‘วิกฤตพฤติกรรมมนุษย์’ เหยื่อนนายทุนกระตุ้น ‘โลกร้อน’

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่ยุคเปลี่ยนผ่านพลังฟอสซิลสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ตามข้อตกลงในการประชุม COP 28 ที่ผ่านมา แต่นักวิจัยเชื่อว่าโลกยังคงห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศเนื่องจากเบื้องหลังของต้นตอปัญหาภาวะโลกร้อนคือ “วิกฤตพฤติกรรม” ของมนุษย์ ซึ่งเป็นนิยามที่ถูกเรียกขานพฤติกรรมมนุษย์ในปัจจุบัน

ในปี 1992 นักวิทยาศาสตร์รวมตัวกันออกหนังสือ ‘คำเตือนนักวิทยาศาสตร์โลกต่อมนุษยชาติ’ ประกาศครั้งที่ 1 เน้นย้ำถึงความต้องการของมนุษย์ที่เกินขอบเขตความสามารถในการฟื้นฟูของระบบนิเวศ ตามมาด้วยคำเตือนประกาศครั้งที่สองในปี 2017 ยืนยันว่าในช่วง 25 ปีที่ผ่าน มีการเร่งทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นซึ่งขับเคลื่อนโดยประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 40% หรือประมาณ 2 พันล้านคน

ล่าสุดปี 2020 มีการจัดทำรายงานเตือนถึงสภาวะฉุกเฉินของสภาพภูมิอากาศโลก (‘World Scientists’ Warning of a Climate Emergency’) มากกว่า 20 ฉบับที่ได้รับการรับรองโดยนักวิทยาศาสตร์ 14,859 คนจาก 158 ประเทศ ในรายงานได้เสนอมาตรการต่างๆ ในการฟื้นฟูและปกป้องระบบนิเวศทางธรรมชาติ อนุรักษ์พลังงาน ลดมลพิษ ลดขยะอาหาร หันมาการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก การรักษาเสถียรภาพจำนวนประชากร และการปฏิรูปเศรษฐกิจโลก

แม้จะมีคำเตือนมากมายหลายฉบับ แต่โลกก็ยังขาดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกจึงต้องร่วมเขียนรายงานเตือนอีกครั้งในชื่อ ‘World Scientists’ Warnings into Action, Local to Global’ เพื่อกำหนดกรอบการทำงานลดการใช้ทรัพยากรมากเกินไปที่เป็นรูปธรรมเพื่อ โดยในรายงานฉบับดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ 6 ประเด็นหลักเหมือนเช่นรายงานก่อนหน้าคือ พลังงาน มลพิษ ธรรมชาติ ระบบอาหาร ประชากรและเศรษฐกิจ รวมถึงธรรมาภิบาลและความเป็นผู้นำ

จากรายงานฉบับดังกล่าวจึงทำให้โจเซฟ เมิร์ซและทีมนักวิจัยพบพฤติกรรมซ้อนเร้นต้นตอของ ‘การเกินขอบเขต’ และนิยามมันขึ้นมาใหม่ว่า “วิกฤตพฤติกรรม” ของมนุษย์

โจเซฟระบุว่าการพังทลายของสภาพภูมิอากาศคืออาการบ่งบอกอาการของระบบนิเวศว่า ‘ถูกนำไปใช้เกินขอบเขต’ ซึ่งแนวทางแก้ไขการที่นานาประเทศเสนอเข้ามานั้นคือการแก้ที่อาการ ไม่ใช่ต้นตอของวิกฤต เพราะต้นตอของวิกฤตคือความจงใจในการแสวงหาประโยชน์จากพฤติกรรมของมนุษย์

ปี 1820 โลกมีประชากร 1,000 ล้านคน และขยายเป็น 8,000 ล้านคนในปี 2020 โดยในช่วง 200 ปีเดียวกันนั้น โลกใช้พลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น 1,300 เท่า ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในโลกความเป็นจริงเพิ่มขึ้น 100 เท่า

นอกจากการขยายตัวของจำนวนประชากรแล้ว การบริโภคและของเสียคืออีก 2 ปัจจัยหลักที่เปรียบเสมือนคันโยกยกระดับให้เกิดการใช้ระบบนิเวศอย่างเกินขอบเขต ซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์ที่ถูกจัดว่าคือ ‘วิกฤตพฤติกรรม’ ได้รับแรงกระตุ้นจาก

  • การแสวงหาความสุขและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด
  • ความต้องการครอบครอง รวบรวม และปกป้องทรัพยากรจากคู่แข่ง
  • ความต้องการมีอิทธิพล อำนาจและสถานะ เหนือบุคคลอื่น หรือความดึงดูดทางเพศผ่านทางความงาม รูปร่าง ความก้าวร้าว และ/หรือการเสริมแต่ง
  • การผัดวันประกันพรุ่งเรื่องสำคัญ แต่กลับกระทำสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ในการเอาชีวิตรอดแทน โดยเฉพาะกับตัวเราเอง ญาติสนิท และบ้านเกิดของเรา

แรงกระตุ้น ก่อให้เกิดวิกฤตพฤติกรรม และวิกฤตพฤติกรรมส่งเสริมให้เศรษฐกิจโลกมุ่งไปที่การสร้างและตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะจัดสรรอุปทานอย่างยุติธรรมและรอบคอบ

วิกฤตพฤติกรรมถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อรองรับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งกลุ่มทุนที่แสวงหาประโยชน์นี้เป็นเพียงหนึ่งในสี่ของประชากรโลก แต่มีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบสามในสี่

อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของงานวิจัย ซึ่งทีมวิจัยได้เรียกร้องให้มีการวิจัยแบบสหวิทยาการเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขานิยามว่า “วิกฤตพฤติกรรมมนุษย์” เพื่อกำหนดบรรทัดฐานและความต้องการทางสังคมที่ขับเคลื่อนการบริโภคมากเกินไป

ทีมวิจัยเชื่อว่าแนวทางแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่จัดการกับปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เน้นตอบสนองวิกฤตพฤติกรรมมนุษย์ มีแต่จะทำให้วิกฤตโลกร้อนเกินเลยและรุนแรงมากขึ้น

เรียบเรียงจาก World scientists’ warning: The behavioural crisis driving ecological overshoot. First published online September 20, 2023

Related posts

จัดเดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ปีที่ 2 ส่งต่อขาเทียมช่วยผู้พิการยากไร้

‘COP-19’ ดันอาเซียน เป็นภูมิภาคปลอด หมอกควัน

5 ปีอุณภูมิโลกส่อทะลุ 1.5 องศา ไทยเร่งรับมือ 6 สาขาเสี่ยงระดับพื้นที่