ศาลปกครองกลางไฟเขียว ประกาศกระทรวงทรัพย์ โรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องทำอีไอเอ

ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องคดีภาคประชาชนยื่นให้ศาลพิจารณาเพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพย์ ที่ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องทำรายงานอีไอเอ เตรียมเดินหน้าอุทธรณ์ศาลสูงเพราะเชื่อว่าจะยิ่งทำให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงขึ้น

ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2565 คดีมูลนิธิบูรณะนิเวศ และเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด ร่วมกับทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2558 ที่ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ศาลเห็นว่า การออกประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีที่มาจากมติการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่เห็นชอบให้ใช้ประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice : COP) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป โดย COP เป็นรายงานการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการตรวจสอบ ควบคุม และกำหนดหลักเกณฑ์มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่ครอบคลุมผลกระทบทุกด้านที่จะเกิดขึ้นจากกิจการโรงไฟฟ้าขยะและไม่ได้มีมาตรฐานต่ำกว่าการจัดทำ EIA

รวมถึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการ และกำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเอาไว้ด้วยแล้ว  ศาลจึงเห็นว่า COP เป็นมาตรการที่สามารถช่วยป้องกันหรือลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ไม่แตกต่างจากการจัดทำรายงาน EIA ดังนั้นมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ที่เห็นชอบให้โรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA โดยให้ดำเนินการตาม COP แทน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

และทำให้การออกประกาศกระทรวงทรัพย์ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2558 ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน โดยถือเป็นการออกประกาศที่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่และไม่ได้ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

นอกจากนี้ ศาลยังเห็นอีกว่า การออกประกาศฉบับนี้ เป็นเพียงการออกกฎแก้ไขเปลี่ยนแปลงรูปแบบวิธีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ต้องการยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขยะเท่านั้น มิใช่การออกกฎที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยทั่วไป หรือมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียที่สำคัญของประชาชน จึงไม่อยู่ในบังคับต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามมาตรา 57 วรรค 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก่อน

ประกอบกับในขั้นตอนการยกร่างประมวลหลักการปฏิบัติ (COP) ได้มีการรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ประกอบด้วยแล้ว การดำเนินการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ จึงชอบด้วยขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดแล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศและตัวแทนผู้ฟ้องคดีจะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อยืนยันหลักการว่า COP ไม่สามารถเป็นมาตรการปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนได้เท่ากับ EIA โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและการตรวจสอบทบทวนรายงานโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ

ขณะเดียวกันมีความเห็นต่อผลคำพิพากษาว่า มีข้อห่วงกังวลว่าการยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องจัดทำรายงานอีไอเอจะส่งผลให้สถานการณ์ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขยะ รวมถึงโรงงานจัดการของเสียประเภทต่างๆ รุนแรงยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มที่มาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับกิจการอื่นๆ จะถูกลดทอนเพิ่มมากขึ้น

สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยฯ ได้ออกประกาศกระทรวง ฉบับที่ 7 พ.ศ.2558  ยกเว้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาดไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ประกอบการขออนุมัติ อนุญาต ทั้งที่เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงสูงด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

โดยปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: COP) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเท่านั้น การออกประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเป็นการยกเลิกมาตรการหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนจึงได้ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงดังกล่าวต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่