20 ค่ายน้ำมันยักษ์โลกตัวการก่อภาวะโลกร้อน

ข้อมูลใหม่จากนักวิจัยระดับโลกเผยให้เห็นว่ากลุ่มบริษัทของรัฐและบรรษัทข้ามชาติเป็นตัวการสร้างสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คุกคามอนาคตของมนุษยชาติ

เดอะ การ์เดียน สื่อของอังกฤษ เปิดเผย 20 บริษัทผลิตเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของโลก โดยพวกเขายังมีการขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะตระหนักดีถึงผลกระทบที่ร้ายแรงต่อโลกอย่างไร

การวิเคราะห์ดังกล่าวจัดทำโดย ริชาร์ด ฮีดด์ จากสถาบัน Climate Accountability Institute ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำการวิเคราะห์และวิจัยระดับโลกถึงบทบาทของน้ำมันต่อภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ตั้งแต่ปี 1965

20 บริษัทปล่อย CO2 จำนวน 4,800 ล้านตัน 

บริษัทผลิตน้ำมัน 20 อันดับแรกมีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนสูงถึง 35% ของก๊าซทั้งหมดทั่วโลก โดยเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4,800 ล้านตัน (GtCO2e) ตั้งแต่ปี 1965

กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน 20 อันดับแรกนั้นแบ่งออกเป็นบริษัทที่มีนักลงทุนเป็นเจ้าของรวม 8 บริษัท เช่น Chevron Exxon BP และ Shell และบริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของรวม 12 บริษัทเช่น Saudi Aramco และ Gazprom

Chevron หนึ่งในบริษัทที่มีนักลงทุนเป็นเจ้าของร่วมด้วย Exxon, BP และ Shell 4 บริษัทดังกล่าวปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร่วมกันมากกว่า 10% ของโลกตั้งแต่ปี 1965

ในขณะที่บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของทั้ง 12 แห่งนั้นมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซรวม 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยผู้ก่อมลพิษอันดับ 1 คือ Saudi Aramco ซึ่งปล่อยมากถึง 4.38% จากทั้งหมดทั่วโลก

ไมเคิล มันน์ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศชั้นนำของโลก กล่าวว่า การค้นพบนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล และเรียกร้องให้ผู้นำเร่งเจรจาเพื่อใช้มาตรการเร่งด่วนในการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 (25th Conference of the Parties of United Nations Framework Climate Change Convention: UNFCCC) หรือ COP 25 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี ระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 2562

“โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ของวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ คือ 7,500 ล้านคน ต้องแบกรับความเสื่อมโทรมของโลกเพื่อให้ 20 บริษัทได้ก่อมลภาวะอันสามารถสร้างผลประโยชน์และกำไรให้กับกลุ่มตัวเองอย่างต่อเนื่อง มันเป็นความล้มเหลวทางศีลธรรมอันยิ่งใหญ่ของระบบการเมืองของเราที่เรายอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้น” ไมเคิล กล่าว

ในการผลิตเชื้อเพลิงนั้นไม่ว่าจะด้วยจากการขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหินต่างปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนออกสู่ชั้นบรรยากาศตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การสกัดจนถึงการใช้งานในขั้นสุดท้าย

The Guardian ได้ติดต่อไปยัง 20 บริษัทตามรายงานดังกล่าว พบว่ามี 8 บริษัทที่ตอบกลับมา โดยตัวแทนบางคนบางบริษัทแย้งว่าไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของพวกเขาต่อการที่ผู้บริโภคเป็นซื้อน้ำมันเหล่านั้นไปใช้ หลายคนอ้างว่าเป็นเรื่องถกเถียงกันเรื่องการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเชื้อเพลิงฟอสซิลตั้งแต่ช่วงปลายยุค 50 ที่เริ่มมีการชะลอด้านอุตสาหกรรม

ส่วนใหญ่กล่าวอย่างชัดเจนว่าพวกเขายอมรับในเรื่องของวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ และบางคนกล่าวสนับสนุนเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรักษาอุณหภูมิของโลกให้สูงไม่เกิน 1.5°C

ทุกคนต่างชี้ให้เห็นถึงความพยายามในการลงทุนในแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือคาร์บอนต่ำ และย้ำว่า บริษัทผลิตเชื้อเพลิงก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

