เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566 ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือเรียกว่า PRTR ภายใน 60 วันนับแต่คดีถึงที่สุด และพิพากษายกฟ้องในประเด็นการออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่ามาตรฐานสารเจือปน ฝุ่น PM2.5 ในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อมให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นอำนาจของฝ่ายปกครองในการพิจารณาที่ศาลไม่อาจก้าวล่วง
สำหรับประเด็นการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ศาลเห็นว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าจริง แต่เนื่องจากได้มีการประกาศปรับค่ามาตรฐานแล้วในระหว่างการพิจารณาของศาลเมื่อ 8 ก.ค. 2565 หลังจากภาคประชาชนฟ้องเร่งรัดคดีนี้เพียง 3 เดือน ศาลจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบังคับในประเด็นนี้
ทั้งนี้ คำฟ้องในคดีฝุ่น PM2.5 มีสาระสำคัญ 4 ประเด็น คือ
1. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแก้ไขประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล (WHO-IT3) ตามที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
2.ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
3.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายออกจากโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดและเทียบเท่ามาตรฐานสากล
4.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษหรือ PRTR และมีการกำหนดให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาภาคประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศแล้วกว่า 5 คดี เนื่องจากการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง และปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี
สำหรับคดีนี้มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ สภาลมหายใจภาคเหนือ สภาลมหายใจเชียงใหม่ และประชาชน ได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีความล่าช้ากว่าแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 และไม่อาจลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คำตัดสินของศาลปกครองในครั้งนี้ถือเป็นการวางมาตรฐานคดีด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่มีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยในวงกว้าง ดังนั้่นมูลนิธิฯ จะติดตามตรวจสอบให้รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนในการลดฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป และจัดทำ PRTR ให้เป็นไปตามคำพิพากษา