ดราม่า! ปั่นกระแส ‘เขียวตกขอบ’ นักอนุรักษ์รับใช้อำนาจรัฐ ซ้ำเติมคนจน?

คอลัมน์ ‘เด็กหลังห้อง’ ขออธิบายความหมายของคำว่า “เขียวตกขอบ” ที่มีอาจารย์ มช. ออกมาเปิดประเด็น และเจตนาการอนรักษ์ป่าของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

#Saveทับลาน และ #เฉือนป่าทับลาน กลายเป็นกระแสดราม่า โดยมีคนจำนวนหนึ่งโลกสวยกับคำว่า การอนุรักษ์ หรือคำว่ารักษ์โลก ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอะไรที่กรีนๆ เขียวๆ ธรรมชาติๆ ก็จะรู้สึกคูล หนักเข้าก็กลายเป็นอาการคลั่ง โดยหารู้ไม่ว่าการอนุรักษ์ที่แท้จริงนั้นควรเข้าใจข้อเท็จจริงอะไรบ้าง หรือควรปฏิบัติอย่างไร

ประเด็นทับลานเกิดขึ้นหลังจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดรับฟังความคิดเห็น (ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. – 12 ก.ค. 2567) เพื่อกันพื้นที่ จำนวน 265,286.58 ไร่ ในเขตอุทยานฯ ให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. เพื่อให้ผู้ที่ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่เหล่านี้มีเอกสารสิทธิ์ สปก. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติ ครม. 14 มี.ค. 2566 ซึ่งได้เกิดกระแสการคัดค้าน เพราะเท่ากับเป็นการเฉือนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ให้ประชาชนไปทำกิน โดยกลุ่มเกาะกระแส #Saveทับลาน มองว่าไม่คุ้มค่า เพราะป่าก็คือป่า ต้องอนุรักษ์ไว้

โดยเฉพาะการออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ได้ติด #Saveทับลาน ปลุกกระแสผ่านเฟซบุ๊กมูลนิธิ ตั้งแต่ 8 ก.ค. 2567 โดยมีความเห็นว่า แม้พื้นที่กว่า 265,000 ไร่ ที่กำลังพิจารณาเพิกถอนจะเป็นพื้นที่ชุมชน แต่ยังอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ และบริเวณรอบๆ ยังคงเป็นหย่อมป่ากระจายอยู่ทั่วพื้นที่ชายขอบ มีสัตว์ป่ามีการเข้ามาใช้ประโยชน์และใช้เป็นเส้นทางหากิน โดยเฉพาะช้างป่าที่มักหากินในป่าที่ราบ ทุ่งหญ้า และพบได้บ่อยครั้งบริเวณชายขอบป่า หากมีการเปลี่ยนสถานะ “ป่าอนุรักษ์” เป็น “ชุมชน” หรือ “แหล่งท่องเที่ยว” และไม่ได้เป็นพื้นที่อนุรักษ์แล้วจะทำให้การใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าถูกตัดขาดและแยกออกจากกัน และยังจะก่อให้เกิดปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบผืนป่า

สาเหตุที่เจตนาดีในการอนุรักษ์พื้นที่อุทยานของมูลนิธิสืบฯ กลายเป็น “เขียวตกขอบ” เนื่องจากนักอนุรักษ์อีกกลุ่มมองว่าพื้นที่ใน 265,000 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อุทยานฯ ทับลานจากทั้งหมด 1,398,000 ไร่นั้น เป็นที่ดินทำกินของชาวบ้านมาก่อน แต่ราชการมาประกาศเขตอุทยานฯ ทับลานทับที่ชาวบ้าน พวกเขาจึงมองว่า ควรจะ #ชาวบ้าน ก่อนจะมุ่งอนุรักษ์ป่าจนหลงลืมประเด็นสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน ประเด็นนี้จึงทำให้ NGO แตกออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม #Saveทับลาน และกลุ่ม #Saveชาวบ้าน

มูลนิธิสืบฯ ให้ข้อมูลว่า อุทยานแห่งชาติทับลาน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ผืนป่ามรดกโลก “กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” ซึ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกเมื่อปี 2548

อุทยานแห่งชาติทับลานตั้งอยู่ตรงกลางของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งเป็นทางเชื่อมที่สำคัญในการสัญจรไป-มาของสัตว์ป่านานาชนิด ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติตาพระยา และอุทยานแห่งชาติปางสีดา และถือเป็นอุทยานที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นป่าลุ่มต่ำที่อุดมสมบูรณ์มาก มีความหลากหลายทั้งสัตว์ป่าและพันธุ์พืช อาทิ ช้างป่า กระทิง วัวแดง กวางป่า และกลุ่มพันธุ์พืชโดยเฉพาะป่าลาน ซึ่งในอุทยานฯ มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ มีสภาพเป็นป่าโปร่ง เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่หากินที่สำคัญของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ กระต่ายป่า พังพอน เก้ง สัตว์เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญกับระบบนิเวศ คอยรักษาสมดุล และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ

ทำความเข้าใจ “ป่าทับลาน” เป็นป่าที่ถูกประกาศให้เป็น “ป่าไม้ถาวร” ตามมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2506 และต่อมาได้รับการประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติครบุรี ในปี 2509 ถัดมาในปี 2518 ป่าทับลานได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็น “วนอุทยานป่าลาน” เพื่ออนุรักษ์ป่าลานไว้ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานทับลาน” ในภายหลัง จากนั้นในปี 2521 ได้มีการประกาศพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่ สปก. และต่อมาในปี 2524 ก็ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็น “อุทยานแห่งชาติทับลาน” ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 ของประเทศ โดยประกาศดังกล่าวได้ทับที่ทำกินและพื้นที่อื่นๆ ทั้งหมด

