วังวนทศวรรษคนจมฝุ่น มลพิษ PM2.5

ฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันติดปากว่าฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในมลพิษอากาศที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาต่อเนื่องกว่า 10 ปี กระทั่งในปี 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ มีมติเพิ่มเติมให้ “การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง” เป็น “วาระแห่งชาติ” และต้องจัดทำ “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในภาพรวมของประเทศ ซึ่งฝุ่น PM2.5 มักจะเกิดขึ้นปลายปีในช่วงหน้าหนาวจนถึงช่วงต้นปีของทุกปี

ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการลดผลกระทบโดยพุ่งเป้าไปยังแหล่งกำเนิดมลพิษ PM2.5 ทั้งจากภาคขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาที่โล่งในพื้นที่การเกษตร การลักลอบเผาป่า และมลพิษข้ามพรมแดน แต่ดูเหมือนมาตรการต่าง ๆ ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม เนื่องจากหลายนโยบายเป็นมาตรการระยะยาว เช่น การยกระดับคุณภาพคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันต่ำจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 เพิ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) การขอความร่วมมือการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ ซึ่งนโยบายทั้งหมดนี้ยังไม่สามารถเดินไปสู่เป้าหมาย “อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน”

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ถือเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 ภายใต้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ที่มีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงาน พิจารณาให้ข้อเสนอแนะ เร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานตามมาตรการเร่งด่วนในช่วงวิกฤต ตลอดจนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ออกสู่สาธารณะ

ฝุ่นมาจากการขนส่ง-เผาในที่โล่ง

สำหรับภาพใหญ่ของปัญหาฝุ่น PM2.5 แบ่งออกเป็นสองพื้นที่หลัก นั่นคือ ฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และฝุ่นควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดย ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบายกับคณะทำงานโครงการผลิตสื่อเพื่อการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (25 ธ.ค. 2566) ว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเขตเมืองหลวงและปริมณฑลมีสาเหตุหลักมาจากภาคขนส่งและการจราจร ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามใช้มาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด อาทิ การตรวจจับควันดำ การรณรงค์ให้ดูแลเครื่องยนต์เพื่อการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ และลดการปล่อยควันดำ โดยในช่วงเข้าหน้าฝุ่นปีนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับควันดำให้มากขึ้น ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่กรุงเทพฯ กับปริมณฑล

ในขณะที่การเกษตรรอบ ๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงจะขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่ง เช่น การเผาตอซังข้าว การเผาไร่อ้อย โดยที่ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในการกำจัดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ การจัดหารถไถเพื่อไถกลบตอซังข้าว การสร้างแรงจูงใจลดการเผาอ้อยโดยโรงงานน้ำตาลจะรับซื้ออ้อยที่เก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องจักรแทนวิธีการเผาในราคาที่สูงขึ้น พร้อมกันนี้ในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายได้รับหมอบหมายให้ลดอ้อยไฟไหม้เข้าหีบให้น้อยที่สุด พร้อมเพิ่มความเข้มงวดโดยเฉพาะใน 5 จังหวัดที่มีปริมาณอ้อยไฟไหม้สูงสุด เนื่องจากการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือไร่อ้อย จะยิ่งทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ภาวะวิกฤตมากขึ้น

ปี 66 ปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 18

จากสถานการณ์มลพิษอากาศจาก PM2.5 ที่เกิดขึ้น ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ปี 2566 ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล เกินค่ามาตรฐานถึง 32 วัน เมื่อเทียบกับปี 2565 และพบการเผาในที่โล่ง 188 จุด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 – 31 มีนาคม 2566 ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่า 33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 52 วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 184

อย่างไรก็ตาม ในฤดูฝุ่นปีนี้ภาครัฐได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดค่าเฉลี่ยการเกิด PM2.5 ลงร้อยละ 20 และลดจำนวนวันที่เกินมาตรฐานลงร้อยละ 5 โดยมีมาตรการที่สำคัญคือ โครงการคลินิครถ ลดฝุ่น PM2.5 โดยร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ให้บริการตรวจสภาพเครื่องยนต์ฟรี เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ลดค่าน้ำมันเครื่อง และค่าอะไหล่ คิดค่าแรงเป็นพิเศษครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ มีกลุ่มบริษัทรถยนต์เข้าร่วม 9 แห่ง มีเป้าหมายบริการ 300,000 คัน นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันได้แก่ ปตท. และบางจาก นำน้ำมันกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในราคาปรกติในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก่อนประกาศบังคับใช้ยูโร 5 ในวันที่ 1 มกราคม 2567

PM2.5 ภาคเหนือมาจากเผาป่าอนุรักษ์

สำหรับการแก้ปัญหาฝุ่นควันพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือตอนบนนั้น ปรีญาพร อธิบายว่า แหล่งกำเนิดร้อยละ 70 มาจากการเผาในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยข้อมูลกรมควบคุมมลพิษระบุว่า สัดส่วนจุดความร้อน (Hotspot) ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าร้อยละ 86 พื้นที่เกษตรร้อยละ 11 และพื้นที่ชุมชนร้อยละ 3 จำนวนจุดความร้อนที่พบในปี 2566 มีถึง 109,305 จุด เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งพบจุดความร้อน 23,513 จุด และมีจำนวนวันที่ค่ามลพิษเกินค่ามาตรฐาน 52 วัน จากเดิม 21 วัน

นั่นคือพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ (เดือน ม.ค.-พ.ค. 2566) ปริมาณฝุ่น PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าอยู่ที่ 62 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 107 จำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน 112 วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และจำนวนจุดความร้อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 356

ดังนั้นในปี 2566 ต่อเนื่องไปยังปี 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ปรับแผนจากการป้องกันไฟป่าภาคเหนือโดยการสร้างแนวกันไฟซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยแบ่งเป็น 10 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวน ซึ่งเป็นพื้นที่เผาไหม้กว่า 6.5 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของพื้นที่เผาไหม้ของปี 2566 ตั้งเป้าหมายให้จำนวนจุดความร้อนลดลงร้อยละ 50 ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่เผาลดลง 3.25 ล้านไร่

ขณะเดียวกันตั้งเป้าจำนวนวันที่ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานต้องลดลงเป็นรายภาค เช่น 17 จังหวัดภาคเหนือจากปี 2566 จากร้อยละ 40 เหลือร้อยละ 30 ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคกลางจากร้อยละ 20 ลดลงเหลือร้อยละ 5 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือจากร้อยละ 10 ลดลงเหลือร้อยละ 5 ซึ่งหากบริหารจัดการเป็นไปตามแผนจะสามารถลดฝุ่น PM2.5 ได้ร้อยละ 40 และจำนวนวันที่ฝุ่นเกินค่ามาตรฐานจะลดลงร้อยละ 30 เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และลดต้นทุนในการฟื้นฟูเยียวยา

ภายใต้แผนดังกล่าว อธิบดีกรมควบคุมมลพิษย้ำว่า จะเน้นขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ช่วยสนับสนุนทางด้านการเงินเพื่อจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาทำงานร่วมกับกรมอุทยานฯ ในการลาดตระเวน และป้องกันการลักลอบการเผาป่า ซึ่งทางรัฐบาลได้หารือประเด็นดังกล่าวกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนด้านภาษีสร้างแรงจูงใจในการลงทุน โดยบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 200 รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการรายงานเรื่อง ESG SDGs และคาร์บอนเครดิตอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเพิ่มเติมโดยได้เห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ประจำปี 2567 และกลไกการบริหารจัดการโดยมอบหมายหน่วยงานติดตามมาตรการหลัก ๆ ควบคุมฝุ่นละอองในเขตเมืองที่เกี่ยวข้องกับภาคการจราจรและภาคอุตสาหกรรม ได้แก่

1) กระทรวงพลังงาน ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันนำน้ำมันดีเซลกำมะถันต่ำมาจำหน่ายในราคาเท่ากับน้ำมันดีเซลปกติ ก่อนการประกาศบังคับใช้มาตรฐานน้ำมัน Euro 5

2) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้บริการตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ลดค่าน้ำมันเครื่อง ค่าแรง และค่าอะไหล่

3) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแจ้งให้ผู้ประกอบการควบคุมการผลิตและตรวจสอบการทำงานระบบบำบัดมลพิษทางอากาศให้มีประสิทธิภาพ

4) กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี เพิ่มจุดตรวจสอบ/ตรวจจับควันดำให้ครอบคลุมพื้นที่วิกฤต เข้มงวดวินัยการจราจร ใช้อัตราโทษสูงสุด เร่งคืนผิวการจราจรในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหาการจราจร

5) กระทรวงอุตสาหกรรม ตรวจกำกับโรงงานทุกแห่งที่มีความเสี่ยงสูงในการปล่อยฝุ่นละออง บริหารจัดการการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองในช่วงวิกฤต อาทิ การเหลื่อมเวลาการผลิต การลดหรือหยุดการผลิตชั่วคราว การใช้พลังงานสะอาดเป็นเชื้อเพลิง

สำหรับมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาการเผารอบ ๆ กรุงเทพฯ คือ  การจัดการไฟในพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่

6) จังหวัดโดยศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง หมอกควัน และฝุ่นละออง กำหนดแนวทางบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงต่อการเผาไหม้ เพื่อไม่ให้เกิดการเผาในช่วงเวลาเดียวกัน มีข้อมูลเกษตรกร และจำนวนพื้นที่กำหนดเงื่อนไขการเผา และประกาศให้รับทราบร่วมกัน โดยเสนอให้ใช้ระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงเพื่อการประมวลผลในภาพรวมของประเทศ

7) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา ดังนี้ 1) พื้นที่ไร่อ้อย สนับสนุนเครื่องจักรกลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้มีการเผา ไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 2) พื้นที่นาข้าว บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและเท่าเทียมต่อการทำนาของเกษตรกรทุกราย เพื่อไม่ให้เผา สนับสนุนเครื่องจักรกลสำหรับอัดฟาง และไถกลบตอซัง

8) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน บริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรรอบโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยสร้างระบบรวบรวมและขนส่งจัดส่งไปยังโรงไฟฟ้าชีวมวล และการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล

9) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดตามเงื่อนไขข้อตกลงการเผาภายใต้แนวทางการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่การเกษตร

กระทรวงเกษตรฯ ใช้ 3R แก้ปัญหา

นโยบายลดการเผาในภาคการเกษตรนั้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมแก้ปัญหา โดยใช้ระบบ 3R ในการจัดการ สำหรับ R ตัวแรก คือ Re-habit คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมโดยไม่เผา เช่น การปลูกพืชในพื้นที่เดิม เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย แต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการไม่เผา R ตัวที่สอง คือ Replace with high value crop คือการปรับเปลี่ยนพืชจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ อะโวคาโด แมคคาดิเมีย เพิ่มศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน และ R สุดท้าย คือ Replace with alternative crop คือ ปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่นาปรังเป็นข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดการเผา และลดการใช้น้ำ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างมาตรการ GAP PM2.5 Free ซึ่งเป็นกระบวนการทางเศรษฐศาสตร์ในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อยืนยันว่าสินค้าเกษตรนั้นมาจากแหล่งผลิตที่ปราศจากการเผา

นอกจากมาตรการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก่อนนั้นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรียังได้พิจารณาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …ซึ่งมีสาระสำคัญในการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา PM2.5 และมลพิษทางอากาศ โดยสร้างระบบการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ สร้างระบบกลไกและการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นลดสาเหตุของมลพิษจากแหล่งกำเนิด ซึ่งจะส่งผลในการแก้ไขปัญหาช่วงเผชิญเหตุ และลดต้นทุนในการฟื้นฟูจากความเสียหาย และผลกระทบ ซึ่งต้องรอขั้นตอนการผ่านกฎหมายจากรัฐสภา

ในฐานะที่ภาครัฐได้ประกาศให้นโยบายการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งหมายถึงจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้น จริงจังและต่อเนื่อง แผนงานหรือมาตรการใดที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม จำเป็นจะต้องเร่งรัดแก้ไข เพื่อให้มลพิษจากฝุ่นที่เกิดขึ้นในทุก ๆ ปีคลี่คลายลง และสามารถเดินไปสู่เป้าหมาย “อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน”

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่