รายงานชิ้นล่าสุดนี้เป็นการต่อยอดจากการศึกษาก่อนหน้านี้ของ ริชาร์ด ฮีดด์ จากสถาบัน Climate Accountability Institute และทีมงานของเขาที่ได้ศึกษาบทบาททางประวัติศาสตร์ของบริษัทผลิตเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤตการณ์สภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น

รายงานฉบับก่อนหน้านี้ของ ฮีดด์ ระบุถึงผลกระทบของการปล่อยมลพิษจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซที่ผลิตโดยบริษัทผลิตเชื้อเพลิง โดยงานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในปี 2017 เรื่อง การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิพื้นผิวและระดับน้ำทะเลของโลก จากการปล่อยของผู้ผลิต (The rise in global atmospheric CO2, surface temperature, and sea level from emissions traced to major carbon producers) พบว่า 90 บริษัทใหญ่ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน

ต้นตออุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่ง

ก๊าซทั้งสองมีผลทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งหนึ่งของอุณหภูมิที่สูงขึ้น และมีผล 1 ใน 3 ของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสูงระหว่างปี 1880 – 2020 โดยงานวิจัยดังกล่าวช่วยให้บริษัทพิจารณาถึงความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น

“บริษัทเหล่านี้ และผลิตภัณฑ์ของพวกเขามีส่วนในความรับผิดชอบต่อภาวะฉุกเฉินทางสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างมาก รวมถึงได้ชะลอการดำเนินการทั้งในระดับชาติและระดับโลกมาหลายทศวรรษ และไม่สามารถซ่อนตัวอยู่หลังม่านควันแล้วปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบ” ฮีดด์ ระบุ

ฮีดด์ กล่าวอีกว่า ปี 1965 เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับข้อมูลใหม่ซึ่งในช่วงเวลานั้นเริ่มมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้นำอุตสาหกรรมและนักการเมืองโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

ในเดือนพฤศจิกายนปี 1965 ประธานาธิบดีลินดอน จอห์นสัน เปิดตัวรายงานว่าด้วยผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อแนวโน้มของการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล

ในปีเดียวกันประธานสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน ระบุว่า “หนึ่งในการทำนายที่สำคัญที่สุดของ [รายงานของประธานาธิบดี] คือการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศของโลกโดยการเผาไหม้ถ่านหินน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ภายในปี 2000 สมดุลของอุณหภูมิจะถูกปรับเปลี่ยนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้บริษัทที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาถึงความรับผิดชอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด แทนที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องความรับผิดชอบของสาธารณะ นักการเมือง หรือส่วนบุคคล มันเป็นไปตามคำเตือนจากสหประชาชาติในปี 2018 ว่าโลกมีเวลาเพียง 12 ปีในการหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น

จากการศึกษาเมื่อต้นปีที่ผ่านมาพบว่า 5 บริษัทผลิตน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ใช้เงินเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในการเจรจาเพื่อชะลอการควบคุมหรือปิดกั้นนโยบายเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“บริษัทเหล่านี้มีศีลธรรม มีการเงินที่ดี และมีกฎหมายที่สามารถรับผิดชอบต่อวิกฤตการณ์สภาพภูมิอากาศ และมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้” ฮีดด์ กล่าว

ด้าน Petro China อ้างว่าเป็นบริษัทที่แยกออกมาจากบริษัท China National Petroleum ซึ่งไม่มีอิทธิพลหรือความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีต

ที่มา : https://www.theguardian.com/environment/2019/oct/09/revealed-20-firms-third-carbon-emissions?utm_term=RWRpdG9yaWFsX0dyZWVuTGlnaHQtMTkxMDE0&utm_source=esp&utm_medium=Email&utm_campaign=GreenLight&CMP=greenlight_email

การตอบกลับของบริษัทน้ำมัน : https://www.theguardian.com/environment/2019/oct/09/climate-emergency-what-oil-gas-giants-say

งานวิจัย: https://link.springer.com/article/10.1007/s10584-017-1978-0

ติดตามผลการศึกษาเพิ่มเติม http://climateaccountability.org/index.html

Related posts

กรรมการชาติเห็นชอบร่างพรบ.โลกร้อน เดินหน้าสู่เศรษกิจคาร์บอนต่ำ

ฝุ่น PM2.5 พุ่ง ‘หอฟอกอากาศระดับเมือง’ คืนชีวิตให้คนกรุง อย่างไร

ชุบชีวิต ‘ขยะทะเล’ เพิ่มมูลค่า ชุมชนยั่งยืน ลดโลกร้อน