ในอุทยานฯ ทับลานมี “ป่าลาน” ผืนสุดท้ายของไทย โดย “ลาน” คือพืชในตระกูลปาล์มที่มีมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เป็นพืชที่มีช่อดอกขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จะออกดอกเพียงครั้งเดียวเมื่อมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จากนั้นลานต้นแม่จะตายลง และเมล็ดที่ร่วงหล่นลงดินจะขยายพันธุ์ทดแทนเป็นวัฏจักร ซึ่งป่าลานในอุทยานแห่งชาติทับลาน มีสภาพเป็นป่าโปร่ง มีเนื้อที่ประมาณ 200 ไร่ อยู่บริเวณในที่ราบบนเขาละมั่ง ด้าน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่โดดเด่นทั้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง และป่าดงดิบชื้น ที่นี่ยังเป็น “บ้านของเสือโคร่ง” อันดับ 2 ของประเทศรองจากกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งจากการสำรวจว่า มีเสือโคร่งตัวเต็มวัย 12 ตัว และล่าสุดยังเป็นบ้านใหม่ของเสือโคร่ง “บะลาโกล” ที่ย้ายถิ่นจากป่าคลองลานมาอยู่ที่ป่าทับลาน นอกจากนั้นยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกระทิง ช้างป่า กวางป่า หมูป่า เลียงผา หมีควาย เก้ง แมวดาว และเสือลายเมฆ

ที่ผ่านมามูลนิธิสืบฯ ระว่าป่าทับลานถูกบุกรุกไปแล้วกว่า 160,000 ไร่ โดยมีการกล่าวโทษดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 ซึ่งมีทั้ง “นายทุน” และผู้ครอบครองรายใหม่ จำนวน 470 ราย และผู้ที่เปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์ 23 ราย

คำอธิบายทั้งหมดนี้ถูกนักวิชาการด้านมนุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า เป็นการ “ปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ” เสมือนมูลนิธิสืบฯ กำลังรับใช้รัฐหรือให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐในการจัดการทรัพยากร ซึ่งกลุ่ม #Saveชาวบ้าน มองว่าการจัดการที่ดินที่ผ่านมาไม่มีความเป็นธรรม และเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนอยู่ทั่วประเทศ เฉพาะในช่วงปี 2556-2562 มีคดีบุกรุกป่าเกิดขึ้นกว่า 32,471 คดี

ในช่วงที่ 2557-2558 คสช. (คณะรัฐประหาร) มีนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่งคสช. เป็นช่วงที่มีการยึดคืนผืนป่าโดยการไล่ชาวบ้านออกจากป่าอย่างเข้มข้นที่สุด เฉพาะปี 2558 มีการดำเนินคดีเพิ่มขึ้นสูงมาก (7,161 คดี มากที่สุดในช่วง 8 ปี) ยึดคืนพื้นที่บุกรุกป่าได้มากที่สุดในรอบหลายปี รวม 1.98 แสนไร่ แต่ภาพรวมพื้นที่ป่าไม้ของไทยในปี 2558 กลับลดลง 4.4 หมื่นไร่ โดยข้อมูลปี 2563 ไทยมีพื้นที่ป่าไม้มีจำนวน 102.35 ล้านไร่ หรือ 31.64% ของพื้นที่ประเทศ

จะเห็นได้ว่า นโยบายการทวงคืนผืนป่าของรัฐในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นความรุนแรงโดยรัฐในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งกลุ่ม NGO ที่ #Saveชาวบ้านมองว่าการคลื่อนไหว #Saveทับลาน เป็น “ปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ”ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีประชาชนซึ่งมีฐานะยากจนไร้ที่ทำกิน ในขณะที่กลุ่มทุนกว้านซื้อและครอบครองทรัพยากรที่ดินของประเทศจำนวนมหาศาล

ประเด็นที่ กลุ่ม #Saveชาวบ้าน ไม่ได้พูดถึงการแยกปลาแยกน้ำ โดยเฉพาะการถือครองที่ดินของกลุ่มทุน ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่ครอบครองที่ดิน จำนวน 2.6 แสนไร่ในอุทยานฯ ทับลานอยู่ด้วย แต่มุ่งพูดเฉพาะสิทธิทำกินของชาวบ้าน ไม่พูดถึงการเปลี่ยนมือที่ดิน ในขณะที่กลุ่ม #Saveทับลาน มองว่าการยกพื้นที่จำนวนนี้ให้ สปก. เท่ากับเป็นการนิรโทษให้กลุ่มทุน และแจก สปก.ให้กลุ่มทุนไปโดยปริยาย แทนที่จะนำมาฟื้นฟูและอนุรักษ์ไว้สำหรับการเชื่อมต่อระบบนิเวศป่า

Related posts

เป้าหมาย NDC ความมุ่งมั่นของไทย ก้าวย่างสู่ Net Zero และโลกยั่งยืน

ประโยชน์การเข้าร่วมเวที COP29 โอกาสเข้าถึงเงินช่วยเหลือของไทย

เร่งกองทุน Loss and damage ช่วยประเทศเปราะบางสู้วิกฤตโลกเดือด