี 2572 ในขณะที่ 3 อันดับสุดท้ายได้แก่ ตุรกี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย
โดยรวมแล้ว CCPI 2563 แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญในการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ยังไม่มีประเทศใดที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในทุกหมวดดัชนี
ทั้งนี้ The Climate Change Performance Index (CCPI) ถูกจัดทำขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2548 ถือเป็นคือเครื่องมือตรวจสอบเพิ่มความโปร่งใสในการเมืองระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเปรียบเทียบความพยายามในการปกป้องสภาพภูมิอากาศรวมถึงการรายงานความคืบหน้าของแต่ละประเทศที่แสดงถึงความรับผิดชอบของแต่ละรัฐบาลในการดำเนินการเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