ป่าแอมะซอนหายไปแล้ว 20%เสี่ยงแห้งแล้งเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาที่เหลือถูกคุกคาม-เสื่อมโทรมหนัก

แอมะซอนเป็นป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่และมีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลกถูกบุกรุกทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง และกำลังจะกลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนาที่แห้งแล้งเร็วกว่าที่คาดไว้ อีกทั้งไม่สามารถฟื้นคืนสภาพกลับมาดังเดิมได้อีก และไม่ต้องพูดถึงการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนหลายพันล้านตันต่อปี

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญซึ่งทำงานร่วมกับชนพื้นเมืองได้ทำการศึกษาและเผยแพร่ผลการประเมินสถานะของป่าแอมะซอนพบว่า ป่าในแอมะซอนหายไปประมาณ 20% อีก 6% อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก

จากการศึกษาย้ำว่า พื้นที่โดยโดยรวมของป่าแอมะซอน 847 ล้านเฮกตาร์ ยังคงสภาพเดิมอยู่เพียง 33% โดย 41% มีความเสื่อมโทรมต่ำและสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่พื้นที่อีก 26% ไปไกลเกินกว่าจะฟื้นฟูตัวเองได้ และจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู

โดยเฉพาะในบราซิลและโบลิเวีย พื้นที่ป่าของทั้งสองประเทศถูกทำลายและเกิดความเสื่อมโทรมรวมกันคิดเป็นถึง 90% ในขณะที่ในโบลิเวียในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนป่าแอมะซอนลดลง 17% และอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.1?C พื้นที่ป่าฝนหนาแน่นกลายเป็นทุ่งหญ้าสะวันนา

ปัจจัยทางเศรษฐกิจคือตัวการทำลายป่าแอมะซอน โดยมีการบุกรุกทำเกษตรกรรม ทำเหมืองแร่ และน้ำมัน โดยการทำฟาร์มเกษตรกรรมเป็นสาเหตุหลักในการตัดไม้ทำลายป่าถึง 84% และมีการใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นสามเท่าตั้งแต่ปี 1985 บราซิลเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารหลักของโลก อาทิ ถั่วเหลือง เนื้อวัว และธัญพืชซึ่งเป็นอาหารส่วนใหญ่ของโลก และในแต่ละปีสร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์

การทำเหมืองเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่กำลังเติบโต โดยมีพื้นที่คุ้มครองและที่ดินของชนพื้นเมืองเป็นพื้นที่ที่นักสำรวจต้องการมากที่สุด การขุดส่วนใหญ่เป็นการลักลอบและผิดกฎหมาย แต่ในพื้นที่คุ้มครองราวครึ่งหนึ่งทำอย่างถูกกฎหมาย และนักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิเสธหรือเพิกถอนใบอนุญาตทำเหมือง

น้ำมันก็เป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอกวาดอร์ แหล่งน้ำมันดิบ 89% ถูกส่งออกจากภูมิภาคนี้ ซึ่งบล็อกน้ำมันครอบคลุม 9.4% ของพื้นที่แอมะซอนและ 43% อยู่ในพื้นที่คุ้มครองและดินแดนของชนพื้นเมือง โดยมากกว่าครึ่งของพื้นที่ป่าทั้งหมดถูกกำหนดให้เป็นบล็อกน้ำมัน ในเปรูคิดเป็น 31% โบลิเวีย 29% และโคลอมเบีย 28%

อ้างอิง:
Andrew Downie (Sep 05, 2022) “Large parts of Amazon may never recover, major study says” . The Guardian
Luke Taylor (Sep 05, 2022) “The Amazon rainforest has already reached a crucial tipping point” . Newscientist
Graham Lawton (Dem 8, 2021) “The Amazon is turning into savannah – we have 5 years to save it” . Newscientist
ภาพ: Kristof Bellens_EyeEm_Alamy

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน